ช้อปปิ้ง ‘กระเป๋าไม่ฉีก’ ใช้เงินยังไงให้สิ้นเดือน ‘ไม่สิ้นใจ’

ผ่านพ้นเทศกาลใหญ่ๆ ทั้งปีใหม่ ตรุษจีน และวาเลนไทน์ มาแล้ว ทำเอารายจ่ายมากมาย ทั้งค่าของขวัญ ท่องเที่ยว ปาร์ตี้ ดูจะทำให้เกิดอาการ “ทรัพย์จาง” กันไม่น้อย

เมื่อกระเป๋าสตางค์แห้ง หลายคนจึงต้องเฟ้นหาวิธีการรัดเข็มขัดให้เงินเดือนแต่ละเดือนนั้นอยู่รอดไปจนสิ้นเดือนให้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ “สิ้นใจ” ก่อนจะ “สิ้นเดือน” และเตรียมตัวรับมือกับเทศกาล “สงกรานต์” ที่จะมาถึงในเดือนหน้านี้

แต่ก่อนจะเริ่มคิดหาวิธีป้องกันเงินทองรั่วไหล ก็ต้องเข้าใจเรื่องการใช้เงินของตัวเองให้ดีก่อน เรื่องนี้ ดร.ฉัตรพงษ์ วัฒนจิรัฏฐ์ รองผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษา ลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยไว้ว่า เรื่องการใช้จ่ายตามเทศกาลต่างๆ นั้น ถือเป็นสิ่งที่หลายคนคาดการณ์ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรายจ่ายเรื่องของขวัญ พักร้อนไปท่องเที่ยว หรือรายจ่ายอย่างเรื่องลูก เพียงแต่ในทางจิตวิทยามนุษย์มักมองเห็นสิ่งที่ใกล้ตัวมากกว่า เรียกว่าอาการ MYOPIA หรือสายตาสั้นนั่นเอง ทำให้เราไม่ค่อยจะเตรียมตัวเตรียมการกับการใช้เงินหนักๆ ตามเทศกาลนัก

ไม่เพียงแต่การใช้เงินก้อนใหญ่ๆ ดร.ฉัตรพงษ์เผยว่า การใช้เงินก้อนเล็กๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นรายจ่ายยิบย่อยที่ลืมนึกไป อย่างค่ากาแฟวันละ 30 บาท หากคูณด้วย 250 วันทำงาน ก็เท่ากับ 7,500 บาทต่อปี ถือเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ได้เช่นกัน

Advertisement

wallet-1013789_960_720

เช่นเดียวกับ “ของเซลล์” ที่ล่อตาล่อใจมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ที่แค่เลื่อนสไลด์โทรศัพท์ก็เห็นเพจต่างๆ แชร์ข่าวสินค้าเซลล์ให้เห็นง่ายๆ นั้น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเงินเผยว่า ถือเป็นเรื่องธรรมดาของกลยุทธ์การตลาด จากการวิจัยของศูนย์วิจัยในสหรัฐพบว่าผู้หญิงจะตอบสนองต่อป้ายเซลล์ถึง 23% ขณะที่ผู้ชายจะสนใจเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่สิ่งที่ผู้หญิงจะตัดสินใจซื้อก็เป็นของกินของใช้ หรือหมวดความสวยความงาม ทำให้ห้างต่างๆ นำแผนกเหล่านี้มาไว้ชั้นจี หรือชั้น 1 ที่เห็นได้ง่าย ซื้อได้ง่าย รวมถึงมีบัตรเครดิตโดยเฉพาะ ทำให้มนุษย์ใช้จ่ายโดยไม่คิดเท่าไหร่

“คำแนะนำในการสร้างเกราะป้องกันตัวเองง่ายๆ ไม่ให้ใช้จ่ายนั้นคือต้องมีสติ เปรียบเทียบราคาของที่จะซื้อจากเว็บไซต์ต่างๆ ก่อน อย่างเช่น www.checkraka.com แต่ทั่วไปแล้วก็มักเช็กราคาแค่ของใหญ่ๆ จึงต้องรู้จักหาข้อมูลสิ่งเหล่านั้นก่อน”

Advertisement

“ที่สำคัญคือไม่จ่ายสินค้าด้วยบัตรเครดิต เพราะการจ่ายเงินสดจะทำให้สมองของเราสั่งว่าเราเจ็บปวด กับการสูญเสียทรัพยากร แต่หากใช้บัตรเครดิต สมองจะไม่รับรู้เหมือนเงินสดเพราะเราไม่ได้เห็นเงินที่หายไปจริงๆเหมือนจับจ่ายด้วยเงินสด ทำให้รู้สึกเหมือนได้ของฟรี เราจึงจ่ายได้ง่าย แล้วคนส่วนหนึ่งก็ยังจ่ายบัตรเครดิตไม่ครบตามยอด จากการเก็บข้อมูลพบว่ามีคน 50% จ่ายเงินเต็มจำนวน ขณะที่ 25% จ่ายเพียง 10-15% อีก 20% จ่ายเกือบเต็มจำนวนและ 10% ระบุพฤติกรรมไม่ได้ ซึ่งหลายคนบอกว่าแม้จะมีเงินจ่ายทั้งก้อนแต่ก็ไม่ยอมจ่าย เพราะรู้สึกสูญเสียเงินจำนวนมาก เสียดาย รวมถึงอยากมีทรัพย์สินทางสังคมให้ผู้อื่นเห็นมากกว่า นั่นทำให้คนเลือกจะแอบซ่อนหนี้ไว้ แต่อย่างไรก็ตาม บัตรเครดิตก็มีประโยชน์อย่างการใช้แต้ม สิทธิเฉพาะบัตรต่างๆ ก็ได้”

thai-1549087_960_720

อีกคำแนะนำหนึ่งที่ ดร.ฉัตรพงษ์ให้ไว้ คือ รู้จักจดบันทึกรายรับรายจ่ายแต่ละอย่างไว้ ว่าใช้จ่ายกับเรื่องใดมากเป็นพิเศษ แม้ว่าจะทำได้ยากแต่ก็อาจลองดูสัก 1-2 เดือน ก็จะรู้รายจ่ายตัวเองได้ จากนั้นจึงออมเงินไว้ อาจออมแบบตัดบัญชีเข้ากองทุนต่างๆ ที่สมัยนี้สามารถเบิกออกได้ง่ายและมีผลกำไรที่ดี เพราะหากออมในบัญชีออมทรัพย์ที่ใช้เอทีเอ็มได้ อาจทำให้นำออกมาใช้ง่ายเกินไป และการจดรายรับรายจ่าย จะทำให้รู้ว่าเดือนไหนจะต้องใช้เรื่องใดเป็นพิเศษ

“อย่างเทศกาลที่ต้องมอบของขวัญก็จะสามารถตั้งงบได้ชัดเจน บางคนอาจผันจากนำเงินซื้อของขวัญเป็นทำของดีไอวาย ทำเบเกอรี่มอบให้แทนใจ ทั้งยังอาจเป็นอาชีพเสริมได้ด้วย หรือการท่องเที่ยวที่แต่ละปีคนเรามักใช้เงินประมาณ 1.4 เท่าของเงินเดือนไปกับการท่องเที่ยว เราก็สามารถเก็บเงินก้อนนี้ล่วงหน้า 3-6 เดือนได้ชัดเจน”

เป็นวิธีง่ายๆ ที่ทำให้ไม่ “ถังแตก” ใกล้ๆ เทศกาล

ฉัตรพงศ์  วัฒนจิรัฏฐ์ ธนาคารกสิกรไทย 2 (1)
ดร.ฉัตรพงษ์ วัฒนจิรัฏฐ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image