กาแฟพรีเมียม ‘Cafe Amazon’ มงลงเบอร์ 1 ในใจ ‘คนกัมพูชา’ วัยรุ่นถ่ายรูปอวดโซเชียล

กาแฟพรีเมียม ‘Cafe Amazon’ มงลงเบอร์ 1 ในใจ ‘คนกัมพูชา’ วัยรุ่นถ่ายรูปอวดโซเชียล

ปักหมุด ‘กัมพูชา’ เป็น ‘บ้านหลังที่ 2’ หรือ ‘Second Homebase’ รองจากประเทศไทย ของกลุ่มธุรกิจ Global บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR (โออาร์) จากจำนวนธุรกิจในต่างประเทศที่มีทั้งหมด 11 ประเทศ

โดยประเทศที่ให้ความสำคัญที่สุด ณ เวลานี้ คือ ‘กัมพูชา’ ที่โออาร์เข้ามาปักหมุดเริ่มกิจการตั้งแต่ปี 2535 รวมระยะเวลา 31 ปี กับหลากหลายธุรกิจ

เนื่องด้วยกัมพูชาเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ดีในระดับหนึ่ง โดยในปี 2565 ตัวเลข GDP เติบโตขึ้น 5.3% ปี 2566 GDP เติบโตขึ้น 6% และคาดว่าในปี 2567 GDP จะเติบโตมากกว่าประเทศไทยถึง 2 เท่าตัว

Advertisement

และอีกเหตุผลสำคัญที่โออาร์ขยายธุรกิจเติบโตต่อเนื่องมาได้ยาวนานกว่า 30 ปี เป็นผลมาจาก ‘สถานการณ์การเมืองนิ่ง’ รวมถึงยังมีนโยบายเปิดเสรีในตลาดมากกว่าประเทศอื่น ทำให้ปัจจุบัน โออาร์มีธุรกิจที่หลากหลายในกัมพูชา

ดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เผยถึงกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศของโออาร์ ในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศเพื่อสร้างความสำเร็จและการยอมรับในตลาดโลก โดยมุ่งเสริมความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่โออาร์ดำเนินการอยู่

Advertisement

“โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา ซึ่งโออาร์ได้วางกลยุทธ์ให้เป็นบ้านหลังที่ 2 ด้วยการมุ่งเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงแสวงหาโอกาสร่วมกับพันธมิตรทั้งจากประเทศไทยและพันธมิตรในพื้นที่ รวมไปถึงการขยายธุรกิจไปในประเทศใหม่ๆ ได้วางงบลงทุนระยะ 5 ปี (ปี 2567-2571) ในส่วนของกลุ่มธุรกิจ Global เอาไว้ที่ 8,007 ล้านบาท หรือประมาณ 12% มุ่งเน้นการขยายสถานีบริการ PTT Station และ Cafe Amazon และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่มีศักยภาพ โดยได้วางงบลงทุนที่กัมพูชา ประมาณ 1,600 ล้านบาท” ดิษทัตกล่าว

ดิษทัต ปันยารชุน

รชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจต่างประเทศ เปิดเผยว่า ประเทศกัมพูชาเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจเนื่องจากประเทศกัมพูชายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โออาร์จึงได้วางกลยุทธ์ให้กัมพูชาเป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 รองจากประเทศไทย โดยโออาร์ดำเนินธุรกิจทั้งกลุ่มธุรกิจ Mobility ได้แก่ การจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการ PTT Station คลังเก็บผลิตภัณฑ์ และธุรกิจหล่อลื่น PTT Lubricants รวมทั้งได้ร่วมลงทุนในบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) เพื่อให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ณ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จไตรมาส 3 ปี 2567 รวมถึงแสวงหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจพลังงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Battery Swapping และสถานีชาร์จไฟฟ้า EV station PluZ และกลุ่มธุรกิจ Lifestyle มีการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ร้าน Cafe Amazon ร้านสะดวกซื้อ และร้านสะดวกซัก “อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย” Otteri Wash & Dry

รชา อุทัยจันทร์-ณัฐพงศ์ แก้วตระกูลพงษ์

ณัฐพงศ์ แก้วตระกูลพงษ์ Managing Director บริษัท ปตท. (กัมพูชา) จำกัด (PTTCL) เปิดเผยว่า PTTCL มุ่งมั่นที่จะขยายฐานการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในประเทศกัมพูชา โดยดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด “Betterment for Cambodian Community and Lifestyle” ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตใน 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมมุ่งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ กับพันธมิตรทั้งจากประเทศไทยและพันธมิตรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ

“สำหรับกลุ่มธุรกิจ Mobility PTTCL มีเครือข่ายคลังเก็บผลิตภัณฑ์ 6 แห่ง รองรับการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันอากาศยาน และมีแผนลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ อาทิ คลังน้ำมันและก๊าซ LPG โรงงานผสมยางมะตอย รวมทั้งยังมีสถานีบริการ PTT Station รวม 172 แห่งในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศกัมพูชา ส่วนกลุ่มธุรกิจ Lifestyle มีความโดดเด่นด้วยร้าน Cafe Amazon ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวกัมพูชาเป็นอย่างดี ปัจจุบันในประเทศกัมพูชามีร้าน Cafe Amazon ทั้งสิ้น 231 สาขา และยังมีร้านสะดวกซื้อ 61 สาขา และร้านสะดวกซัก

“อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย Otteri Wash & Dry ซึ่งเป็นการนำพันธมิตรของ OR ไปบุกเบิกตลาดร้านสะดวกซักในประเทศกัมพูชาเพื่อสร้างทางเลือกสำหรับการดำเนินชีวิตแบบครบวงจร ตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบของผู้บริโภคในการใช้พลังงานไฟฟ้า เช่น การนำร่องติดตั้ง Solar Rooftop บนหลังคาสถานีบริการ PTT Station สาขา Chbar Ampov การติดตั้งและเปิดให้บริการสถานีชาร์จ EV Station PluZ ในประเทศกัมพูชาแล้ว 3 แห่ง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชนผ่านการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมอีกหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น Cafe Amazon for Chance การมอบทุนการศึกษา”

“การเปิดพื้นที่ในสถานีบริการ PTT Station ให้เป็นจุดจำหน่ายสินค้าสำหรับเกษตรกร เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย OR 2030 ใน 3 มิติอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของ OR ‘Empowering All toward Inclusive Growth’ เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโต ร่วมกัน” นายณัฐพงศ์กล่าว

นอกจาก “ธุรกิจน้ำมัน” ที่โออาร์เป็นแบรนด์ต่างชาติที่ขึ้นแท่นได้รับความนิยมอันดับ 1 ของกัมพูชาแล้ว อีกหนึ่งธุรกิจที่ ‘สุดปัง’ ประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ ร้าน Cafe Amazon ที่เข้ามาเปิดสาขาในกัมพูชาเป็นระยะเวลา 1 ทศวรรษแล้ว

ปัจจุบันมีสาขามากถึง 231 สาขา ซึ่งสาขาส่วนใหญ่อยู่ในพนมเปญ 131 สาขา และกระจายอยู่ตามต่างจังหวัดทั่วประเทศ 22 จังหวัด จากทั้งหมด 25 จังหวัด อีก 100 สาขา แต่ละสาขาจะมีทั้งตั้งอยู่ในสถานีบริการ PTT Station, สแตนด์ อโลน ในแหล่งชุมชน สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

และ…ต้องร้อง ‘ว้าว’ กับ Cafe Amazon เป็นแบรนด์กาแฟสัญชาติไทย ‘อันดับ 1’ ในกัมพูชา ทั้งจำนวนสาขาที่สูงที่สุด และยอดจำหน่ายกาแฟสูงที่สุด ทิ้งห่างแบรนด์ท้องถิ่นซึ่งเป็นคู่แข่ง อย่าง Tube Cafe ซึ่งมี 40 สาขา และ Brown Cafe ซึ่งมี 36 สาขา หรือแม้แต่แบรนด์อินเตอร์อย่าง Starbucks ซึ่งมี 40 สาขา

ปาลวัศ ปาลวัฒน์วิไชย รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจ Non-oil PTTCL กล่าวถึงความสำเร็จของ Cafe Amazon ว่า “พฤติกรรมการรับประทานกาแฟของที่นี่ คนกัมพูชาเชื่อในคุณภาพกาแฟของเรา เขามองเราเป็นกาแฟคุณภาพพรีเมียม และราคาไม่ได้สูงมากนัก เพราะตลอด 10 ปีที่เราอยู่มาไม่เคยปรับราคาเลย ฉะนั้น เราเข้าถึงได้ในหมู่เด็กนักเรียน คนรุ่นใหม่ เรียกว่าเราพยายามเข้าถึงคนทุกกลุ่ม อีกทั้งการรับรู้แบรนด์ไทยมีสูง เพราะคนกัมพูชาเสพสื่อไทย การขยายสินค้าและบริการจากไทยมากัมพูชาจึงสร้างแบรนด์ได้ง่าย”

ซึ่งเมื่อก้าวเข้ามาในร้าน Cafe Amazon ก็จะพบว่า รูปแบบการตกแต่งร้าน บรรยากาศต่างๆ เมนูเครื่องดื่ม เหมือน ยก ‘Cafe Amazon ประเทศไทย’ มาไว้ที่กัมพูชา ทุกอย่างเหมือนกันหมด เว้นแต่ราคาเครื่องดื่ม ที่มีราคาเฉลี่ยแพงกว่าประเทศไทย 20% เพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบทุกอย่าง

ปาลวัศ ปาลวัฒน์วิไชย

“รูปแบบร้าน Cafe Amazon ในกัมพูชาเหมือนประเทศไทย เรามีบริการ Drive Thru ในบางสาขา มียอดขายเฉลี่ยวันละ 200 แก้วต่อสาขา เป็นการตีต่ำๆ เพราะจริงๆ เยอะกว่านั้น และถ้าเป็นสแตนด์ อโลน ยอดขาย 700 แก้ว ส่วนร้านที่ขายดีที่สุด คือ 1,000 แก้วต่อวัน” ปาลวัศเผย และว่า เมนูเครื่องดื่มที่ขายดี ได้แก่ ลาเต้และชาเขียว

“เนเจอร์คนเอเชียชอบดื่มกาแฟมันๆ ใส่นมข้น จุดขายของเราเป็นกาแฟนมข้น ไปกินอย่างอื่นเค้าก็บอกว่า ไม่มัน ไม่สะใจ ขอกินแบบอเมซอนดีกว่า ซึ่งความสำเร็จตรงนี้ ถ้าวัดจากจำนวนกาแฟที่เสิร์ฟออกไปขายต่อวันจำนวนแก้วต่อวัน เราอันดับ 1 ผมคิดไวๆ เรามี 230 สาขา ผมขายต่ำๆ 200 แก้วต่อวัน เพราะฉะนั้น ผมขายต่อวัน รวมๆ ประมาณ 50,000 แก้ว แล้วแบรนด์อันดับ 2 มี 40 สาขา ถ้าเขาจะขายให้เท่าผม เขาต้องขายวันละ 1,000 กว่าแก้วต่อสาขา”

“เราขายได้เบอร์ 1 โดยจุดแข็งของเราคือ ความสามารถในการขยายตัวไปต่างจังหวัด ลองนึกภาพ ปั๊มน้ำมันที่อยู่ระหว่างทางที่เราแวะเข้าห้องน้ำ และมีอเมซอนเปิดอยู่ได้ ถามว่าแบรนด์อื่นจะมาเปิดอย่างนี้กับเรา เขาทำไม่ได้ นี่เป็นจุดแข็งของเรา เพราะเรามีระบบต่างๆ ที่เป็นระบบให้มันไปได้ เพราะแบรนด์อื่น เขาจะมาทำแบบเรา หลังบ้านเค้าไม่ได้เข้มแข็งแบบเรา นี่จึงเป็นจุดแข็งของเราที่เราไปได้ทุกที่ ถือเป็นความคาดภูมิใจที่เราเป็นเบอร์ 1 ของที่นี่ ในจำนวนของยอดขาย”

สำหรับกลยุทธ์ในปี 2567 Cafe Amazon จะไม่เน้นขยายสาขาเยอะ เฉลี่ยปีละ 20-30 สาขาในสถานีปั๊มน้ำมัน PTT Station โดยจะปรับรูปแบบร้านและรีโนเวตสาขาเดิมให้ตามเทรนด์ผู้บริโภค

“ตอนนี้ เราก็พยายามทำอะไรใหม่ๆ เน้นเรื่องดีไซน์ให้ทันสมัยมากขึ้น อย่างอเมซอนเมื่อก่อนจะมีสีน้ำตาลและเขียว ทีนี้ คาเฟ่ยุคใหม่จะมีสีขาว เราก็ปรับตัวด้วยการเปลี่ยนวัสดุต่างๆ ให้เทรนดี้มากขึ้น”

ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2567 จะมี Concept Store แห่งแรกที่พนมเปญ หลังจากเปิดที่ประเทศไทยมาแล้วหลายแห่ง ถือเป็นการรีเฟรชแบรนด์ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ให้รู้จักแบรนด์มากขึ้น จะเปิดให้บริการแบบฟูลเซอร์วิส ให้บริการอาหารมื้อเที่ยง โดยร่วมมือกับดุสิตฟู้ด เข้ามาพัฒนาอาหารและเบเกอรี่เพื่อเสิร์ฟใน Cafe Amazon

“พฤติกรรมคนกัมพูชากินก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารเช้า เริ่มเข้าร้านกาแฟตอนเที่ยง เราจึงต้องปรับมาเสิร์ฟเมนูอาหารเที่ยงด้วย เพื่อดึงลูกค้าให้มาซื้อเครื่องดื่ม”

อย่างไรก็ตาม ความนิยมของกาแฟอเมซอนในกัมพูชานั้น คนกัมพูชายกให้เป็นแบรนด์กาแฟที่เมื่อกินแล้ว ‘อวดได้’ ตามโซเชียลมีเดียต่างๆ

“การรับรู้ที่เมืองไทย เรากินอเมซอนเราจะไม่รู้สึกอะไรเลย คล้ายๆ กินกาแฟทั่วไป แต่กัมพูชายังมีความรู้สึกแฟนซีนิดหนึ่ง มีถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก ไอจีได้ ยังมีความอย่างนั้นมากกว่าที่ไทย ยิ่งช่วงแรกๆ เป็น อย่างนั้นเลย ฉันชิคมาก ฉันมานั่งอเมซอน ผ่านมา 10 ปี แม้อเมซอนจะมีความเฉยมากขึ้น แต่ก็ยังมีความชิคอยู่บ้าง และค่อนข้างพรีเมียมสำหรับคนกัมพูชา”

เรียกว่าเป็นอีกแบรนด์ ‘กาแฟ’ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ซึ่งปัจจุบัน Cafe Amazon ออกจากประเทศไทยไปทักทายชาวโลกแล้ว 11 ประเทศ รวมสาขาทั่วโลก บวกกับประเทศไทย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2566 มีสาขาทั้งหมด 4,065 สาขา ไทยมีสาขามากที่สุด 3,700 สาขา รองลงมาคือ กัมพูชา ประเทศเพื่อนบ้านชายแดนติดกันนี่เอง

“กาแฟมีความเป็นสากลที่ไปที่ไหนก็ได้ ความต่างของกาแฟกับชาไข่มุก กาแฟคือฟังชั่นนอล กินเพื่ออยู่ แต่ชาไข่มุก อยู่เพื่อกิน กินเพื่อเอนเตอร์เทนเมนต์ มันเป็นขนมหวาน ธุรกิจกาแฟเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน” ปาลวัศกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image