เปิดใจ นักสังคมสงเคราะห์ดีเด่นปี 2559 การได้ช่วยให้คนอื่นพ้นทุกข์ คือ ความสุข

เพื่อให้กำลังใจคนทำดีให้ตั้งใจทำความดีต่อไป กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ร่วมกับมูลนิธิศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ และภาคีเครือข่าย ได้จัดงานมอบประกาศเกียรติคุณนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น ประจำปี 2559 เนื่องในวันปกรณ์ 60 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี มาเป็นประธานและมอบโล่ประกาศเกียรติคุณนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น 19 ราย

IMG_5384
นางรอมือเลาะ หะยีเด อายุ 57 ปี หัวหน้าฝ่ายสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลปัตตานี เล่าว่า ดิฉันทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพในสายการแพทย์มานานกว่า 33 ปี โดยจะลงพื้นที่ดูแลช่วยเหลือกลุ่มเด็กและสตรี ที่ถูกกระทำความรุนแรงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ความรุนแรงที่เกิดในครอบครัว ตลอดจนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนใต้ ที่บาดเจ็บสาหัสหรือทุพพลภาพ ให้เข้าถึงการช่วยเหลือทางการแพทย์ อุปกรณ์พื้นฐานต่างๆ

ด้วยทำงานในโรงพยาบาลทำให้เธอเห็นปรากฏการณ์น่าเป็นห่วง เธอเล่าว่า ตอนนี้แนวโน้มปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักเรียน ม.ต้น พบอายุน้อยสุด 12 ปี ทำให้บางรายคิดจะทิ้งลูก ทำแท้ง ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือไม่ให้ตัดสินใจผิดพลาด แต่ต่อไปจะแก้ปัญหาเชิงรุก ด้วยการเข้าไปให้ความรู้การคุมกำเนิดที่ถูกต้อง สอนทักษะการป้องกันตัวเอง

“สิ่งสำคัญในการทำงานคือความอดทน และการรู้จักประสานงานได้สิบทิศ เพื่ออาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือช่วยแก้ปัญหา หลายปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้เพียงวันเดียว ซึ่งทีมสหวิชาชีพมีส่วนช่วยเหลือเราได้อย่างดียิ่ง ดิฉันถือว่าการได้ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเป็นการสร้างบุญกุศลทางอ้อม มันก็แปลกว่า เวลาดิฉันมีปัญหาอะไรก็แล้วแต่ ปัญหาก็จะถูกแก้ ได้รับความช่วยเหลือ หรือมีทางออกตลอดเลย” นางรอมือเลาะเล่า

Advertisement
รอมือเลาะ หะยีเด
รอมือเลาะ หะยีเด

ขณะที่ นางสาวดวงเดือน เนตรวงศ์ อายุ 48 ปี นักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เล่าว่า จากการที่ได้รับผิดชอบงานศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรง หรือโอเอสซีซีประจำโรงพยาบาล พบปัญหาทั้งการตั้งครรภ์ไม่พร้อม การถูกล่วงละเมิดทางเพศ สตรีและเด็กถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 250 รายต่อปี ผลงานที่ภูมิใจคือ การแก้ปัญหาทอดทิ้งเด็กในโรงพยาบาลหลังคลอดตัวเลขเหลือศูนย์ โดยใช้วิธีคัดกรองแม่กลุ่มเสี่ยงตั้งแต่ขั้นตอนเวชระเบียนซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 2545

“ดิฉันจะพยายามคิดบวก คิดว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ และเมื่อเราได้ช่วยเหลือใครให้รอดพ้นจากปัญหาได้ ก็ถือเป็นความสุขที่เราได้รับเช่นกัน” นางสาวดวงเดือนเล่า

ดวงเดือน เนตรวงศ์ (1)
ดวงเดือน เนตรวงศ์

ปิดท้าย นางณัฏฐนันท์ กำจัด อายุ 53 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว เล่าว่า ดิฉันเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชน จ.ปทุมธานี เพื่อมาช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ให้ได้รับความช่วยเหลือทั่วกัน ผลงานที่ภูมิใจคือ การช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส เด็กที่ถูกทอดทิ้ง ให้ได้รับอุปการะและการศึกษาจนจบปริญญาตรี นอกจากนี้ ในอนาคตดิฉันยังตั้งใจทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติด เนื่องด้วย จ.ปทุมธานีเป็นเมืองหน้าด่านก่อนเข้าเมืองหลวง ที่มีปัญหายาเสพติดมาก ขณะที่เยาวชนของเราก็มีเยอะ จึงเป็นสิ่งสำคัญต้องแก้

“ดิฉันมาจากภาคเอกชน เป็นนักสังคมสงเคราะห์อาสาสมัคร ไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่ แต่การทำงานตรงนี้ก็เป็นความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์” นางณัฏฐนันท์เล่า

ณัฏฐนันท์ กำจัด (1)
ณัฏฐนันท์ กำจัด

หลากการกระทำที่เรียกว่า “ทำความดี”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image