จาก “ซาเวียร์” ถึง “แทงโก” เมื่อเทคโนโลยีพลิกโฉม “รถยนต์”

ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ในรถ (ภาพ-Nvidia)

รถยนต์ที่เรารู้จักคุ้นเคยกำลังเปลี่ยนแปลงไปทุกวันจากอิทธิพลของเทคโนโลยี ที่ผ่านมาเราได้เห็นซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่ขับรถยนต์แทนเรา ได้รับรู้เทคโนโลยีไร้สายที่เปลี่ยนแผงหน้าปัดรถให้กลายเป็นจอมอนิเตอร์สำหรับความบันเทิงที่เชื่อมต่อแบบไร้สายกับอินเตอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา เหมือนเป็นแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนที่เดินทางไปพร้อมกับเรา

แต่ในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีกำลังจะเปลี่ยนแปลงรถยนต์ไปอีกระดับ จากแท็บเล็ตเป็นซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ จากรถที่ขับเคลื่อนไปไหนมาไหนได้เอง กลายเป็นรถยนต์อัจฉริยะที่เรียนรู้เส้นทางและวิธีการขับได้ด้วยตัวมันเอง

เจิ้น ซุน ฮวง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เอ็นวิเดีย ผู้ผลิตหน่วยประมวลผลกราฟิกชื่อดัง ประกาศการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในโลกรถยนต์ดังกล่าวในงาน “ซีอีเอส 2017” งานแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สะท้อนทิศทางเทคโนโลยีทุกๆ ต้นปีที่สหรัฐอเมริกา และแสดงรูปธรรมให้เห็นด้วยการติดตั้งระบบที่เรียกว่า “ไดรฟ์ พีเอ็กซ์ 2 ซิสเต็ม” ไว้กับรถลินคอล์นรุ่นพิเศษ “บีบี 8” แล้วปล่อยให้เคลื่อนที่ไปไหนมาไหนโดยอิสระตามท้องถนนในซิลิคอนวัลเลย์

ระบบไดรฟ์ พีเอ็กซ์ 2 ของเอ็นวิเดีย แตกต่างจากระบบคอมพิวเตอร์ขับเคลื่อนรถยนต์ทั่วไป ไม่เพียงเฉพาะแต่ขุมพลังของมันที่เป็นชิปประมวลผลพิเศษที่ผลิตมาใช้ในรถยนต์โดยเฉพาะอย่าง “ซาเวียร์” ซึ่งเอ็นวิเดียระบุว่าเป็น จีพียู 512 แกนที่เปลี่ยนคอมพิวเตอร์ขับเคลื่อนรถยนต์ให้กลายเป็น “ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์” เท่านั้น ยังเปลี่ยนซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปอยู่บนแพลตฟอร์ม “ปัญญาประดิษฐ์” (เอไอ) ซึ่งหมายถึงระบบของเอ็นวิเดีย สามารถเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี “ดีพเลิร์นนิง” จากการสังเกตการขับของคนขับรถจริงๆและสภาวะแวดล้อมรอบด้านในโลกจริงๆ ตามเวลาจริง ทำให้รถยนต์ที่ใช้ระบบนี้สามารถปรับตัวเองเข้ากับเงื่อนไขใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยมีแผนที่ความละเอียดระดับเอชดีบนคลาวด์เป็นตัวสนับสนุน

Advertisement

นอกเหนือจาก ไดรฟ์ พีเอ็กซ์ 2 ของเอ็นวิเดียเป็นเวอร์ชั่นที่ 2 ของระบบอัตโนมัติเพื่อการขับขี่ที่เชื่อว่าจะปฏิวัติวงการ “เซลฟ์ไดรวิงคาร์” ครั้งใหญ่แล้ว ทางเอ็นวิเดียกำลังทำงานร่วมกับ

ออดี้ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในการติดตั้งระบบขับเคลื่อนสำรอง ที่สามารถตรวจสอบการขับขี่และสภาพแวดล้อมควบคู่ไปกับผู้ขับขี่และแจ้งเตือนถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า เพื่อนำมาใช้งานจริงภายในปี 2020 นี้อีกด้วย

ระบบกันสะเทือนโบส (ภาพ-Bose)
ระบบกันสะเทือนโบส (ภาพ-Bose)

จากการทำให้รถกลายเป็นหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ขับรถให้เราโดยอัตโนมัติ “โบส” บริษัทผู้ผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ชื่อดังที่พัฒนาเทคโนโลยีอีกหลากหลายมาก ยังเปิดตัวระบบกันสะเทือนที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ล่าสุด เพื่อเปลี่ยนห้องโดยสารของรถยนต์นั่งให้กลายเป็นห้องนั่งเล่นหรือห้องทำงานติดล้อ โดยไม่ต้องนั่งตัวโยน โยกคลอนไปมา หรือตัวสั่นเป็นเจ้าเข้า เพราะความขรุขระของพื้นถนนอีกต่อไป

Advertisement

ระบบกันสะเทือนใหม่ของโบส อยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่ใช้กันมานานแล้วเพื่อลดอาการสั่นสะเทือนให้กับผู้ขับขี่รถบรรทุก ซึ่งพัฒนาขึ้นตามแนวคิดของ อามาร์ โบส นักคิดนักวิจัยชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียย้อนหลังไปในทศวรรษ 1980 แต่ระบบกันสะเทือนรุ่นเก่าดังกล่าวเป็นระบบแกนเดียว ระบบใหม่ล่าสุดที่รับประกันความราบเรียบในการนั่งรถ (ที่ขับได้ด้วยตัวเอง) ในอนาคต เป็นระบบหลายแกนเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานภายในรถเก๋งโดยสารมากกว่า

บีเอ็มดับเบิลยู-กูเกิล (ภาพ-BMW)
บีเอ็มดับเบิลยู-กูเกิล (ภาพ-BMW)

สุดท้ายเป็นเรื่องของการจับมือกันระหว่าง บีเอ็มดับเบิลยู ค่ายรถที่รู้จักกันทั่วโลก กับ กูเกิล เพื่อสร้าง “ไอวิฌวลไลเซอร์” แอพพลิเคชั่นบนแอนดรอยด์ ที่อาศัยเทคโนโลยีจาก “โปรเจ็กต์แทงโก” สร้างมุมมอง 360 องศา เพื่อให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบสภาพรถรุ่นใหม่อย่าง บีเอ็มดับเบิลยู ไอ 3 และไอ 8 ได้ทั้งภายนอกภายในแอพพลิเคชั่นของบีเอ็ม ไม่เพียงช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบภายนอกรถตั้งแต่สีสัน ล้อ ยาง ได้เหมือนเดินดูรอบๆ คันด้วยตัวเองเท่านั้น ยังสามารถเปิดประตูเข้าไปดูการตกแต่งภายใน ลองนั่งดูความสะดวกสบาย ทดลองติดเครื่องยนต์และเปิดวิทยุ-เสียงเพลงได้เหมือนได้ลองนั่ง ลองฟังด้วยตัวเองอีกด้วย

หลังจากได้ดูทั้งภายนอกภายในแล้ว เรายังสามารถเซฟคุณลักษณะที่เราชอบแล้วส่งไปยังดีลเลอร์ในท้องถิ่นเพื่อซื้อรถตามลักษณะ สีสัน ที่ต้องการ หรือจะถ่ายภาพหน้าจอแล้วแชร์ออนไลน์ เพื่อให้เพื่อนพ้อง ญาติมิตรได้ออกความคิดเห็นร่วมด้วยก็ได้อีกต่างหาก

โลกของรถยนต์ที่เราเคยรู้จัก เลือนหายไปมากขึ้นทุกทีแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image