นักวิจัยติดกล้องไว้ที่ ‘โลมา’ นอกชายฝั่งนิวซีแลนด์ เพื่อศึกษาการใช้ชีวิต

(ภาพ-University of Sydney)

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์และมหาวิทยาลัยแห่งอลาสกาเซาธ์อีสต์ ทดลองติดกล้องไว้กับกระโดงของโลมาบริเวณนอกชายฝั่งของประเทศนิวซีแลนด์จำนวน 8 ตัว พร้อมกับเสาอากาศที่ใช้แป้นยางสุญญากาศติดไว้กับตัวโลมา เพื่อเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน ส่งผลให้ทีมวิจัยได้วิดีโอทรงคุณค่าทางวิชาการนานกว่า 8 ชั่วโมง

กล้องดังกล่าวมีแบตเตอรี่ที่ทำงานได้เพียง 6 ชั่วโมง แต่มีระบบกำหนดตำแหน่งด้วยดาวเทียม (จีพีเอส) และอุปกรณ์ตรวจจับความลึกติดตั้งอยู่ด้วย ผลลัพธ์ที่ได้พร้อมทั้งวิดีโอบางส่วนถูกนำเสนอผ่านวารสารเจอร์นัล มารีน ไบโอโลจี เมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นถึงสภาพการใช้ชีวิตในธรรมชาติอย่างแท้จริงในมุมมองของโลมา โดยปราศจากสิ่งรบกวนภายนอกใดๆ ให้เห็นเป็นครั้งแรก อาทิ การแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบซึ่งกันและกันระหว่างแม่โลมากับลูก, ภาพการเล่นสนุกของโลมาในดงสาหร่ายเคลป์ หรือสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล และพฤติกรรมแสดงความใกล้ชิดซึ่งกันและกันระหว่างโลมาที่คุ้นเคยกัน ด้วยการใช้ครีบถูกันไปมา เป็นต้น

ไฮดี เพียร์สัน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านโลมา ของมหาวิทยาลัยอลาสกาเซาธ์อีสต์ อธิบายว่า เมื่อสังเกตการณ์จากผิวน้ำนั้นนักวิทยาศาสตร์ได้เห็นพฤติกรรมของโลมาเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ของพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของมัน การได้เห็นการใช้ชีวิตจริงๆ ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ในมุมมองของโลมา โดยปราศจากการรบกวนใดๆ ช่วยสร้างความเข้าใจสิ่งที่ท้าทายต่างๆ ที่โลมาเผชิญในพื้นที่อยู่อาศัยของมัน ทั้งยังช่วยให้นักอนุรักษ์เข้าใจภาวะเครียดที่เกิดกับโลมาเมื่อมีสิ่งรบกวนจากภายนอก ตั้งแต่การเดินเรือหรือการพัฒนาชายฝั่งได้มากขึ้น

และเนื่องจากโลมาเป็นสัตว์นักล่าที่อยู่บนสุดในห่วงโซ่อาหาร การเข้าใจโลกของโลมาได้มากขึ้นก็จะช่วยสร้างความเข้าใจในระบบนิเวศทางทะเลและหาช่องทางอนุรักษ์ได้มากขึ้นนั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image