“แฟร์เวล สปิต” กับดักวาฬที่นิวซีแลนด์

BBC

เป็นข่าวคราวดังใหญ่โตไปทั่วโลก สำหรับเหตุการณ์ที่วาฬนำร่องหลายร้อยตัวมาเกยชายหาดของอ่าวโกลเดน หรือโกลเดน เบย์ ทางเกาะใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ แม้ว่าจะมีอาสาสมัครพยายามเข้าช่วยชีวิตวาฬเหล่านี้อย่างเต็มที่ หากแต่ก็ปรากฏว่ามีวาฬที่ต้องจบชีวิตลงไปหลายร้อยตัว ขณะที่อีกนับร้อยตัวรอดตาย

บีบีซีอ้างรายงานของกลุ่มโปรเจ็กต์ โจนาห์ กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ ที่ระบุไว้ว่า ในแต่ละปีจะมีโลมาและวาฬราว 300 ตัว เกยชายหาดประเทศนิวซีแลนด์ และส่วนใหญ่จะเกยหาดบริเวณที่เรียกว่า “แฟร์เวล สปิต” โดยแฟร์เวล สปิต เป็นสันทรายแคบๆ ที่ยื่นออกไปบริเวณตอนเหนือของเกาะใต้ ที่แบ่งแยกอ่าวโกลเดน หรือโกลเดน เบย์ บางส่วนออกจากทะเลด้านนอก

แกรี ริออร์ดัน ในวัย 62 ปี ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาเกือบตลอดทั้งชีวิต และเป็นเจ้าของกิจการแคมป์ชายหาดที่อยู่ไม่ไกลจากบริเวณที่มีการเกยหาดของวาฬ บอกว่า เหตุการณ์วาฬเกยชายหาดนั้นจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของทุกปี ซึ่งสาเหตุของการเกยชายหาดของวาฬนั้น มีการตั้งทฤษฎีขึ้นมาหลายข้อด้วยกัน แต่ถึงที่สุดแล้ว เขาก็คิดว่าน่าจะเหลืออยู่แค่ 4-5 ข้อเท่านั้น และหนึ่งในสาเหตุที่ดูจะธรรมดามาก คือ น้ำที่ตื้นเขิน

AFP PHOTO / Marty MELVILLE
AFP PHOTO / Marty MELVILLE

ขณะที่โจอันนา วีตัน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เช่นกัน บอกว่า เธอรู้สึกตื่นเต้นดีใจอย่างมาก ที่เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา ไม่มีฝูงวาฬมาเกยหาดจำนวนมาก และว่า แฟร์เวล สปิต เป็นเหมือนกับดักธรรมชาติสำหรับพวกวาฬและโลมา

Advertisement

วีตันเล่ารำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2015 ที่มีวาฬนำร่องราว 200 ตัว มาเกยชายหาดไม่ไกลจากคาเฟ่ที่เธอทำงานอยู่ ครั้งนั้นมีวาฬนำร่องที่ต้องจบชีวิตถึงครึ่งหนึ่ง และทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ก็มักจะเป็นสัตว์สายพันธุ์เดิม คือ “วาฬนำร่อง” และเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คลื่นลมแรงบริเวณชายหาด

ดร.โรเชลล์ คอนสแตนติน นักชีววิทยาทางทะเล จากมหาวิทยาลัยอ๊อกแลนด์ ก็เห็นด้วยที่ว่า น้ำที่ตื้นเขินบริเวณรอบๆ แฟร์เวล สปิต คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ฝูงวาฬมาเกยชายหาดแถวนี้ ภูมิศาสตร์ของแฟร์เวล สปิต ถือเป็นสถานที่ที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง แนวสันทรายที่เป็นแนวโค้งยาวออกไป ด้านหนึ่งเป็นอ่าวที่กว้างใหญ่ อีกด้านเป็นมหาสมุทรเปิดกว้าง เพราะแม้ว่าจะเป็นอ่าวแต่กลับมีแนวสันทรายขนาดใหญ่เกิดขึ้น และทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีความตื้นเขิน

ด้วยความตื้นของน้ำนี่เอง ที่อาจจะทำให้ฝูงวาฬไม่สามารถตรวจจับได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของระดับความลาดชันที่เกิดจากการทับถมของทราย จากการใช้เสียงสะท้อนที่สร้างขึ้นเพื่อให้รับรู้ถึงสิ่งแวดล้อม หรือเอ็คโค่โลเคชั่น ทำให้พวกวาฬเหล่านี้ว่ายเข้าหาฝั่งโดยไม่รู้ตัว เมื่อรู้ตัวอีกทีก็สายเกินไปเสียแล้ว

Advertisement

ขณะที่ภูมิศาสตร์ของพื้นที่บริเวณดังกล่าวก็มีความซับซ้อนอย่างมาก ด้วยแนวสันทรายที่โค้งออกไป

แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่แน่ใจว่า ทำไมการเกยชายหาดต้องเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของทุกปี แม้ว่าคอนสแตนตินจะบอกว่า มันอาจจะเป็นรูปแบบของการหาอาหารและการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทร

ถึงตอนนี้มีรายงานว่า มีวาฬนำร่องถึงราว 700 ตัวแล้วที่มาเกยชายหาดแห่งนี้ ถือเป็นอีกปีที่มีวาฬนำร่องมาเกยชายหาดที่นี่มากที่สุดอีกปีหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 1918 เคยเกิดเหตุวาฬนำร่องราว 1,000 ตัวเกยหาดบริเวณหมู่เกาะชาทัม ซึ่งเป็นอีกจุดของเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ที่มักจะมีวาฬมาเกยชายหาดทุกปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image