เมื่อ “มนุษย์” ต้อง “ขับเคี่ยว” กับ “คอมพิวเตอร์”

(ภาพ-vincenthk)

ข่าวคราวเกี่ยวกับการพัฒนารุดหน้าของ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ” มีเพิ่มมามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปีที่แล้ว เราได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับชัยชนะของคอมพิวเตอร์เหนือผู้เล่น โกะ ที่ดีที่สุดเท่าที่โลกมีอยู่ มาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีรายงานเพิ่มเติมว่า หุ่นยนต์ที่ติดตั้งปัญญาประดิษฐ์ สามารถเอาชนะการเล่นโปกเกอร์ แบบทัวร์นาเมนต์ 20 วันเหนือผู้เล่นระดับที่ดีที่สุดของโลก 4 คนตามมาอีกต่างหาก

หลายๆ บริษัท เอาจริงกับการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความซับซ้อนมากกว่าความชำนิชำนาญในการเล่นเกมต่างๆ นั่นคือ การพัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะที่มีปัญญาประดิษฐ์สูงและซับซ้อนขึ้นไปอีก นั่นคือ เอไอที่มีความสามารถในการเรียนรู้และจดจำทักษะ เพื่อนำมาใช้ในการทำงานได้ในอนาคต

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ อัลฟาเบต บริษัทแม่ของกูเกิล ถึงกับประกาศให้เงินทุนสนับสนุนนับล้านดอลลาร์ให้กับใครก็ได้ที่มีโครงการพัฒนา หุ่นที่สามารถ “เรียนรู้” จากการเลียนแบบการทำงานของคนได้

พัฒนาการเหล่านี้ ในแง่หนึ่งทำให้ “หุ่นยนต์” น่ากลัวมากขึ้นตามลำดับ

Advertisement

นักคิด นักวิทยาศาสตร์ ที่ตระหนักดีถึงพลานุภาพของ “คอมพิวเตอร์” ขั้นสูงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น สตีเฟน ฮอว์กิง นักทฤษฎีฟิสิกส์คนสำคัญของโลกในปัจจุบันหรือคนอย่าง อีลอน มัสก์ เจ้าของและผู้พัฒนา “เทสลา” และ “สเปซเอ็กซ์” ที่ออกมาพูดถึง “อันตราย” จากปัญญาประดิษฐ์ก้าวหน้าที่มนุษย์สร้างขึ้นมาว่า สักวันมนุษย์นั่นแหละจะถูกครอบงำ

เหตุผลสำคัญก็คือ เมื่อใดที่เอไอก้าวรุดหน้าถึงระดับที่สามารถ “รู้คิด” และ “ให้เหตุผล” กับตัวเองได้แล้ว เมื่อนั่นมนุษย์ก็จะตกอยู่ในสภาพ “ด้อยกว่า” ในทุกๆ ด้าน เมื่อเปรียบเทียบกับศักยภาพของคอมพิวเตอร์

นั่นหมายความว่าขับเคี่ยวแข่งขันกันเมื่อใด หุ่นยนต์เป็นอันเอาชนะมนุษย์ได้เมื่อนั้น ทุกครั้งไป…ในอนาคต

Advertisement

บนเวทีงาน “โค้ด คอนเฟอเรนซ์” งานสัมมนาทางวิชาการประจำปีด้านคอมพิวเตอร์ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ อธิบายไว้ถึง “ข้อจำกัดพื้นฐาน” ที่สำคัญของมนุษย์เอาไว้ว่า คือข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนระหว่าง “อินพุต” กับ “เอาต์พุต”

ในทรรศนะของมัสก์ “เอาต์พุต” ของคนเราช้ามาก เมื่อเทียบกับความเร็วของการรับเอาข้อมูลสารพัดทั้งหลายเข้าไปในกระบวนการ ตัวอย่างเช่น เรารับรู้ข้อมูลหรืออินพุตข้อมูลจากการอ่าน-ฟัง หรือดู เร็วมาก แต่ “เอาต์พุต” ของเรา อย่างเช่นการพิมพ์ข้อความลงบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนด้วยสองหัวแม่มือนั้น มัสก์ใช้คำว่า “ช้าอย่างเหลือเชื่อ” ครับ

มัสก์ให้ความเห็นต่อว่า ถ้าจะแก้ปัญหาเปลี่ยนข้อจำกัดดังกล่าวนี้ให้ได้ และสามารถอยู่ร่วมกับหุ่นยนต์อัจฉริยะในอนาคตได้แบบเคียงบ่าเคียงไหล่ มนุษย์ต้องกลายเป็น “ไซบอร์ก” ที่นิยามกันง่ายๆ ว่าเป็นพวก “ครึ่งคนครึ่งเครื่องจักร”

ตามความเห็นของมัสก์ มนุษย์ส่วนหนึ่งในเวลานี้เป็น “ไซบอร์ก” ไปแล้ว กล่าวคืออย่างน้อยเราก็มี “ส่วนหนึ่ง” ที่เป็นดิจิทัลหรือกึ่งๆ ดิจิทัล ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของตัวเราผ่านทางอีเมล์ หรือไลน์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่เปรียบเสมือน “อวาทาร์” หรือ “ตัวตนจำแลง” ในโลกไซเบอร์อยู่แล้ว

มัสก์เห็นว่ามนุษย์ในอนาคตจำเป็นต้อง “มีอำนาจเหนือ” คอมพิวเตอร์ แบบเดียวกับที่เรามีอำนาจเหนือคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน หรือแท็บแล็ต กับแอพพลิเคชั่นต่างๆ ทั้งหลายในทุกวันนี้

เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว มัสก์หยิบเอา “แนวคิด” ที่มีการนำเสนอไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2015 มาพูดซ้ำอีกครั้ง โดยย้ำว่าดูเหมือนจะเป็นทางออกเพียงทางเดียวเท่าที่คิดออกได้ในเวลานี้ที่สามารถช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ก้าวหน้าและซับซ้อนในอนาคตได้ โดยไม่ตกเป็นเบี้ยล่าง

แนวคิดดังกล่าวคือแนวคิดเรื่อง “นิวรอล เลซ” ที่แปลเป็นไทยได้ความประหลาดๆ ว่า “สายร้อยประสาท”

“นิวรอล เลซ” เป็นแนวคิดการสร้างระบบเชื่อมต่อระหว่างอินเตอร์เฟซของคอมพิวเตอร์กับสมองของคนเราแบบ “ไร้สาย” ทำหน้าที่เป็นเหมือน “ปัญญาประดิษฐ์” ที่เพิ่มเข้ามาเพื่อเสริมศักยภาพให้กับมนุษย์ เป็นเหมือน “เอไอเลเยอร์” ให้กับสมองของคนเรา

ชาร์ลส์ ลีเบอร์ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานการวิจัยเรื่อง นิวรอล เลซ นี้ อธิบายเอาไว้ว่า สิ่งที่พวกเขาพยายามจะทำก็คือทำให้ความต่างระหว่าง “วงจร” หรือเซอร์กิตของคอมพิวเตอร์กับเซอร์กิตของสมองของคนลดน้อยลงหรือหายไป

มัสก์ยอมรับว่าไม่รู้หรอกว่ามีใครหรือบริษัทไหนกำลังพัฒนาแนวคิดนี้ให้เป็นความจริงขึ้นมาอยู่บ้างในเวลานี้

เพียงแต่ยืนยันได้ว่า “นิวรอล เลซ” มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของมนุษยชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image