ของดี-ต้องค้นหา

ภาพจาก Facebook College of Music, Mahidol University

เคยไปฟังเพลงคลาสสิกร่วมสมัยกันไหมเอ่ย

เพลงคลาสสิกที่เรียกว่า “ร่วมสมัย” หรือภาษาอังกฤษเขาว่า “Contemporary” นั้นพัฒนามาจากยุคโรแมนติก

คือจากยุคบาโรกที่ใช้คอร์ดมาประพันธ์ดนตรี เข้าสู่ยุคโรแมนติกที่สอดใส่อารมณ์เข้าไปในบทเพลง

เข้าสู่ยุคร่วมสมัยนี่…เป็นยุคไร้คอร์ด

Advertisement

บทเพลงคลาสสิกยุคนี้จึงฟังยาก เพราะผู้ประพันธ์ใช้เสียงอธิบายจินตนาการของตัวเอง

ผ่านตัวโน้ต แล้วให้นักดนตรีบรรเลงตามตัวโน้ตไปสู่ผู้ฟังอีกที

บทเพลงที่ได้ยินจึงมักจะ…ฟังไม่รู้เรื่อง …ฮา

Advertisement

แต่สำหรับบทเพลงของ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ นักประพันธ์เพลงคลาสสิกชาวไทยที่ไปสร้างชื่อในเวทีโลกนั้น

เป็นบทเพลงที่ขอบอกว่า…ฟังรู้เรื่อง

ไม่เพียงแต่ฟังรู้เรื่องเท่านั้น ฟังแล้วยังให้จินตนาการ

และยังได้ข้อคิดจากจินตนาการที่ฟังดนตรีอีกด้วย

วันก่อน อ.ณรงค์นำผลงานชิ้นล่าสุดเป็นบทเพลงชื่อ Seismic Wave Concerto for Flute and Orchestra ออกแสดง

แสดงที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล

ถือเป็นการแสดงครั้งแรกในโลก

มีวงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิก ออเคสตรา หรือทีพีโอ เป็นผู้บรรเลง

มีอัลฟอนโซ สการาโน (Alfonso Scarano) ชาวอิตาลี เป็นวาทยกร

และมัสซิโม เมอร์เซลลี (Massimo Mercelli) ชาวอิตาลี โซโลฟลุต

บทเพลงที่บรรเลง อ.ณรงค์วาดภาพด้วยเสียงเพลงให้ทุกคนได้ยิน “คลื่นไหวสะเทือน”

คลื่นนี้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก เกิดขึ้นขณะที่แผ่นดินไหว

เมื่อโลกขยับ คลื่นสั่นไหว (Seismic Wave) ก็เกิด แตกย่อยเป็นคลื่นตัวกลาง (Body Wave) และคลื่นพื้นผิว (Surface Wave)

คลื่นพื้นผิวสั่นสะเทือนบริเวณพื้นผิวโลกไม่ลงไปใต้พิภพ ส่วนคลื่นตัวกลาง พุ่งทะลวงผ่านใจกลางโลกไปยังแผ่นดินอีกด้าน

อ.ณรงค์ใช้เสียงฟลุตแทนคลื่นตัวกลาง และเสียงวงออเคสตราแทนคลื่นพื้นผิว

บทเพลงเริ่มต้นด้วยเสียงฟลุตที่โซโลยาวเหยียด แล้วตามต่อด้วยวงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิกฯเข้าแจม

ฟังแล้วเหมือนกับกำลังแนะนำตัวเอง

บทเพลงในช่วงนี้ดำเนินไปในจังหวะเร็ว Massimo Mercelli โซโลฟลุตด้วยปลายนิ้วที่แคล่วคล่อง

เสียงเป่าที่ระบายลมไม่มีขาดสาย ทุกอย่างไหลลื่นไปอย่างน่าฟัง

เสียงที่ดังออกมาให้ได้ยินก็เป็นแบบร่วมสมัยอย่างที่เคยสัมผัส

ฟังแล้วกระตุ้นให้เกิดจินตนาการ

จบจากท่อนนี้บทเพลงเปลี่ยนจังหวะ ฟลุตกลับมาทำหน้าที่ แต่คราวนี้ขับขานทำนองช้า

พอฟลุตบรรเลงไปสักพัก วงออเคสตราก็ผสมผสาน

จังหวะที่ช้าเนิบบ่งบอกช่วงเวลาก่อตัวก่อนการแตกหัก

เปรียบประดุจห้วงเวลาก่อนการระเบิดภายใต้โลก

ทุกอย่างเคลื่อนไหวไปอย่างช้าๆ สะสมพลังงาน เพิ่มมากขึ้นๆๆ

แล้วบทเพลงก็เข้าสู่ช่วงสุดท้าย โดยกลับไปบรรเลงจังหวะเร็ว วงทีพีโอประโคมเสียง

ประหนึ่งบ่งบอกถึงสภาพการณ์แผ่นดินไหว

ฮ่า ฮ่า ก็แหงล่ะสิ เมื่อออเคสตราซึ่งเป็นตัวแทนของคลื่นพื้นผิวส่งเสียง

ย่อมต้องประโคมกระหึ่ม เหมือนการสั่นไหวอันเกิดจากแผ่นดินไหว

ช่วงนี้เสียงฉาบ เสียงกลองใหญ่ เสียงฆ้องใหญ่ เสียงเครื่องเคาะ บรรเลงกันอึกทึก

บทเพลงดำเนินไปจนกระทั่งถึงที่สุด

เสียงอันดังก็เงียบลงอย่างฉับพลัน บ่งบอกให้ผู้ฟังทราบว่า…จบแล้ว

จบไปพร้อมกับการซึมซาบเสียงดนตรี ก่อเกิดเป็นจินตนาการ

มองเห็นความรุนแรง การแตกหัก ความน่าหวาดกลัว

แต่ในขณะที่ทุกอย่างที่แลดูเหมือนเลวร้าย กลับพบว่ามีบางอย่างเป็นเรื่องดี

คลื่น Seismic นั้นแม้จะเกิดจากแผ่นดินไหว และมีคลื่นพื้นผิวที่มุ่งทำลายล้าง

แต่ในคลื่น Seismic ก็ยังมีคลื่นตัวกลาง ที่เคลื่อนตัวผ่านแกนกลางโลกไปอีกด้านหนึ่ง

คลื่นนี้มีประโยชน์

นักธรณีวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ใช้คลื่นตัวกลางในการสำรวจแกนกลางภายในโลก

ทำให้รู้ว่าตรงไหนเป็นของแข็ง ตรงไหนเป็นของเหลว … แล้วบันทึกไว้

ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ ปะติดปะต่อ

สุดท้ายก็ได้โครงสร้างภายในโลกของเราออกใส

การฟังดนตรีครั้งนี้ ทำให้มองเห็นธรรมชาติที่มี 2 ด้านเสมอ

คลื่น Seismic ก็มี 2 ด้าน

ด้านหนึ่งทำลายล้าง อีกด้านหนึ่งสร้างสรรค์

ด้านทำลายล้างแม้เราไม่ต้องการให้เกิด แต่ก็ต้องเจอเข้าสักวัน

ส่วนด้านสร้างสรรค์ แม้จะมีประโยชน์ แต่ถ้าเราไม่แสวงหาก็จะไม่มีโอกาสได้พบเจอ

แหม เหมือนกับการดำรงชีวิตเลยครับ

ชีวิตที่อยากได้ดีต้องแสวงหา

แม้จะรู้ว่าของดีๆ มีอยู่รอบๆ แต่ทุกชีวิตต้องทุ่มเทแสวงหา

ถ้าไม่แสวงหาก็ไม่พบ

ดังนั้น หากอยากให้ชีวิตดีขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องแสวงหา

โปรดอย่ารอ !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image