ทำดีแล้วได้อะไรตอบแทน! คนรางวัลนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น ประจำปี 2558

ทำความดีแล้วได้อะไรตอบแทน? เป็นคำถามที่หาคำตอบได้ ในงานพิธีประกาศเกียรติคุณนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น ประจำปี 2558 และงานประชุมวิชาการเนื่องในวันปกรณ์”59 ซึ่งมี นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธาน จัดโดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ร่วมกับสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ สภาสตรีแห่งชาติฯ และภาคีเครือข่าย ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ

นายพลากรกล่าวในการเป็นประธานเปิดงานตอนหนึ่งว่า “งานสังคมสงเคราะห์เป็นงานที่มีเกียรติและสำคัญต่อประเทศชาติ ถือเป็นวิชาชีพที่ต้องทำงานช่วยเหลือและรับผิดชอบโดยตรงต่อปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนในสังคม เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมั่นคง”

ในปีนี้มีนักสังคมสงเคราะห์ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ จำนวน 23 ราย ภายหลังเสร็จพิธีทุกคนต่างมีสีหน้ายิ้มแย้ม รุมล้อมผู้คนที่มาร่วมแสดงความดีใจ ราวกับความดีที่เขาทำมาได้ออกดอกผลเต็มที่ เป็นอย่างไร

นางวรรณดี บัวภา อายุ 57 ปี ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงชลบุรี ได้รับโล่ประเภทนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ เล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า ผลงานที่ภาคภูมิใจล่าสุดคือโครงการนวดดัดจัดสรีระ โดยให้ผู้ต้องขังหญิงเข้ารับการอบรมการนวดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นพาออกไปให้บริการประชาชนภายนอก ตอนแรกมุ่งหวังให้เขาได้เรียนรู้ปรับตัวกับสังคมภายนอก แต่ปรากฏว่าผลตอบรับดี ประชาชนเริ่มเห็นคุณค่าและให้โอกาสผู้ต้องขัง ขณะที่ผู้ต้องขังก็เริ่มเห็นคุณค่าในตัวเอง

Advertisement

วรรณดีเชื่อว่าหากผู้ต้องขังได้ทำอะไรเพื่อสังคม สักวันหนึ่งสังคมจะเปิดใจยอมรับ ผู้ต้องขังเองก็จะรู้สึกมีคุณค่า มีที่ยืน ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ต้องขัง ด้วยการปลูกฝังแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ประหยัดอดออม สอนสร้างอาชีพ ให้ผู้ต้องขังยืนได้ด้วยตนเองเมื่อได้รับอิสระ ไม่หวนกลับมาอยู่คุกซ้ำ เธอทำจริงจังจนศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในสถานกักขังแห่งแรกของกรมราชทัณฑ์

“การได้เห็นว่าผู้ต้องขังที่พ้นออกไปจะไม่กลับมาซ้ำ ทำให้เขาออกไปแล้วมีที่ยืนในสังคม แม้อาจไม่สำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่แค่ 1 ใน 100 ดิฉันก็ดีใจ แค่นี้ก็เป็นกำลังใจให้ทำงานต่อไปแล้ว” นางวรรณดีเล่า

ขณะที่ นางสุดใจ นาคเพียร หรือครูแตน อายุ 49 ปี ผู้อำนวยการสถานสงเคราะห์เด็กพักพิงคุ้มภัยชลบุรี ได้รับโล่ประเภทผู้ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ เล่าว่า ช่วยเหลือคนพิการด้วยการสร้างแรงบันดาลใจให้ทำงานและใช้ชีวิตปกติ รวมถึงช่วยเด็กเร่ร่อนที่ไม่มีใครดูแล ทำให้เขาได้กลับเนื้อกลับตัวและได้รับการพัฒนาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็มีความยากง่ายแตกต่างกันไป

Advertisement

ที่ผ่านมาสุดใจจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กเร่ร่อน เพื่อให้เด็กเร่ร่อนได้เข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่รัฐได้จัดบริการ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล ไม่เพียงเท่านั้นยังเปิดศูนย์บ้านเล็กในป่าใหญ่ เพื่อเป็นที่พักพิงให้เด็กเร่ร่อน เธอยังเป็นผู้นำการจัดตั้งกลุ่มช่วยเหลือเด็กที่อาศัยอยู่ในเมืองพัทยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเด็กเร่ร่อนขยายตัวสูงมาก และอาจเสี่ยงกับปัญหาค้ามนุษย์ตามมา เธอยอมรับว่าที่ทำได้ตรงนี้มีท้อ มีอุปสรรคมาตลอด ที่ผ่านมาได้เพราะมีเครือข่ายคอยช่วยทำงานและสร้างกำลังใจ

“อนาคตจะขยายเครือข่ายทำงานให้มากขึ้นโดยเฉพาะกับองค์กรต่างชาติ เพราะปัญหาเด็กเร่ร่อนยิ่งรุนแรงขึ้นทุกวันตามยุคสมัย และอีกหน่อยยังต้องรองรับกับเด็กต่างชาติที่เข้ามาจากการเปิดประชาคมอาเซียน อย่างไรก็ดี รางวัลนี้เป็นเหมือนการชาร์จไฟ เป็นตัวการันตีว่าสิ่งที่ทำมาไม่ได้สูญเปล่า ทำให้รู้สึกว่าต้องทำสิ่งที่ทำให้ได้มาตรฐานต่อไปกับงานด้านสังคมสงเคราะห์” นางสุดใจกล่าว

มาเริ่มทำดีเพื่อสังคม

 

12698662_1097228300321229_6560753435296424315_o

วรรณดี บัวภา (1)

วรรณดี บัวภา (6)

วรรณดี บัวภา

สุดใจ นาคเพียร (1)

สุดใจ นาคเพียร (3)

สุดใจ นาคเพียร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image