เสียง”สตรี”ถึง”รธน.” ทวงสิทธิเสมอภาค

เมื่อครั้งที่คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดำเนินงานโดยคณะอนุกรรมาธิการสตรี จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “บทบาทของผู้หญิงกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่” จากเครือข่ายองค์กรสตรีภาคประชาสังคม ที่อาคารรัฐสภา 2

ในวันนั้น เครือข่ายสตรี นำโดย ขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศ หรือ วีมูฟ, โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา ม.ธรรมศาสตร์, สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย และเครือข่ายแม่หญิงล้านนา สนับสนุนโดย ยูเอ็น วีเมน ได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมต่อ “นายมีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 11 ข้อ

โดยหนึ่งในนั้นระบุว่า “รัฐต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสังคมและการจัดงบประมาณต้องให้สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคทางเพศ (gender budgeting)” ซึ่ง น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูงหนึ่งในแกนนำเครือข่ายสตรี เปิดเผย

ภายหลังยื่นข้อเสนอว่า นายมีชัยรับปากว่าจะนำเรื่องนี้ไปปรับแก้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้

Advertisement

นับเป็นนิมิตหมายอันดี กระนั้น…ก็ยังมีข้อห่วงใยอีกหลายข้อที่เครือข่ายสตรีกังวล!!

คุณหญิงทิพาวดี
คุณหญิงทิพาวดี

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ นายกสมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญคือกติการ่วมของพลเมืองที่จะตกลงร่วมกันว่าเราจะมีกติกากลางในการปกครองและอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยกติกานี้ต้องออกแบบโดยประชากรทั้งหมดของประเทศ ขณะนี้ประชากรไทยมีประมาณ 65 ล้านกว่าๆ เป็นผู้หญิง 51 เปอร์เซ็นต์ หรือ 33 ล้านคน

“รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องอุดมการณ์ร่วมกัน การเขียนทุกถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญต้องอยู่ในถ้อยคำที่เป็นกลางๆ ที่มนุษย์ทุกคนชายและหญิงอ่านแล้วเข้าใจว่าหมายถึงตัวเขา ซึ่งกติกากลางความเท่าเทียมระหว่างเพศทั้งหญิงและชายจะออกแบบกันอย่างไร” คุณหญิงทิพาวดีตั้งคำถาม และกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “เวลานี้ร่าง รธน.ยังไม่เอื้อกับผู้หญิงเท่าไหร่”

Advertisement

ถึงแม้ว่าได้มีความพยายามและมองเห็นอยู่ เช่น มีมาตราหนึ่ง ในการจัดทำรายชื่อผู้สมัครทางการเมือง พรรคต้องคำนึงความเท่าเทียม ต้องคำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างภูมิภาคและเพศ

“ซึ่งก็ยังเบาๆ” คุณหญิงทิพาวดีชี้ และว่า “พอ รธน.ใช้คำว่า คำนึง ซึ่งที่ผ่านมาถูกพิสูจน์แล้วว่า พอใช้คำว่าคำนึงก็จะไม่เกิด ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่ต้องเป็นคำว่า ต้องมีเงื่อนไขว่า หรือ จะต้อง เพื่อความชัดเจน”

ต่อข้อเสนอที่ว่า “รัฐต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสังคมและการจัดการงบประมาณต้องให้สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคระหว่างเพศ” คุณหญิงทิพาวดีบอกถึงความสำคัญในเรื่องนี้ว่า ประเด็นนี้สำคัญเพราะงบประมาณเป็นเงินภาษีอากรของประชาชนเป็นทรัพยากรกลางที่สำคัญที่สุด เป็นการบ่งบอกว่ารัฐจะจัดสรรกิจกรรมทำอะไรบ้างให้กับส่วนรวม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนทุกคน

“ซึ่งคณะกรรมการยกร่าง รธน.ชุดที่แล้ว ได้บรรจุเรื่องนี้ในร่างรัฐธรรมนูญ ม.88 ว่า รัฐต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสังคมและการจัดสรรงบประมาณต้องให้สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคระหว่างเพศ หากในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการบรรจุไว้ เพียงเท่านี้จะนำมาสู่คุณค่ามหาศาล และนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณอย่างเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง”

เหตุใดถึงก่อให้เกิดคุณค่ามหาศาล คุณหญิงทิพาวดีบอกว่า อย่าง “จำนวนห้องน้ำ” ถ้าเรามีงบประมาณ โดยการคำนึงถึงความแตกต่าง ตอนนี้ผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย ศูนย์ราชการต่างๆ ก็สามารถตั้งงบประมาณห้องน้ำหญิงให้มากกว่าห้องน้ำชายได้ หรือ “ถนน” ถ้าคำนึงถึงผู้หญิงที่ค้าขายหาบเร่แผงลอยต้องใช้รถเข็น รวมทั้งผู้พิการ ถ้าทุกสี่แยกทำทางลาด ไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงที่เดินได้ง่าย คนพิการหรือแม้แต่ผู้ชายก็ได้รับความสะดวกไปด้วย รวมทั้ง “สุขภาพ” ผู้หญิงมี “มดลูก” มดลูกมีความละเอียดอ่อนมาก ดังนั้น ค่าใช้จ่ายต่อหัวของสตรีกับผู้ชายไม่เหมือนกัน

“นี่เป็นความละเอียดอ่อนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งของการตั้งงบประมาณ ถ้ามีคำคำนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญ อยู่ในเจตนารมณ์ของสังคม เป็นเจตนาใหญ่ เวลาศูนย์ราชการต่างๆ เข้ามากำหนดงบประมาณ จะได้คำนึงถึงจุดนี้ ผู้ตรวจสอบจะเข้าใจตรงนี้ว่า ศูนย์ราชการนี้ทำงบประมาณสะท้อนมุมมองมิติหญิงชายค่าใช้จ่ายไม่ได้แพงเกินไป ถ้าเป็นห้องน้ำต้องราคาเท่านี้”

ทั้งนี้ รธน.ปี 2540 และ 2550 ไม่มีเขียนไว้ ซึ่ง “กระบวนการการตั้งงบประมาณที่ผ่านมา ไม่สะท้อนความจริงของสังคม ไม่ตอบโจทย์ยุคนี้แล้ว”

“เราไม่ได้เรียกร้องหยุมหยิม เราคำนึงถึงความแตกต่างของสรีระร่างกาย ถ้าทำได้ จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย”

LAD_2540

นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว เครือข่ายสตรียังเสนอให้ รธน.รองรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลใน รธน.บททั่วไปและหมวดสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่หมวดหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งเรื่องของการมีส่วนร่วมของชุมชน สิทธิชุมชน นอกจากนี้ ต้องมีเรื่องสัดส่วนหญิงชายทางการเมืองในการเลือกตั้งทุกระดับ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 รวมถึงเรื่องสุขภาพโดยเฉพาะอนามัยเจริญพันธุ์ เศรษฐกิจ เพศสภาพ เพื่อให้ทุกเพศได้รับสิทธิอันเท่าเทียม และกลไกพัฒนาศักยภาพของผู้หญิง

“เวลานี้ ความที่กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ ตั้งธงเอาไว้ จะให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ยาวนัก อะไรที่เข้าใจกันอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดซ้ำซาก ไม่ต้องมีถ้อยคำที่ยืดยาวยืดเยื้อ แต่สิ่งที่กมธ.อาจจะนึกไม่ถึงว่าสังคมไทยเราเป็นสังคมศรีธนญชัย อะไรไม่เขียนก็ไม่ทำ อะไรที่เคยเขียนไว้แล้ว แต่ไม่มี ก็บอกว่ายกเลิก ไม่คำนึงแล้ว”

“เราจึงขอให้ อะไรที่ปรากฏอยู่แล้ว เป็นหลักการที่ดีในเรื่องของสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิชุมชน ที่ปรากฏอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญปี 40 ปี 50 ใส่ต่อไปเถอะ มันจะเกิดผลดีไม่ใช่แค่เฉพาะผู้หญิงอย่างเดียว แต่ดีกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งใน รธน.ฉบับนี้ยังไม่มี” คุณหญิงทิพาวดีกล่าว และทิ้งท้ายว่า

“รธน.ฉบับนี้ต้องสะท้อนจิตวิญญาณทุกคน สังคมยุคหลังปฏิวัติเทคโนโลยี สู้กันด้วยสมอง จำนวนผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย รธน.ฉบับนี้ต้องสะท้อนสังคมยุคปัจจุบันและอนาคต ไม่ใช่ย้อนยุค เราเดินหน้าอย่างเดียว และมีความจำเป็นที่ต้องร่าง รธน.ให้ยาว ระบุทุกอย่างที่ชัดเจนลงไป จะได้ถือเป็นคัมภีร์ และจิตวิญญาณร่วมกันของคนไทย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image