เปิดสูตรลับมั่งคั่งอย่างยั่งยืน งาน SX2024 วราวุธ ย้ำคนไทยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ช่วยแก้วิกฤต ดร.วิทย์ ชวนเริ่มที่ตัวเรา ปลูกฝังนิสัยมัธยัสถ์
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ SX Grand Plenary Hall ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “Economic Sustainability เปิดสูตรลับพลิกวิกฤต สู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน” ร่วมกับ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน พีรพล เหมศิริรัตน์ และอังคนางค์ จิตรกร ในงานมหกรรมความยั่งยืน Sustainability Expo 2023 (SX2023) งานที่รวบรวมองค์ความรู้ และนวัตกรรมด้านความยั่งยืนเพื่อสร้าง “สมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า” โดยยึดแนวคิดหลักการจัดงาน “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ร่วมในงาน
นายวราวุธ กล่าวในเวทีเสวนาว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกวันนี้ ในฐานะที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีภารกิจดูแลกลุ่มเปราะบาง ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส อย่างเช่นเวลาเกิดปัญหาน้ำท่วม คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนที่โดนก่อน ต่างจากคนกลุ่มบน ซึ่งเวลาเกิดปัญหา อาทิ เมื่ออากาศร้อนก็จะสามารถเปิดแอร์ได้ ฉะนั้นการเข้าไปสร้างความเข้าใจให้พี่น้องประชาชน ให้หันมาใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นกรณีน้ำท่วมในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งปกติจะเป็นน้ำที่ท่วมและไหลผ่านลงไปเร็ว แต่ในปีนี้น้ำที่ไหลเข้ามาจะมีดินโคลนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นการจะสร้างความเข้าใจให้พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่โดนกลุ่มแรกและเป็นกลุ่มที่เราต้องเข้าไปช่วยเป็นกลุ่มแรก เป็นสิ่งที่กระทรวง พม. ได้เข้าไปช่วยเหลือในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา และไม่ใช่แค่กระทรวง พม. เพียงหน่วยงานเดียว แต่ทุกหน่วยงานต้องเข้ามาช่วยเหลือกัน
นายวราวุธ กล่าวว่า วันนี้ต้องบอกว่าเราต้องปรับตั้งแต่หัวยันหาง ตั้งแต่ประชาชน 66 ล้านคน โดยประเทศไทยเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของโลก แต่เวลาเกิดผลกระทบเรากลับมีผลกระทบที่สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน ดังนั้นทุกคนต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ โดยจะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งมี 3 เรื่องที่จะเปลี่ยน คือ 1. เรื่องเงิน เช่นคาร์บอนเครดิต 2. เรื่องกฎหมาย และ 3. ความตาย เช่น เมื่อ 5-6 ปีก่อน มี PM2.5 เริ่มเข้ามา รัฐบาลเตือนให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน แต่ไม่ค่อยมีใครให้ความร่วมมือ แต่พอ โควิด-19 เข้ามา ทุกคนหันมาสวมหน้ากากอนามัย เพราะทุกคนนัันกลัวตาย
นายวราวุธ กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ ที่ตามมา กฎหมายจะต้องรีบออกมา เพื่อเป็นตัวกำหนดว่าธุรกิจแบบใดสามารถมีคาร์บอนฟุตปริ้นได้เท่าไหร่ ดังนั้นสิ่งที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตคน ทั้งกฎหมาย ทั้งภาครัฐ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดจะต้องเริ่มที่ตนเอง เริ่มที่บ้านอย่างเช่น การแยกขยะ โดยบทบาทของกระทรวง พม. ต้องให้โอกาสและให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน เช่น การลดคาร์บอนฟุตปริ้น และสองคือการปรับตัวของมนุษย์ เช่น การออกแบบหลังคาบ้างอย่างไรเมื่อฝนตกหนักมากขึ้น หรือจะทำอย่างไรถ้าอากาศที่ร้อนมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวง พม. มี “นโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร” และในนโยบายที่ 5 นั่นคือ การสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว ฉะนั้นการปรับตัวของคนไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พักอาศัย อาหารการกิน ทุกคนจะต้องเปลี่ยนการดำรงชีวิตเพื่อให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมกับธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทุกคนอย่ามองว่าการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นภาระ แต่มันคือโอกาสในการทำให้เรามีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น
ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้ประกาศข่าวและพิธีกร กล่าวว่า แต่ก่อนผมเป็นคนหนึ่งไม่เคยสนใจเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเลย คนเยอรมันคนหนึ่งคุยกับผมว่า เรื่องนี้คนแก้ไม่ใช่รัฐ โลกนี้คนทุกคนมีอำนาจของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเสมอ ทุกอย่างอยู่ที่เรา หลายอย่างที่เราบริโภคโดยเราไม่รู้ว่ามันกลายเป็นขยะ เช่น เสื้อผ้า ไฟฟ้า ผมจึงปรับเปลี่ยน ผมเชื่อว่า ทุกคนร่วมกัน เรามีอำนาจในการแก้ไขปัญหานี้โดยต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ในมิติเศรษฐกิจ คือโอกาส สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้
“ประเทศพัฒนาแล้วทำทุกประเทศ แต่ประเทศไม่พัฒนาไม่ทำอะไร ที่ผ่านมาเราใช้ทรัพยากรเกินตลอดเวลา ทั้งใช้ไฟเกิน ใช้น้ำเกิน ผมจึงเริ่มต้นอุปนิสัยแบบนี้ คือแยกขยะ และแก้ปัญหา Food Waste ผมพยายามใช้ทรัพยากรให้พอเหมาะกับตัวเรา โดยในแง่ชีวิตทางการเงินผมอยากมีชีวิตที่ดูแลตัวเองได้ และไม่เบียดบังผู้อื่น ผมไม่อยากรบกวนเงินของรัฐ สมมุติหลังเกษียณอายุ 80 ปี ผมต้องมีใช้เงินหลังเกษียณ 20 ปี ผมก็มีชีวิตการเงินที่วางแผน โดยการประหยัดการใช้เงิน คนที่ตระหนักเร็ว คือคนที่มีศักยภาพในการหารายได้ และเก็บเงินไว้ยามเกษียณ เพราะคนที่ดูแลเราได้ดีที่สุด คือเราในวัยหนุ่มสาว ถ้าเราเก็บเงินเพียงพอ ดูแลสุขภาพไม่เป็นภาระให้กับแพทย์ จะไม่เบียดบังใคร ดังนั้น ดูแลตัวเองให้ดีทั้งมิติสุขภาพ การเงิน และเผาโลกใบนี้ให้น้อยที่สุด”
ดร.วิทย์ กล่าวอีกว่า การปรับตัวไม่ต้องตั้งเงื่อนไขเยอะ ผมอยากให้ทำเลย เพราะถ้าเรารอช้าจะไม่ได้ ชาติที่ยิ่งใหญ่มาด้วยคำว่าวินัยทั้งนั้น และนี่คือคุณสมบัติที่จะพาประเทศเดินไปข้างหน้า เริ่มวันนี้ไม่ต้องเยอะ ไม่ต้องใช้อะไรยกเว้นตัวท่านเอง เช่น กินน้ำให้หมดขวด
“ในแง่ภาคธุรกิจ อะไรก็ตามทีละเล็กทีละน้อย ผมเจอหลายๆ องค์กรปรับเล็กๆน้อยๆ ทำได้ แค่ใส่ใจมากขึ้น ในภาคบุคคล เป็นความพิถีพิถันกับชีวิตมากขึ้น ในเรื่องการใช้เงิน แยกระหว่าง want กับ need ชีวิตที่ยั่งยืน ประหยัดเงิน คิดทุกขั้นตอนเพื่อให้เราใช้ทรัพยากรน้อยลง ถ้าเรามีความพิถีพิถันกับชีวิตตัวเอง เราดูแลตัวเองได้ การดูแลสุขภาพคือความยั่งยืน โดยกินอย่างพอควร บริโภคอย่างเหมาะสม อยากให้มีแพชชั่นการเป็นคนที่สมถะ คือ ดีใจที่วันนี้เราประหยัดเงินเท่าไหร่ กินอาหารไม่เหลือกี่มื้อ กินน้ำไม่เหลือกี่ขวด อยากให้เป็นคนที่ใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณภาพสูงสุด ผมเชื่อว่าสิ่งนี้สร้างได้ การกระตุ้นเล็กๆน้อยๆ ประเทศที่เจริญแล้ว เขาไม่ทิ้งขยะเกลื่อนกราด เขาทำได้ อยากให้ปลูกฝังนิสัยไปด้วยกันว่า คนไทยเป็นชาติที่ประหยัดมัธยัสถ์ในทุกเรื่อง ทั้ง 66 ล้านคนต้องช่วยกัน เพื่อที่จะเดินไปได้ โดยสตาร์ชด้วย Butter Me เพราะมันไม่ได้ลงทุนอะไรเลย ให้เริ่มต้นที่ตัวเรา คนญี่ปุ่นพูดว่า พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ แต่ละวันมันปลูกฝังนิสัยที่ดีขึ้น ประเทศที่ทำสิ่งเหล่านี้และทำได้ ล้วนเป็นประเทศที่ยั่งยืนทั้งนั้น ลองทำดู 3 วัน 5 วัน แล้วจะเป็นนิสัย” ดร.วิทย์กล่าว
นายพีรพล เหมศิริรัตน์ ผู้ประกาศข่าวและพิธีกร กล่าวว่า ปัจจุบัน ตัวชี้วัด เราไม่สามารถใช้ GDP เป็นตัววัดได้อีกต่อไปแล้ว เพราะตัวชี้วัดจะกำหนดพฤติกรรม ถ้าตัวชี้วัดผิด เราจะไม่ได้แก้ปัญหาที่ถูกต้อง ทักษะที่สำคัญ คือ ความรู้คือพลังอำนาจ การที่เราพัฒนาสร้างให้คนมีความรู้ ขจัดความไม่รู้ออกไป จะช่วยให้เราสามารถรับมือได้กับสถานการณ์
“คนให้ความสนใจมากขึ้นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ความท้ายทายของปัจจุบันคือเปลี่ยนจากความตระหนักไปเป็นความเข้าใจ เพราะแต่ละคนมีเรื่องที่ตัวเองอินแตกต่างกัน สิ่งสำคัญคือมายด์เซ็ท อยากให้คิดดูว่า เพราะเราไม่แยกขยะหรือเปล่า เขาจึงเอามารวมกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องขยับเขยื้อนไปทุกภาคส่วน การที่จะทำให้เราแก้ไขเร็วกว่าเดิม อาจจะต้องมีการพูดถึงเรื่องกฎหมาย นโยบาย เพราะทุกวันนี้เป็นบริบทของโลกที่ภาคธุรกิจต้องปรับกันแล้ว อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกคนค้นหาความรู้ใส่ตัว เพราะคนที่รู้ลึกมันเท่มากๆ เลย เราอยากทำคอนเทนต์ที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อขจัดความไม่รู้ไม่รู้ เพื่อทำให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งแวดล้อม กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ” นายพีรพล กล่าว