ยูเอ็นประกาศธีมวันสตรีสากลโลก 2560 #BeBoldForChange ผู้หญิงกล้าเปลี่ยนแปลง

แม้ผลสำรวจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ในประเด็นอาชีพและรายได้ โดยสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum ประจำปี 2559 ชี้ให้เห็นว่าความเท่าเทียมทางเพศจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้จริงในปี 2729 หรืออีก 169 ปีข้างหน้า แต่ในสังคมปัจจุบันผู้หญิงได้มีการพัฒนาศักยภาพตนเองในหลายด้าน เพื่อที่จะเดินตามความฝัน อีกทั้งสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมโดยรวมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้หญิงทั่วโลกที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง จึงมีการจัดตั้งวันสตรีสากลโลกขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี

#BeBoldForChange คือ ธีมสำหรับ วันสตรีสากลโลกในปี 2560 ประกาศโดยสหประชาชาติ มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้หญิงมีความกล้าที่จะลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง พร้อมกับสร้างความเท่าเทียมทางเพศในด้านที่ตนถนัด

beboldforchange-2
ดังเช่นผู้หญิง 2 คนนี้ ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการลงมือทำ ภายใต้โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ Banpu Champions for Change โดยบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสถาบัน Change Fusion

อุ๋ย-นิโลบล ประมาณ คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯและมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ แต่ตัดสินใจทิ้งความศิวิไลซ์ในเมือง กลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตน คือ ชุมชนตำบลน้ำชำ จ.แพร่ ทำกิจกรรมเพื่อสังคม “Happy Field, Happy Farm” ที่มุ่งเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรในชุมชน ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตราสินค้า และการตลาด เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรโดนกดราคาและผลผลิตตกต่ำ ปัจจุบัน Happy Field, Happy Farm กำลังจะขยายความช่วยเหลือไปสู่ชุมชนและจังหวัดอื่นๆ เพื่อให้ความรู้เกษตรกร ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ให้รู้จักพัฒนาผลิตผลของตนให้ทันโลกปัจจุบัน

Advertisement

“หนึ่งในความภูมิใจของคุณอุ๋ย คือการได้เป็นส่วนหนึ่งในแรงขับเคลื่อนให้ชาวบ้านทุกคนกล้าที่จะลุกขึ้นมาเรียนรู้ ผันตนเองเป็นนักเปลี่ยนแปลง เข้ามาช่วยพัฒนาชุมชน” นิโลบลกล่าว

อุ๋ย - นิโลบล ประมาณ ผู้ร่วมก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม Happy Field, Happy Farm

อีกหนึ่งพลังผู้หญิง วิ-วินัดดา จ่าพา จากกิจการเพื่อสังคม “Relationflip” ดำเนินธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นที่พึ่งทางใจให้แก่ผู้มีปัญหาทางด้านจิตใจ นับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงมากในสังคมไทยและยังต้องการการเข้าถึงข้อมูลและการรักษาอย่างถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญ ปัจจุบัน Relationflip ได้พัฒนาระบบออนไลน์ที่พร้อมให้คำปรึกษาแก่พนักงานออฟฟิศซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

Advertisement

“จากประสบการณ์ในธุรกิจสตาร์ตอัพที่มีผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจมากขึ้น สามารถทำงานได้อย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย วิเชื่อว่าปัจจุบันกำแพงหรืออุปสรรคที่เป็นเส้นแบ่งกั้นทางเพศนั้นแทบจะทลายลงไปหมดแล้ว” วินัดดากล่าว

วิ - วินัดดา จ่าพา (กลาง) ผู้ร่วมก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม Relationflip

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงโดยกิจการเพื่อสังคมเหล่านี้อาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงโดยตรงเพื่อแก้ปัญหาความเท่าเทียมทางเพศ แต่ก็นับเป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า หากผู้หญิงทุกคนเปิดรับที่จะเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เมื่อพลังของหลายคนรวมกันเป็นเครือข่าย ก็จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างยั่งยืน รวมไปถึงสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

 

 

 

ขอบคุณภาพจาก www.internationalwomensday.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image