จิตวิญญาณใหม่ของขบวนการทำงาน เรื่อง “ผู้หญิง” และความเป็นธรรมทางเพศในสังคมไทย

ไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสเป็นผู้นำกระบวนการพูดคุยเพื่อถอดบทเรียนการทำงานของโครงการต่างๆ ในแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ของสมาคมเพศวิถีศึกษา ซึ่งรับทุนดำเนินการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ทำให้ได้เป็นประจักษ์พยานถึงการก่อรูปใหม่ของขบวนการทางสังคมประเด็นผู้หญิง ซึ่งมีคุณภาพบางอย่างต่างไปจากเดิม

ขบวนคนทำงานเกือบ 50 ชีวิตในเวทีถอดบทเรียน มีทั้งเอ็นจีโอและเจ้าของปัญหาจากพื้นที่ที่มีความไม่เป็นธรรมทางเพศและทางสังคมซ้อนทับกันอยู่หลายชั้น คือเครือข่ายกลุ่มผู้หญิงม้ง ผู้หญิงมุสลิมจากปัตตานี คนทอผ้าไหมจากสุรินทร์ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่ขอนแก่น มีคนทำงานเรื่องท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น ทั้งที่เป็นชาวบ้านในชุมชนจากอำนาจเจริญ และเจ้าหน้าที่ในระบบสุขภาพของรัฐจากสงขลา มีชาว ขสมก. ที่ผู้บริหารองค์กรกับชาวสหภาพแรงงานจับมือกันเพื่อเปลี่ยนองค์กรขนาด 13,000 คน ให้ปลอดการคุกคามทางเพศ มีกลุ่มตำรวจหญิงที่กำลังสร้างระบบการทำงานสอบสวนที่ละเอียดอ่อนต่อผู้หญิงและเด็ก และมีกลุ่มนักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยที่กำลังสร้างหลักสูตรและกระบวนกรเพื่อให้หน่วยงานในระบบสุขภาพของรัฐเข้าใจเรื่องสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ

ผู้เขียนสัมผัสถึงพลังงานของความร่าเริง มีชีวิตชีวา ยอมรับและเคารพความต่างของกันและกันของคนกลุ่มนี้ หลายคนบอกว่าความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนได้กลับบ้านทุกครั้งที่มาเจอกัน

เราเห็นร่วมกันถึงการเกิด “กลุ่มผู้นำใหม่” ที่ทำงานเรื่องผู้หญิงกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ กำลังช่วยกันขยับเขยื้อนเพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมอำนาจ โครงสร้างสังคม แบบแผนพฤติกรรม และความคิดความเชื่อที่สร้างขึ้นโดยผู้มีอำนาจมากกว่า และกดทับให้คนที่มีอำนาจน้อยกว่าต้องปฏิบัติตามอย่างเงียบงันและไร้พลังต้านทาน

Advertisement

คุณภาพของผู้นำใหม่กลุ่มนี้เกิดจาก “อำนาจภายใน” ของคนทำงานเอง การใช้ “อำนาจร่วม” ในขบวนการทำงาน และการมีเป้าหมายของการทำงานเพื่อลด “อำนาจเหนือ” ของผู้ได้เปรียบในสังคม

สาเหตุสำคัญอันดับแรกของคุณภาพใหม่ในขบวนการทำงาน เกิดจากการสมาทานแนวคิด “สตรีนิยมบนฐานจิตวิญญาณเพื่อปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ (Anti-oppression Spirituality Feminism)” ร่วมกัน ผ่านกระบวนการอบรมที่ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม จ.เชียงใหม่ แนวคิดนี้พัฒนาขึ้นจากฐานคิดสองสายคือ

“วัฒนธรรมอำนาจตามแนวทางสตรีนิยม” ที่มุ่งลดความรุนแรงและวิกฤตการณ์ทางสังคมที่เกิดจาก “อำนาจเหนือ” ของผู้กดขี่ในวัฒนธรรมและโครงสร้างสังคมแบบชายเป็นใหญ่ เยียวยาฟื้นฟู “อำนาจภายใน” ของผู้ถูกกดขี่ ซึ่งก็คือผู้หญิง ผู้ด้อยโอกาส และผู้เสียเปรียบ เพื่อให้ผู้ถูกกดขี่ยืนหยัดขึ้นได้อย่างเข้มแข็ง ปลดปล่อยตนเองออกจากการกดขี่ และรวมตัวกันทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมที่กดขี่ ไปสู่การเป็นสังคมที่ใช้ “อำนาจร่วม” ด้วยความสัมพันธ์ที่เคารพศักดิ์ศรี คุณค่า และความเสมอภาคของมนุษย์ ความเท่าเทียมของหญิงชาย การพึ่งพาอาศัย แบ่งปัน เอาใจใส่ และส่งเสริมศักยภาพของทุกคนในทุกบริบท

Advertisement

และ “การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งมุ่งพัฒนามนุษย์อย่างเป็นองค์รวมทั้งร่างกาย ความคิด จิตใจ และจิตวิญญาณ เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการเข้าถึงความดี ความจริง และความงามที่มนุษย์มีอยู่แล้ว สู่การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึก จากจิตที่คับแคบ แยกส่วน แบ่งเขาแบ่งเราและเอาตัวรอด สู่จิตที่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตนเองและสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลและสันติสุข

นอกจากการอบรมร่วมกันแล้ว ขบวนคนทำงานยังสร้างเงื่อนไขหลักอีก 3 ประการในการทำงาน คือ การเคลื่อนงานด้วยความรู้ การสร้างทีมงานที่มีความแตกต่างหลากหลายโดยใช้อำนาจร่วม และการมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และนโยบายที่สร้างความเป็นธรรมทางเพศและความเป็นธรรมทางสังคม

การเคลื่อนงานด้วยความรู้ ทำโดยการออกแบบเงื่อนไขให้ชุมชนมองเห็นสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันอย่างชัดเจน ทั้งโดยการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม การเก็บข้อมูลจากชุมชน และการตั้งวงพูดคุยกับผู้คนหลายกลุ่มในชุมชน ในประเด็นที่ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาคุยกันแบบเป็นทางการมาก่อน จากนั้นจึงสังเคราะห์ข้อมูลและคืนข้อมูลกลับสู่ชุมชน ผลลัพธ์สำคัญของขั้นตอนนี้ทำให้เกิด “ความรู้ที่ชุมชนร่วมกันรู้” และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนมาช่วยกันแก้ปัญหามากขึ้น

ช่วงของการ “จัดทัพใหม่” ที่มีคนหลากกลุ่มเข้ามาร่วมกันทำงานนี้ ต้องอาศัยความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง บวกกับเทคนิคแพรวพราวของงานสันติวิธี เพื่อสร้างขบวนการแนวราบแบบใช้อำนาจร่วม ทำให้งานหลายพื้นที่รุดหน้าไปแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะเมื่อคนที่เคยเห็นต่าง เช่น กลุ่มผู้ชายหรือผู้นำชุมชนเข้ามาร่วมวง เพราะเห็นว่าปัญหานั้นเป็นปัญหาของตนเองด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องของ “พวกผู้หญิง” หรือของ “คนอื่น”

เมื่อทีมทำงานพยายามหาทางทำงานให้ได้ผล ลองผิดลองถูกไปด้วยกัน ทบทวนเป้าหมายและจังหวะก้าวร่วมกันเป็นระยะ ความสำเร็จจากการเรียนรู้และปฏิบัติการร่วมกันก็เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย พร้อมกับความเห็นอกเห็นใจ ผูกพัน และเกื้อกูลกัน และเมื่อเกิดผลลัพธ์รูปธรรมขึ้นระดับหนึ่ง ก็นำสิ่งที่เกิดขึ้นไปพูดคุยกับผู้มีอำนาจในโครงสร้างการทำงานเดิม เพื่อชี้ชวนให้เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในวงกว้าง หากมี “การกำหนดนโยบายหรือโครงสร้างการทำงานใหม่” ที่เอื้อให้การทำงานในระยะยาว

ขบวนการทางสังคมของคนทำงานประเด็นผู้หญิงที่เกิดขึ้นนี้ สามารถสร้างตัวอย่างที่เป็นแนวหน้าของการทำงานยากๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้ในเวลารวดเร็วหลายกรณี เช่น ในกลุ่มคนม้ง มีการจัดพิธีกรรมใหม่เพื่อรับผู้หญิงม่ายและแม่เลี้ยงเดี่ยวกว่า 40 คนกลับมาอยู่กับครอบครัวเดิมอย่างมีศักดิ์ศรีเหมือนคนทั่วไป ทั้งยังมีการประกาศเปลี่ยนกฎจารีตเรื่องนี้อย่างเป็นทางการตระกูลแซ่ 1 ตระกูล และอยู่ในช่วงปรึกษาหารืออีก 4 ตระกูล จากทั้งหมด 18 ตระกูลแซ่ในไทย

จำนวนเด็กวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อมใน ต.จานลาน อ.พนา จ.อำนาจเจริญ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่โรงพยาบาลสทิงพระ จ.สงขลา เกิดระบบบริการรับมือปัญหาท้องไม่พร้อมที่ปลอดภัยและเป็นมิตร ทำให้มีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นหลายเท่า ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องไปใช้บริการที่เสี่ยงอันตรายนอกระบบสุขภาพ

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ออกนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศภายในองค์กรเป็นองค์แรกของประเทศ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็นำสาระสำคัญดังกล่าวไปจัดทำเป็นแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2558 ที่ผ่านมา

ในแวดวงการทำงานของตำรวจ เกิดชมรมพนักงานสอบสวนหญิงที่เป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนางานสอบสวนที่ละเอียดอ่อนต่อเด็ก เยาวชน และสตรี และกำลังเชื่อมโยงกับโครงสร้างการทำงานหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำลังพัฒนาระบบการสอบสวนคดีอาญาในภาพรวม

สำหรับผู้เขียน จิตวิญญาณใหม่ของ “ความรู้” และ “ความรัก” ที่เกิดขึ้นในขบวนการทำงานเรื่องผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศนี้ ถือเป็นตัวอย่างของการทำงานแบบเป็นขบวนการทางสังคมแนวราบ ที่ใช้อำนาจร่วมของคนหลากหลายฝ่ายเพื่อแก้วิกฤตการณ์ทางสังคมร่วมกัน และเป็นตัวอย่างที่จะนำทางเราฝ่าวิกฤตของความมืดบอดต่อความจริงและความเกลียดชังกันและกันที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้ออกไปให้ได้ ด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image