ฉลองรัฐธรรมนูญ นางฟ้าจำแลง

คุณทวดวัยปริ่มร้อย ชี้ที่ปกมติชนสุดสัปดาห์เล่มไม่นานมานี้ แล้วถามว่า “คนแก่นี่ใคร?” เหลนตอบว่า “มีชัย ฤชุพันธุ์ คนที่กำลังเขียนรัฐธรรมนูญไงครับ” คุณทวดยิ้มถูกใจ แล้วบอกว่า “ดี จะได้ไปงานฉลองรัฐธรรมนูญ”

ในห้วงความทรงจำ คุณทวดยังร้อยงานฉลองรัฐธรรมนูญเข้ากับตัวรัฐธรรมนูญ และลืมเลือนไปแล้วว่าท่ามกลางความลุ่มดอนของประชาธิปไตยแห่งไทยแลนด์ ทั้งตัวรัฐธรรมนูญและงานฉลองล้วนแหว่งวิ่น ขาดความปะติดปะต่อพอกัน

ฟังคุณเหลนเล่าเรื่องคุณทวด แล้วอดไม่ได้ที่จะคิดถึงเพลงซึ่งครั้งหนึ่งคนไทยเคยร้องตามได้ทั้งบ้านทั้งเมือง

“โฉมเอย โฉมงาม

Advertisement

อร่ามแท้แลตะลึง

ได้เจอครั้งหนึ่ง

เสน่ห์ซึ้งตรึงใจ ฯลฯ”

Advertisement

ได้ยิน “นางฟ้าจำแลง” ครั้งใด ใครๆ ก็คิดถึงการประกวดนางสาวไทย เพราะเป็นเพลงที่ใช้ประกอบยามสาวสวยเยื้องกรายอยู่บนเวที

ข้อมูลที่หาได้ทั่วๆ ไปให้ความรู้ว่ามีการบรรเลง “นางฟ้าจำแลง” เป็นครั้งแรกในการประกวดนางสาวไทยครั้งที่ 12 ซึ่งมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2496 หรือกว่า 60 ปีมาแล้ว

ปีที่ผู้ครองมงกุฎคือ คุณอนงค์ อัชชวัฒนา

จากนั้นก็กลายเป็นเพลงเอกประจำการประกวดติดต่อกันอยู่นานปี ก่อนจะเปลี่ยนเป็นเพลงที่เหมาะกับยุคสมัยมากกว่า แต่นัยว่าแต่ละเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ในตอนหลัง ไม่โดนใจคนฟัง แบบที่คนรุ่นคุณปู่-คุณทวดว่า “ไม่ติดตลาด”

ตามประวัติมีว่า ก่อนหน้านั้น คือตั้งแต่ พ.ศ.2491 เคยใช้เพลงของสุนทราภรณ์ชื่อ “สาวน้อยร้อยชั่ง” บนเวทีประกวดมาก่อน

“รูปแม่งามดังดุจอัปสรโสภา

ผ่องพรรณขวัญตา

นางวิไลในหล้า

สุดที่จะหาเทียมนาง…”

เพลงไปจบตรงที่ว่า

“งามสมคำที่ว่า

สาวน้อยร้อยชั่งเอย”

ชื่อเพลงตรงกับเงินรางวัลสำหรับผู้ที่ได้มงกุฎไปครองคือ แปดพันบาท หรือหนึ่งร้อยชั่ง

คนรุ่นใหม่ไม่คุ้นกับอัตราเงินที่เรียกว่า “ชั่ง” แต่คนรุ่นเดียวกับสาวน้อยร้อยชั่ง ยังต้องท่อง…

2 เฟื้อง เป็น 1 สลึง

4 สลึง เป็น 1 บาท

4 บาท เป็น 1 ตำลึง

20 ตำลึง เป็น 1 ชั่ง

80 ชั่ง เป็น 1 หาบ

โอ้ ออซั่ม…เหลนฟังแล้วเวียนหัว

ขนาด “สาวน้อยร้อยชั่ง” ยังมึนเท่านี้ หากครูเอื้อตั้งชื่อเพลงเป็น “สาวน้อยหนึ่งหาบกับยี่สิบชั่ง” มิงงเป็นไก่ตาแตกกันไปเลยรึ

และถ้ารู้ว่า เพราะการประกวดจัดขึ้นในงานฉลองรัฐธรรมนูญ มงกุฎในปีนั้นจึงมีตรารัฐธรรมนูญอยู่ด้านหน้า เหลนคงจะบวกแรงนับถือความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นคุณทวดเข้าไปด้วย

แต่การเป็นสาวมีราคาเจาะจง อาจจะทำให้หลายคนคิดมาก อีกทั้งคนไทยเลิกใช้อัตราเงินแบบเก่า เพลง “นางฟ้าจำแลง” จึงเข้ามาแทนที่

สำหรับเพลงนี้ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ประพันธ์ทำนอง เลือกให้ใช้จังหวะควิก วอลซ์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม และมอบให้ครูแก้ว อัจฉริยะกุล เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้อง

ถ้อยคำไพเราะจากฝีมือครูแก้ว สรุปได้ว่า สาวงามที่เห็นแล้วตะลึงลานรายนี้ั เป็น “นางฟ้าจำแลง แปลงกายลงมา…”

แต่ถึงกระนั้น เนื้อเพลงแสนไพเราะของครูแก้ว ก็ไม่วายถูกจับไปดัดแปลง

นักเพลงรุ่นคุณปู่ยังเด็กท่านหนึ่ง เคยเขียนเล่าไว้ในหนังสือทวนความหลัง ว่าในงานรัฐธรรมนูญสมัยนั้น มีสาวประเภทสองเดินเฉิดฉายในงานอยู่ประปรายเสมอ

สาวๆ ที่ว่า น้อยทั้งจำนวน และด้อยทั้งความงามเมื่อเทียบกับที่เห็นแพร่พันธุ์อยู่ในสมัยนี้

เด็กๆ ผู้ชายวัยห่าม เมื่อเห็นเหล่ากะเทย (เรียกอย่างครั้งนั้น) จะร้องประสานเสียงกันว่า

“นางฟ้ามีเดือย

เปลือยกายลงมา

จึ่งงามดังเทพธิดา

ลาวัณย์…”

แม้จะฟังสีประดนเพียงใด แต่นางฟ้าประเภทสองก็เพียงค้อนควัก เว้นวรรคไม่ด่าทอตามความชำนาญขั้นพื้นฐาน

ท่านผู้เขียนลงความเห็นว่า ลองเป็นผู้หญิงแล้ว ไม่ว่าเป็นประเภทไหน แท้หรือเทียม หนึ่งหรือสอง เวลาถูกชมว่าสวยก็ปลื้มครือกัน

(ย่อหน้าใหญ่)

เรามีการประกวดนางสาวไทยครั้งแรกในปี พ.ศ.2477

ปีเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงขึ้นครองราชย์

สองปีหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตยแบบตั้งไข่

ประชาธิปไตยแบบตั้งไข่ก็คือประชาธิปไตยที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้นั่นเอง ไม่ผิดกันสักกี่มากน้อยจากที่คนไทยรุ่นคุณทวด++เคยร้องล้อเด็กวัยตั้งไข่ว่า “ตั้งไข่ล้ม ต้นไข่กิน ไข่ตกดิน อดกินไข่ล้ม”

ต่อมาบทร้องแบบบ้านๆ ดั้งเดิม ก็กลายไปเป็น “ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน” หนึ่งในบทดอกสร้อยสุภาษิตที่เสด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงขอให้กวีหลายคนช่วยท่านแต่งขึ้นและจัดพิมพ์ให้หนูๆ ในโรงเลี้ยงเด็กเมื่อประมาณร้อยปีที่แล้ว (พ.ศ.2454) และกลายมาเป็นอาขยานภาคบังคับสำหรับนักเรียนทั้งประเทศ

ทั้งหมดนี้เพราะท่านรังเกียจว่า เด็กๆ มักไปเที่ยวจำบทกลอนหยาบโลนต่างๆ จากพวก “เต้นกินรำกิน” มาร้องเล่นกัน

“อันยี่เก ลามก ตลกเล่น

รำเต้น สิ้นอาย ขายหน้า

ไม่ควรจะ จดจำ เป็นตำรา

มันจะพา เสียคน ป่นปี้ เอย ฯ”

ในงานรัฐธรรมนูญเมื่อครั้งหนึ่งนานมาแล้ว หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องยังเคยมีการจัดให้แข่งร้อง/ท่องบทดอกสร้อยสุภาษิตเหล่านี้ขึ้น (ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน/จิงโจ้โล้สำเภา/นกขมิ้นเหลืองอ่อน ฯลฯ) ครูเก่าท่านหนึ่งเคยเขียนเล่าว่า น่าประหลาดที่บท “ตั้งไข่ล้มฯ” ดูจะเป็นบทที่เด็กๆ สมัยนั้นนิยมนำมาร้องแข่งมากที่สุด บางคนถือไข่มาประกอบด้วย แล้วเจ้ากรรมไข่ก็ดันตกลงพื้น ดีว่าเป็นไข่ต้มที่พ่อแม่ให้เอามากินเผื่อหิว จึงไม่เละเทะ

แต่ในความทรงจำ ครูท่านก็ยังคิดถึง (งานฉลอง) รัฐธรรมนูญคู่กันกับบท “ตั้งไข่ล้มฯ” เสมอ

รัฐธรรมนูญจะเป็นฉบับตั้งไข่ล้มเหมือนก่อนๆ หรือจะเป็นฉบับเทวาจำแลง หรือฉบับ…เปลือยกายลงมา ก็ล้วนอยู่ที่มุมมองของมวลประชาตาดำๆ

โน-โน หรือ โอ-โอ ไม่เป็นไร

แต่ “ถ้าตกดิน เสียก็อด หมดฝีมือ”

ฟัง “นางฟ้าจำแลง” จากเสียงของครูเอื้อ สุนทรสนาน

พร้อมดูรูปนางสาวไทยปีต่างๆ ได้ที่

https://youtu.be/PwP0m7fbx4M

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image