‘จิสด้า’ เตรียมเปิดตัว แอพพลิเคชั่นตรวจสอบสิทธิที่ดิน

จิสด้า (GISTDA) เตรียมออกแอพพลิเคชั่นตรวจสอบการใช้สิทธิที่ดินผ่านทางมือถือ เพื่อลดปัญหาความข้อพิพาทการถือครองที่ดินระหว่างรัฐและเอกชน ชี้พร้อมเปิดให้ใช้งานแผนที่ดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบทั้งแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ภายใน 6 เดือนนับจากนี้ รอเพียง คสช.ใช้ ม.44 ในการออกกฎหมายรองรับ ให้สามารถใช้งานแผนที่ดิจิทัลแทนการใช้แผนที่ในรูปแบบเดิมได้อย่างแท้จริง

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า (GISTDA) กล่าวว่า จิสด้าเตรียมออกแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาครัฐและประชาชน ในการตรวจสอบการใช้สิทธิที่ดินว่าสามารถถือครองได้หรือไม่ เพื่อลดข้อพิพาทระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐ ประชาชนกับเอกชน รวมไปถึงภาครัฐกับเอกชน โดยจะสามารถระบุผ่านสมาร์ทโฟนได้ทันทีว่าพื้นที่ที่กำลังตรวจสอบอยู่นั้นเป็นสิทธิของใคร

การพัฒนาแอพพลิเคชั่นดังกล่าวต่อยอดมาจากการพัฒนาแผนที่ดิจิทัลที่ทางจิสด้าได้ดำเนินการมาจนเกือบจะสำเร็จ 100% แล้ว รอเพียงการอนุมัติจาก คสช.ให้มีสิทธิในการดำเนินการในเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้แผนที่ดิจิทัลที่ได้จัดทำขึ้นสามารถใช้งานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะทำให้กลายเป็นแผนที่หลักที่จะใช้ตัดสินว่าใครมีสิทธิถือครองที่ดินตัวจริง ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างใช้แผนที่ที่ตนมีอยู่มากล่าวอ้าง ซึ่งคาดว่าทั้งเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นจะเสร็จสมบูรณ์และใช้งานได้จริงในอีก 6 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้จากเดิมการใช้ประโยชน์จากที่ดินในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ที่ไม่ชัดเจนเรื่องการแบ่งเขตแดน จะมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง และเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะตัดสินได้ว่าใครถูกหรือผิด เพราะส่วนใหญ่จะใช้แผนที่ที่ตนเองมีอยู่เป็นหลัก ดังนั้นที่ผ่านมาภาครัฐจึงได้สั่งให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ ใช้มาตราส่วน 1:4,000 หรือ One Map ขึ้น เพื่อให้ทุกแผนที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยจิสด้าได้นำแผนที่ดังกล่าวขึ้นมาอยู่ในรูปแบบของดิจิทัล

Advertisement

“ดังนั้นหาก คสช.ใช้ ม.44 ในการกำหนดให้แผนที่ดิจิทัลที่ทางจิสด้า ได้จัดทำขึ้นเป็นสิ่งที่กฎหมายรับรอง และสามารถใช้งานได้จริง ก็จะนับเป็นแผนที่บนเว็บไซต์ที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นครั้งแรกของโลก ไม่ต้องอาศัยแนบท้ายตามกฤษฎีกาเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้แนวเขตที่ดินของรัฐมีความชัดเจน ตรวจสอบได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ไม่เป็นข้อขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมา เพราะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน”

โดยภาครัฐก็จะสามารถนำแผนที่ดังกล่าวไปใช้เป็นหลักฐานยืนยันเพื่อการเข้าไปบริหารจัดการด้านต่างๆ ทั้งทางด้านการเกษตร การจัดการภัยพิบัติ การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง รวมไปถึงการวางผังเมืองและการใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น อันเป็นผลให้เกิดประโยชน์ที่ดีต่อการพัฒนาเศรษกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน

ดร.อานนท์กล่าวว่า ทั้งนี้หากจิสด้าได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการได้อย่างเต็มที่แล้ว นับจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนการสร้างมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยของแผนที่ดิจิทัลให้รัดกุมมากขึ้น รวมไปถึงการป้องกันปัญหาจากแฮกเกอร์ที่อาจจะเข้ามาสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับระบบ เพื่อให้สามารถใช้งานแผนที่ดิจิทัลได้ทั้งบนเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นได้อย่างสมบูรณ์และปลอดภัย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image