เปิดหีบภาพเก่า เมื่อชาวสยามยังไม่รู้จักคำว่า ‘รถติด’ !

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อครั้งยังไม่มีการจราจรคับคั่ง สร้างเป็นอนุสรณ์สถานแก่ผู้สละชีพจากกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2484

เบื่อที่สุดในสามโลกสำหรับคนกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ หนีไม่พ้นเรื่อง ‘รถติด’ เพราะไม่ว่าจะผลิตท้องถนนขึ้นมารองรับรถยนต์มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนว่าจะช่วยไม่ค่อยได้ ไม่รู้เป็นเพราะวินัย หรือการจัดระบบจราจร
เคยไหม ? หลังนั่งอยู่เฉยๆหลังพวงมาลัย หรือสัปหงกบนรถเมล์รอบที่ไม่รู้เท่าไหร่ ก็ชวนให้ ‘มโน’ ถึงถนนในฝัน ที่รถราวิ่งฉิว ราวกับปลิวด้วยความไว 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ระหว่างนับนิ้วรอการแก้ปัญหาในอนาคต มาเปิดหีบภาพเก่าบรรเทาความเซ็งด้วยการชมภาพท้องถนนเมื่อครั้งที่ผู้คนในบางกอกยังไม่มีคำศัพท์ว่ารถติดบรรจุในพจนานุกรมส่วนตัวกันดีกว่า

‘อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ’ ครั้งยังอยู่กลางทุ่ง

คับคั่งสุดๆในช่วงเช้า เย็น และค่ำ นักเรียน นักศึกษา พนักงานบริษัท พ่อค้าแม่ขาย กระจายตัวเต็มทุกพื้นที่
รถเมล์วิ่งเข้าป้ายขนาดใหญ่ คิวรถตู้ วินมอเตอร์ไซค์ และอื่นๆอีกมากมาย แหงนหน้าไปข้างบนยังมีรถไฟฟ้าบีทีเอส
มาย้อนดูภาพเก่าเมื่อคราวยังรายล้อมด้วยท้องทุ่งกันดีกว่า ว่าหน้าตาของ อนุสาวรีย์ ฯ เมื่อยังไม่มีรถเมล์ ‘สาย 8’ ในตำนาน นั้นจะหงอยเหงาเพียงไร

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน บรรจบถนนราชวิถี ภายในมีการบรรจุอัฐิของทหาร ตำรวจ และประชาชน รวม 59 นาย จากเหตุการณ์กรณีพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งมีการปะทะที่ชายแดน จนฝรั่งเศสทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม สึดท้ายประนีประนอมกันได้ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2484
ปัจจุบันเป็นจุดเชื่อมต่อการคมนาคมที่คับคั่งมากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร

‘สาทร’ ตอนถนนโล่ง !

ไม่มีชื่อนี้ไม่ได้จริงๆ เพราะถนนสายนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นถนนที่การจราจรคับคั่งสุดๆโดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็น เนื่องจากเป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยังถนนสายอื่นๆอันเป็นที่ตั้งของย่านธุรกิจ

Advertisement

 

ถนนสาทร ภาพถ่ายที่มองจากถนนวิทยุ มองเห็นทั้งถนนและคลองสาทร เมื่อครั้งยังแทบไม่มีรถรา
ถนนสาทร ภาพถ่ายที่มองจากถนนวิทยุ มองเห็นทั้งถนนและคลองสาทร เมื่อครั้งยังแทบไม่มีรถรา

 

ถนนสายนี้ เดิมฝรั่งเรียก ‘ถนนพ่อยม’ โดยเรียกตามชื่อคลองที่คนไทยเรียกว่า ‘คลองเจ้าสัวยม’ เมื่อมีถนนเลียบคลอง จึงเรียกชื่อเดียวกัน ต่อมาเมื่อเจ้าสัวยมได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสาทรรราชายุกต์ จึงเปลี่ยนตามบรรดาศักดิ์ดังกล่าว่า คลองสาทร และถนนสาทร มาจนถึงทุกวันนี้
ชมภาพแล้ว จินตนาการแทบไม่ออกว่านี่หรือคือถนนสาทรที่หลายคนต้องใช้เวลาคลุกคลีในปัจจุบันกาลนี้วันละหลายชั่วโมง !

การจราจรระหว่างสีลมกับสาทรในอดีต
การจราจรระหว่างสีลมกับสาทรในอดีต

(ยัง) ไม่แคร์ไฟแดง ที่ ‘แยกหัวลำโพง’

รถติดไม่ใช่เล่นเช่นกัน สำหรับย่านหัวลำโพง เพราะนอกจากเป็นชุมทางรถไฟสถานีกรุงเทพแล้ว อยู่ไม่ไกลกับสามย่านอันเป็นที่ตั้งทั้งมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า และอาคารธุรกิจ ย่านหัวลำโพงนี้ เดิมเป็นทุ่งเลี้ยงวัว ต่อมามีการสร้างสถานีรถไฟในสมัยรัชกาลที่ 6 เปิดใช้ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2459  มาย้อนดูภาพในอดีตซึ่งแทบไม่มีรถราบนท้องถนนกันดีกว่า

สถานีรถไฟหัวลำโพงและถนนพระราม 4 ในอดีต
สถานีรถไฟหัวลำโพงและถนนพระราม 4 ในอดีต

ถนนเจริญกรุง หมายมุ่งขึ้นรถราง

แม้ไม่ใช่ย่านธุรกิจล้ำสมัยในปัจจุบัน แต่ถนนสายนี้ ก็มีรถราคับคั่งอย่างยิ่ง นี่คือถนนสายแรกๆของพระนคร ซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างขึ้นตามแบบยุโรป ให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ นับเป็นเส้นทางการคมนาคมที่สะดวกสบาย และมีส่วนในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าสืบมาถึงปัจจุบัน

รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างถนนเจริญกรุง เพื่อความเจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ
รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างถนนเจริญกรุง เพื่อความเจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ

‘ถนนราชดำเนิน’ เมื่อมีแต่คนเดิน เพราะแทบไม่มีรถ !

ไม่เคยติดไฟแดงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แสดงว่ายังมาไม่ถึงเกาะรัตนโกสินทร์ เพราะถนนสายนี้ การจราจรติดขัดอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงเย็น กว่าจะขึ้นสะพานปิ่นเกล้า หรือเลี้ยวซ้ายเลียบสนามหลวงได้ บางครั้งใช้เวลานานนับชั่วโมง

ถนนราชดำเนิน ราว 80 ปีมาแล้ว
ถนนราชดำเนิน ราว 80 ปีมาแล้ว

ถนนราชดำเนินนี้ เป็นถนนที่พรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2442 เพื่อเป็นที่เสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต และเพื่อความสง่างามของบ้านเมือง ส่วนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ.2483

นอกจากนี้ ยังมีถนนอีกหลายสายที่คนในอดีตคงสุดที่จะจินตนาการว่าอนาคตสืบมาจะมีรถราเต็มพื้นที่แทบทุกตารางเซนติเมตร

ภาพถ่ายเก่าถนนตีทอง
ภาพถ่ายเก่าถนนตีทอง

 

สี่กั๊กพระยาศรี ครั้งยังมีรถลาก
สี่กั๊กพระยาศรี ครั้งยังมีรถลาก

 

แยกเอสเอบีในอดีต
แยกเอสเอบีในอดีต

 

ท้องถนนย่านวรจักร แทบไม่มียานพาหนะใดๆ
ท้องถนนย่านวรจักร แทบไม่มียานพาหนะใดๆ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image