หมุดหมายใหม่กรุงเทพฯ ‘LV THE PLACE BANGKOK’ 2 ศิลปินไทยร่วมงานแบรนด์ระดับโลก

หมุดหมายใหม่กรุงเทพฯ ‘LV THE PLACE BANGKOK’ 2 ศิลปินไทยร่วมงานแบรนด์ระดับโลก

เป็นจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ใจกลางย่านราชประสงค์ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อแบรนด์ลักชัวรี “หลุยส์ วิตตอง” (Louis Vuitton) ซึ่งอยู่ภายใต้อาณาจักรธุรกิจของ LVMH เป็นเจ้าของแบรนด์ลักชัวรีกว่า 70 แบรนด์ในทั่วโลก พาออกเดินทางสู่ ‘LV The Place Bangkok’ ณ ศูนย์การค้าเกษรอัมรินทร์ จุดหมายแห่งใหม่ล่าสุดที่รวมคอนเซ็ปต์ครบทุกประสบการณ์ภายในพื้นที่เดียวกัน

โดยนับตั้งแต่ปีค.ศ.1854 หลุยส์ วิตตอง ได้สร้างสรรค์ดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์สู่สายตาชาวโลกโดยผสานนวัตกรรมอันล้ำสมัย เข้ากับสไตล์อันงดงาม รวมถึงคุณภาพที่เป็นเลิศ จวบจนวันนี้ หลุยส์ วิตตอง ยังคงยึดมั่นตามปรัชญาดั้งเดิมที่หลุยส์ วิตตอง ผู้ก่อตั้งได้ริเริ่มไว้ นั่นคือ “ศิลปะแห่งการเดินทาง” ถ่ายทอดผ่านชิ้นงานกระเป๋าเดินทาง กระเป๋า และเครื่องประดับต่างๆ ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับความสง่างามและความสะดวกในการใช้งาน

Advertisement

หลุยส์ วิตตองก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งด้วยเรื่องราวจากความกล้าที่จะแตกต่าง โดยยังคงรักษามรดกแห่งความเป็นหลุยส์ วิตตองไว้อย่างเหนียวแน่น พร้อมทั้งเปิดรับศาสตร์ใหม่ๆ จากเหล่าสถาปนิก ศิลปิน และดีไซเนอร์ต่างสาขา ที่มาร่วมงานกันอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมผลิตผลงานมากมาย อาทิ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า นาฬิกา เครื่องประดับ และน้ำหอม โดยแต่ละชิ้นสะท้อนถึงความยึดมั่นของหลุยส์ วิตตองที่มีต่องานฝีมืออันประณีต

LV The Place ครอบคลุมพื้นที่สองชั้นภายในตึกบนทำเลอันล้ำค่าใจกลางกรุงเทพฯ  และยังได้สร้างสรรค์ความงดงามผ่านจินตนาการของแสงออร่าอันเปล่งประกายจากมุมตึก โดยด้านนอกตกแต่งด้วยประติมากรรมรูปทรงแบบเพชรขนาดใหญ่ที่ส่องแสงยามค่ำคืน ส่วนด้านในได้รวบรวมหลากหลายรูปแบบประสบการณ์ ทั้งรีเทล อาหาร และเรื่องราวของวัฒนธรรม

  • VISIONARY JOURNEYS

ชั้นล่างจัดแสดงเรื่องราวการเดินทางแห่งวิสัยทัศน์ Visionary Journeys นิทรรศการใหม่ที่จะพาไปสัมผัสมรดกล้ำค่าอันเป็นที่มาของเมซง ซึ่งไม่เคยแสดงที่ใดมาก่อน ด้วยผลงานการออกแบบของบริษัทสถาปนิกที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง OMA และ Partner Shohei Shigematsu

Advertisement

ห้องต่างๆถูกแบ่งเป็นธีมชัดเจนในรูปแบบแตกต่างกัน โดยผสมผสานเรื่องราวบริบทใหม่ทั้งประวัติศาสตร์ และชิ้นงานร่วมสมัย เพื่อเชิญชวนผู้มาเยือนให้ดื่มด่ำไปกับหัวใจหลักในเรื่องความเชี่ยวชาญงานฝีมือ นวัตกรรม การเดินทาง และความคิดสร้างสรรค์ ประกอบด้วย

Trunkscape คือจุดเริ่มต้นแห่งการเดินทางที่นำทรังก์ 96 ใบมาเรียงต่อกันราวกับอุโมงค์ทางเดินที่ทอดยาวไปสู่เรื่องราวงานฝีมือและนวัตกรรม

ห้องแรกคือการนำเสนอภายใต้ธีม Origins ซึ่งมีไฮไลท์ที่การอุทิศให้กับเรื่องราวของตระกูลวิตตอง โดยจัดเป็นแท่นแสดงคลังเก็บเรื่องราวที่อยู่รอบด้าน และชิ้นงานที่เป็นแรงบันดาลใจ รวมทั้งดีไซน์ต่างๆในยุคแรก รูปแบบของทรังก์ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในการรังสรรค์ทรังก์และบรรจุสิ่งของต่างๆ

ส่วนตัวอย่างของโมโนแกรมแคนวาสหลากหลายรูปแบบที่พัฒนามาหลายทศวรรษ บ่งบอกถึงความต่อเนื่องและนวัตกรรมของแบรนด์อันไม่หยุดนิ่ง ห้องต่อมา Iconic Bags จัดแสดงเพื่อเฉลิมฉลอง 25 ปี ในประวัติศาสตร์แฟชั่นของหลุยส์ วิตตอง ถ่ายทอดเรื่องราวของดีไซน์กระเป๋าไอคอนิกทั้ง 5 รุ่น (Alma, Keepall, Speedy, Noé และ Petite Malle) ซึ่งนำกลับมาตีความใหม่โดยผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ ตั้งแต่มาร์ค จาคอบส์, คิม โจนส์, นิโกลาส์ เฌสกิเยร์, เวอร์จิล อาโบลห์ และฟาเรลล์ วิลเลียมส์ ที่แสดงวิสัยทัศน์ความก้าวล้ำของสไตล์และความเชี่ยวชาญด้านงานฝีมือ รูปทรงและเอกลักษณ์ของกระเป๋าไอคอนิกซึ่งมีความสำคัญต่อเมซงถูกนำเสนอผ่านกระเป๋า 21 ใบ พร้อมเสื้อผ้า 2 ลุค จัดแสดงภายในลูกบอลอะคริลิกใสทรงกลม 19 ลูก  เพื่อขับเน้นให้เห็นวิสัยทัศน์บนผลงานของดีไซเนอร์ต่างๆอย่างชัดเจน

ส่วนห้องสุดท้าย Collaborations พาไปค้นพบความสัมพันธ์กับเหล่าศิลปินที่รังสรรค์ให้เกิดผลงานกระเป๋าที่ได้รับความนิยมและเป็นที่จดจำสูงสุดจากการตีความของสตีเฟน สเปราส์, ริชาร์ด ปรินซ์, ทากาชิ มุราคามิ หรือยาโยอิ คุซามะ โดยนำผลงานดั้งเดิมทั้ง 7 ชิ้น มาเป็นตัวแทนสะท้อนความร่วมมือและศักยภาพอันไร้ขีดจำกัด

ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นจอสกรีนแอนิเมชั่นครึ่งวงกลมฉายแพทเทิร์นงานของศิลปินแต่ละคนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวลงบนฉากหลังซึ่งเป็นกระเป๋าชุบโครมจำนวน 184 ใบ นอกจากนี้ผู้มาร่วมชมงานนิทรรศการจะได้พบกับห้อง Giveaway Room ที่ชวนทำกิจกรรมเพื่อรับของที่ระลึกเป็นการขอบคุณในการเข้าชม

  • LE CAFÉ LOUIS VUITTON

Le Café Louis Vuitton ตั้งอยู่บริเวณชั้นล่าง ตกแต่งในบรรยากาศอันรื่นรมย์ ผสมผสานดีไซน์องค์ประกอบของพืชพรรณธรรมชาติ และดีเทลทันสมัยของเมซง ตั้งแต่พื้นปาร์เก้ไม้ที่ปูเป็นลวดลายโมโนแกรม ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ในดีไซน์ที่ตีความจาก Objets Nomades ที่นี่นำเสนอซีเลกชันเมนูขนมที่พิถีพิถันรังสรรค์

ตั้งแต่เค้ก ทาร์ต พาร์เฟต์ และไอศกรีมแซนด์วิชหลากหลายรสชาติ พร้อมทั้งตกแต่งรายละเอียดอันเป็นเอกลักษณ์ของหลุยส์ วิตตอง ขนมที่รังสรรค์ขึ้นพิเศษอย่างเช่น Star Blossom Cake เป็นเค้กชอคโกแลต

รสละมุนผสมผสานคาราเมลเข้มข้น Monogram Cake เค้กพิสตาชิโอที่ได้ความหอมอ่อนๆของกลิ่นส้ม นอกจากนี้ยังมี Mango Sticky Rice Fizz เครื่องดื่มเย็นสดชื่นที่ได้แรงบันดาลใจจากข้าวเหนียวมะม่วงของไทย โดยใช้น้ำเชื่อมสกัดรสชาติจากข้าวเหนียวมะม่วงมาผสมกับน้ำโทนิคโซดา

Monogram Cake

การตกแต่งภายในโซนนี้สะท้อนเอกลักษณ์ภูมิอากาศของแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่นไม้ หวาย และต้นไม้ โดยมีจุดเด่นตรงกลางคือ  pièce de resistance เคาน์เตอร์โค้งมนที่ตั้งโชว์ซีเลกชันขนมอันสวยงามน่ารับประทาน ให้ลูกค้าสามารถเลือกสรรได้ตามอัธยาศัย

  • THE STORE

รีเทลสโตร์ภายใน LV The Place Bangkok เป็นการผสมผสานดีไซน์โก้หรูเข้ากับการตกแต่งที่มีชีวิตชีวาโดยครอบคลุมพื้นที่ชั้นบนสุดเพื่อมอบประสบการณ์ชอปปิ้งอันพิเศษและร่วมสมัย ท่ามกลางการจัดวางเฟอร์นิเจอร์วินเทจ และผลงานศิลป์สีสันสะดุดตา คือความตั้งใจในการจัดแบ่งพื้นที่ระหว่างคอลเลกชั่นสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษให้กลมกลืนไปด้วยกัน โดยคำนึงถึงลูกค้าที่ต้องการสัมผัสงานดีไซน์อันเป็นเลิศเหนือสิ่งอื่นใด นอกจากนี้สำหรับผู้ที่ต้องการสรรหาความเอ็กซ์คลูซีฟ ร้านแห่งนี้ยังนำเสนอกระเป๋ารุ่น Alma Nano Rainbow ใน 5 โทนสี เช่นเดียวกับเสื้อทีเชิ้ตในคอลเลกชั่นสุภาพสตรี Cruise 2024 ใน 4 โทนสี และรองเท้าสนีคเกอร์สุภาพบุรุษ LV Trainer Upcycling ที่มีดีไซน์เอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร โดยจะวางจำหน่ายเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะที่นี่เพียงแห่งเดียวในโลก

ส่วนการรังสรรค์รูปแบบเฉพาะตัวบนผลิตภัณฑ์ มีบริการประทับลวดลาย มาสคอตของเมซงโดยตั้งชื่อพิเศษว่า “Nong Vivienne” (เพื่อสื่อความหมายของคำว่าน้องในภาษาไทย ที่ใช้เรียกผู้ที่อายุน้อยกว่า แฝงความน่ารักอ่อนน้อมในแบบคนไทย) ดีไซน์ขึ้นใหม่เพื่อต้อนรับการเปิดตัวร้านแห่งนี้

  • GAGGAN AT LOUIS VUITTON

Gaggan at Louis Vuitton ตั้งอยู่บนชั้นสองของคอนเซ็ปต์สโตร์แห่งนี้ นับเป็นร้านอาหารร้านแรกของเมซงในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยมีเชฟอินเดียผู้มีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง Gaggan Anand มาสร้างสรรค์ประสบการณ์ในการรับประทานอาหาร ทั้งมื้อกลางวันและมื้อเย็น

การเดินทางแห่งประสบการณ์อาหาร เริ่มต้นจากทางเข้าซึ่งต้อนรับด้วยทรังก์อันเป็นสัญลักษณ์เรียงต่อกันเป็นรูปปิระมิด ก่อนจะนำไปสู่ห้องโถงตกแต่งผนังด้วยแท่งเรซินดีไซน์โดย Draga & Aurel โคมไฟดอกไม้โมโนแกรม และเชือกขึงตกแต่ง ร้านอาหารแบบไฟน์ไดนิ่งใช้โต๊ะรับประทานอาหารทำด้วยหินอ่อนจากอิตาลี สามารถรองรับแขกได้ 10 โต๊ะ พร้อมทั้งนำเสนอเมนูประจำซีซั่นที่รังสรรค์พิเศษให้กับหลุยส์ วิตตอง ภายใต้คอนเซ็ปต์ 5 S ได้แก่ Sweet, Sour, Salty, Spicy และ Surprise

ตั้งแต่เมนูล็อบสเตอร์กับซอสที่ได้แรงบันดาลใจรสชาติแบบไทย ไปจนถึงสูตรเมนูเห็ดในแผ่นแป้งที่มีแรงบันดาลใจจากแพทเทิร์น Damier โดยส่วนผสมแต่ละชนิดจะเป็นดาวเด่นที่นำเสนอผ่านเมนูในแต่ละจาน นอกจากนี้สำหรับลูกค้าที่ต้องการประสบการณ์อาหารสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ยังสามารถจองห้องส่วนตัว พร้อมทั้งชื่นชมศิลปะแห่งการทำอาหารได้อย่างใกล้ชิด

  • 2 ศิลปินไทย ร่วมงานแบรนด์หรูระดับโลก

นอกเหนือไปจากความร่วมมือกับศิลปินระดับโลกแล้ว LV The Place Bangkok ยังได้ร่วมงานกับศิลปินเปี่ยมพรสวรรค์ของไทยที่ช่วยปลุกพลังความมีชีวิตชีวาให้กับที่แห่งนี้ อย่าง มุก – เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ กับชิ้นงานภายในร้านอาหารและรีเทลสโตร์ และ ป้อ – ศิริยศ ชัยอำนวย กับผลงานการออกแบบคอนเซ็ปท์สำหรับฟาซาดด้านหน้าอาคาร ที่เป็นการผสมผสานทั้งองค์ประกอบเชิงวัฒนธรรม ความเป็นไทยและความพิถีพิถันในงานฝีมือ เพื่อสะท้อนแนวคิดหลักของหลุยส์ วิตตอง ที่จะช่วยปลุกพลังความมีชีวิตชีวาให้กับพื้นที่แห่งนี้

โดย เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ หัวหน้าดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Beyond Living ได้คัดสรรผลงานศิลปะบางส่วนและออกแบบงานเฟอร์นิเจอร์สำหรับรีเทลสโตร์ในครั้งนี้โดยเฉพาะ เติมแต่งกลิ่นอายของความเป็นไทย ที่ยังคงไว้ซึ่งองค์ประกอบของงานฝีมือตามแบบฉบับของหลุยส์ วิตตอง

ผลงานชิ้นเด่นประกอบด้วย ชิ้นงานแสดงบนเพดานในส่วนของร้านอาหาร Gaggan at Louis Vuitton โดยได้รับแรงบันดาลใจจากลวดลายบนช็อคโกแลตจากหลุยส์ วิตตอง เพลินจันทร์ได้ตีความใหม่ออกมาเป็นงานถักจากต้นปาล์มทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 2.65 เมตร โดยติดตั้งบนเพดานในบริเวณห้องอาหาร

ผนังห้อง Private Dining ในร้าน Gaggan at Louis Vuitton โดยเพลินจันทร์ได้คัดสรรเชือกจากวัสดุพื้นบ้านที่ให้ขนาดและสีสันเฉพาะตัว โดยได้วางแพทเทิร์นของแผงกั้นแต่ละชิ้นด้วยมือ ตั้งเรียงรายในแต่ละส่วนของห้องนี้ที่ละเส้น เพื่อสร้างสรรค์ลวดลายคล้ายตัวอักษร V ให้สอดประสานเข้ากับแบรนด์ได้อย่างลงตัว

พรมทอมือบริเวณรีเทลสโตร์ งานพรมทอมือจากการสร้างสรรค์ของเพลินจันทร์นั้น ผ่านการคัดเลือกสีจากเฉดสีของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง เพื่อเพิ่มองค์ประกอบที่ให้สัมผัสของความลักซ์ชัวรี่ที่เปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวสู่พื้นที่บริเวณรีเทลสโตร์

แผงงานประดับลวดลายถักแบบ Macrame ภายในรีเทลสโตร์ ผลงานการออกแบบชิ้นนี้ประดิษฐ์ขึ้นด้วยเทคนิคการใช้เชือกผูกเงื่อนด้วยมือเป็นลวดลายเลียนแบบตัวอักษร LV โดยงานออกแบบนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก เครื่องแขวน หรือ อุบะ ที่นับได้ว่าเป็นงานประดิษฐ์ดอกไม้ตามแบบฉบับไทยเดิม ไว้ใช้สำหรับคล้องตกแต่งประตูและหน้าต่างของบ้านไทยดั้งเดิมเพื่อมอบกลิ่นหอมเป็นการต้อนรับแขกผู้มาเยือน

อีกหนึ่งไฮไลต์ LV The Place Bangkok โดดเด่นด้วยความงดงามของของประติมากรรม “รูปทรงเพชรขนาดใหญ่” ที่ส่องแสงระยิบระบับแตกต่างกันในยามกลางวัน และยามค่ำคืน โดยได้บันดาลใจมาจาก “พานพุ่ม” เป็นผลงานของศิลปินไทย “ป้อ-ศิริยศ ชัยอำนวย” ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของ Onion กล่าวว่า สำหรับฟาซาดด้านหน้าอาคารของ LV The Place Bangkok ที่เป็นการผสมผสานทั้งองค์ประกอบด้านวัฒนธรรมของไทยและความพิถีพิถันในงานฝีมือ เพื่อสะท้อนแนวคิดหลักของหลุยส์ วิตตอง ที่เปี่ยมไปด้วยแนวคิดนวัตกรรม และงานผีมือที่ประณีต

นำเสนออกมาในเชิงงานศิลปะและสัญลักษณ์ของความสง่างามเหนือกาลเวลา สำหรับการตกแต่งบริเวณด้านหน้าอาคารได้ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ที่ผสมผสานทั้งคุณค่าทางวัฒนธรรมอันเต็มเปี่ยมและความลักซ์ชัวรี่เข้าไว้ด้วยกัน โดยเนรมิตให้อาคาร Gaysorn Amarin เป็นแลนด์มาร์คอันโดดเด่น สะดุดตาต่อผู้ผ่านไปมา

ศิริยศ เผยถึง คอนเซ็ปท์การออกแบบเอฟเฟกต์ภาพเคลื่อนไหวมัวเร่ ว่า เป็นการเลียนแบบศิลปะแบบงาน พานพุ่ม ความท้าทายในส่วนงานผลิตองค์ประกอบที่โค้งเว้าเหล่านี้ ช่วยเติมเต็มความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ให้กับฟาซาดหน้าร้านได้เป็นอย่างดี และ ยังสะท้อนไปถึงแนวคิดหลักด้านนวัตกรรมและ งานฝีมืออันประณีต พิถีพิถันของแบรนด์ หลุยส์ วิตตอง อีกด้วย

“ด้านหน้าฟาซาดที่ถูกเรียงร้อยด้วยดอกโมโนแกรมเล็กๆ มากมายปักลงบนรูปทรงเพชรขนาดใหญ่ โดยผลงานอันเป็นเอกลักษณ์นี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก พานพุ่ม หรือศิลปะการจัดดอกไม้โดยการนำดอกรัก ที่มีลักษณะปลายดอกแยกเป็นแฉก และดอกมะลิ มาจัดตกแต่ง โดยการปักดอกไม้ลงไปบนโครงรูปทรงกลมรี นอกจากนี้องค์ประกอบของงานออกแบบฟาซาดยังแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย เนื่องจากพานพุ่มจะถูกนำมาใช้ในพิธีสำคัญและเป็นมงคลของไทย อาทิ เช่น พิธีมงคลสมรสและพิธีการทางศาสนา เป็นต้น”

“องค์ประกอบของฟาซาดแต่ละส่วนล้วนมีรูปทรงที่ทำให้ย้อนนึกถึงรูปทรงโค้งเว้าของเพชรในลวดลายโมโนแกรมอันเป็นเอกลักษณ์ โดยเลือกใช้สีแบบโลหะที่ให้การสะท้อน ทำให้เกิดเอฟเฟกต์ที่แตกต่างกันไประหว่างช่วงกลางวันไปจนถึงยามค่ำคืน งานออกแบบชิ้นนี้ยังได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงโมเสกที่ทำจากกระจกโดยจะเห็นได้ในการประดับตกแต่งภายในวัดไทยอีกด้วย” ศิริยศ กล่าว

หมุดหมายแห่งใหม่กรุงเทพฯ

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image