ร่อนตามลม…แฟนเสมือนจริง ที่จะทำให้”แฟนตัวจริง”หนาว!!

หัว-ร่อนตามลม

 

 

 

Advertisement

 

 

แม้จะเพิ่งแต่งงาน แต่ มิโฮะ ทาเคชิตะ บรรณาธิการหนังสือวัย 30 ก็ไม่กลัวสักนิดว่าจะถูกสามีจับได้ว่าเธอกำลังแอบปันใจให้ชายอื่น นั่นก็เพราะกิ๊กของเธอมีตัวตนอยู่แค่ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเท่านั้น

Advertisement

ทาเคชิตะเป็นหนึ่งในบรรดาแฟนๆ ของเกมโรแมนซ์บนมือถือ ซึ่งได้รับความนิยมในญี่ปุ่น และชนะใจผู้หญิงที่มองหาความรักแบบที่อาจทำไม่ได้ในชีวิตจริง

บรรณาธิการวัย 30 บอกเลยว่า “ฉันติดเกมนี้หนึบ แม้จะรู้ว่าตัวละครในเกมไม่ใช่ของจริง แต่คุณก็จะเริ่มรู้สึกผูกพันกับพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ”

นัตสุโกะ อาซากิ โปรดิวเซอร์เกมของบริษัท Cybird ผู้พัฒนาเกมมือถือชื่อดัง และเป็นผู้ผลิตเกม Ikemen ซึ่งได้รับความนิยมมาก และมีคนดาวน์โหลดแล้วราว 15 ล้านครั้ง นับแต่เปิดตัวเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และตอนนี้บริษัทได้ทำเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษออกมาแล้วด้วย บอกว่านี่แหละคือหัวใจหลักที่บริษัทผลิตเกมประเภทนี้ต้องการ ทำให้ผู้เล่นรู้สึกผูกพันกับตัวละครในเกมให้ได้ “เราจึงให้ความสำคัญกับเนื้อหาเรื่องราว ตัวละคร และการดำเนินเรื่องที่มีการหักมุม รวมทั้งผลลัพธ์ต่างๆ”

ทั้งนี้ จากรายงานของสถาบันสำรวจยาโนะ ซึ่งมีสำนักงานในกรุงโตเกียว มีรายงานถึงตัวเลขรายได้ของเกมโรแมนซ์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงว่า เป็นธุรกิจที่ทำรายได้ถึงปีละ 15 พันล้านเยน หรือราว 4,738 พันล้านบาท โดยบริษัท Cybird เปิดเผยข้อมูลว่า ผู้เล่นเกมนี้ 80% เป็นผู้หญิง รวมทั้งผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้เล่นเกมชอบเล่นเกมเหล่านี้ก่อนเข้านอน

เกมประเภทนี้ ไม่ได้มีขั้นตอนการเล่นที่ซับซ้อน แต่เป็นเกมที่จำลองสถานการณ์หลากหลายเป็นทางเลือกให้แก่ผู้เล่น ให้ผู้เล่นสามารถหนีเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ที่พวกเธอสามารถสร้างเรื่องราวความรักของเธอกับแฟนเสมือนจริง

ทาเคชิตะบอกเลยว่า เธอไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดเลยสักนิด กับการที่เธอจะแอบมุ้งมิ้งกับหวานใจในสมาร์ทโฟนของเธอ อีกทั้งเธอยังสามารถจะพรอดรักกับเขาเมื่อไรก็ตามที่เธอต้องการ ซึ่งบางครั้งสามีในชีวิตจริงไม่สามารถทำให้เธอได้

อาซากิพูดถึงจุดเด่นของเกมอีกประการหนึ่งก็คือ “ในเกมมีความหวือหวาอยู่พอสมควร แต่ยังไงก็ไม่เซ็กซี่ หวือหวาเท่าเกมที่สร้างขึ้นสำหรับผู้ชาย มันเป็นเรื่องราวความรักแบบฝันหวาน ไม่มีคู่แข่ง และไม่มีการจบลงแบบเศร้า หรือเจ็บปวด”

 

JAPAN-TECHNOLOGY-LIFESTYLE-ALGORITHMS-CULTURE-COMPUTERS

JAPAN-TECHNOLOGY-LIFESTYLE-ALGORITHMS-CULTURE-COMPUTERS

 

ไอ ไอซาวะ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ จากเว็บไซต์ All About ซึ่งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน ให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกมรักแบบนี้ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะค่านิยมในการ

ออกเดตของญี่ปุ่น ที่ต้องให้ผู้ชายเป็นฝ่ายเริ่ม เป็นฝ่ายนำ “ผู้หญิงญี่ปุ่นที่เป็นฝ่ายเริ่มก่อน จะถูกมองว่าไม่เหมาะสม แม้แต่ผู้หญิงที่รู้สึกว่าตัวเองได้พบคู่ชีวิตที่ดีแล้ว บ่อยครั้งก็ยังรู้สึกไม่มีความสุข ไม่พอใจ พวกเธอจึงใช้เกมเหล่านี้เป็นที่ผ่อนคลาย เป็นทางออกที่เธอไม่ได้ทรยศคู่ของเธอ และเธอสามารถพบความรักในอุดมคติ ความรักที่เติมเต็มความต้องการในใจของเธอ”

อย่างไรก็ตาม เกมนี้ก็มีเรื่องน่าห่วง โดยผู้เล่นรายหนึ่งซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อบอกว่า “เล่นแล้วคุณจะติดเกม และคุณจะเริ่มรู้สึกผิดทีละนิดๆ เมื่อคุณไม่ได้เล่นทุกวัน นี่คือเรื่องที่อันตรายสำหรับเด็กสาวที่ยังไม่มีวุฒิภาวะ”

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของมูลนิธิเมจิ ยาสุดะ ไลฟ์ ฟาวน์เดชั่น ออฟ เฮลธ์ แอนด์ เวลแฟร์ เมื่อปีที่แล้วยังระบุว่า เกมรักเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กสาวในญี่ปุ่นไม่สนใจจะมองหาแฟน หาคู่ชีวิต

ขณะที่ ไอซาวะบอกว่า “ความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นในชีวิตจริง แต่สามารถเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ได้ในเกมแบบนี้ ซึ่งสามารถทำให้บางคนเลิกที่จะมองหาความรัก อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image