‘นาซา’ เชื่อมีวิธีสร้างบรรยากาศให้ดาวอังคาร

(ภาพ-NASA Goddard Space Flight Centre)

ทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา นำเสนอแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมบนดาวอังคารที่เย็นและแห้งแล้งให้กลายเป็นตรงกันข้าม เหมาะสมกับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต และพร้อมที่จะเป็นอาณานิคมในห้วงอวกาศของมนุษยชาติ

ดร.จิม กรีน ผู้อำนวยการแผนกวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ของนาซา เป็นผู้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวนี้ในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยวิสัยทัศน์วิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ 2050 เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยยืนยันว่ามีการใช้แบบจำลองในคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบแล้วพบว่าแนวคิดดังกล่าวมีความเป็นไปได้

ตามแนวคิดของนาซา ทุกอย่างเริ่มต้นทำสนามพลังแม่เหล็กเทียมขนาดยักษ์ขึ้นมาแล้วส่งขึ้นสู่อวกาศไปเป็นแผงกั้นอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวอังคาร เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันดาวอังคารจากลมสุริยะ (โซลาร์วินด์) หรือกระแสคลื่นอนุภาคที่มีประจุซึ่งถูกปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์ด้วยความเร็วสูงไม่ให้เดินทางเข้ามาถึงตัวดาวอังคาร

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ครั้งหนึ่งเมื่อหลายพันล้านปีมาแล้ว ดาวอังคารเคยมีสนามแม่เหล็กเหมือนเช่นที่โลกมี ซึ่งทำหน้าที่เป็นสนามพลังป้องกันไม่ให้อนุภาคจากโซลาร์วินด์เดินทางถึงดาวอังคาร ทำให้ดาวอังคารเคยมีบรรยากาศหนาแน่นกว่าที่เป็นอยู่ มีอุณหภูมิพื้นผิวอุ่นกว่าที่เป็นอยู่จนทำให้น้ำสามารถคงอยู่ในสถานะของเหลวได้ ก่อนที่สนามแม่เหล็กดังกล่าวจะเสื่อมลง ส่งผลให้อนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์หลุดเข้ามากัดกร่อนบรรยากาศ จนทำให้ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารเจือจางลงและสูญเสียไปทั้งหมดในที่สุด

Advertisement

การสร้างสนามแม่เหล็กเทียมขึ้นมา จะช่วยป้องกันการกัดกร่อนที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศของดาวอังคารทั้งในชั้นไอโอโนสเฟียร์และบรรยากาศระดับบนอื่นๆ เปิดโอกาสให้บรรยากาศของดาวอังคารมีแรงดันมากขึ้นและมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป ดร.จิม กรีน อธิบายต่อว่า หากสนามพลังแม่เหล็กดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนทิศทางได้ เพื่อให้การป้องกันมีประสิทธิภาพ ก็จะยับยั้งการสูญเสียชั้นบรรยากาศของดาวอังคารลง และตามแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ บรรยากาศของดาวอังคารจะกลับมามีแรงดันราวครึ่งหนึ่งของโลกภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี

เมื่อชั้นบรรยากาศหนาแน่นขึ้น ภูมิอากาศบนพื้นผิวจะอุ่นขึ้นมาอยู่ในระดับราว 4 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงพอที่จะทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ที่เคยอยู่ในสถานะเย็นจัดจนเป็นน้ำแข็งบริเวณขั้วเหนือละลายออกมา ทำให้บรรยากาศของดาวอังคารมีองค์ประกอบของคาร์บอนมากขึ้น ซึ่งจะทำหน้าที่สร้างสภาวะเรือนกระจกขึ้นบนดาวอังคาร คือ กักความร้อนไว้ให้อยู่ระหว่างชั้นบรรยากาศกับพื้นผิว ส่งผลให้พื้นผิวดาวอังคารอุ่นมากขึ้นไปอีกจนน้ำแข็งละลาย คงสภาพเป็นน้ำ ก่อให้เกิดแม่น้ำและมหาสมุทรขึ้นตามมา

หากทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดหมาย นักวิทยาศาสตร์ของนาซาเชื่อว่า ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 2-3 ชั่วอายุคน ดาวอังคารจะกลับมามีบรรยากาศที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตแบบเดียวกับโลกเหมือนที่ครั้งหนึ่งเคยมี

ดร.จิม กรีน ยอมรับว่าทุกอย่างยังคงเป็นจินตนาการที่อยู่บนพื้นฐานทางฟิสิกส์ และยังไม่มีแนวทางใดๆ ที่จะสร้างสนามแม่เหล็กขนาดยักษ์ดังกล่าว แต่ในทางทฤษฎีแล้วทุกอย่างเป็นไปได้บนพื้นฐานทางวิชาการที่โลกมีอยู่ในเวลานี้ โดยชี้ว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซาเองกำลังอยู่ระหว่างการวิจัยเพื่อสร้างสนามแม่เหล็กเทียมทรงกลมขนาดเล็กขึ้นมาให้ทำหน้าที่คุ้มครองนักบินอวกาศและยานอวกาศจากการแผ่รังสีในห้วงอวกาศอยู่แล้ว และคิดว่าเทคโนโลยีเดียวกันสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างสนามแม่เหล็กให้กับดาวอังคารได้ เพียงขยายขนาดให้กลายเป็นสนามพลังมหึมาขึ้นเท่านั้น

ดร.จิม กรีน ระบุว่า ทางทีมตั้งเป้าจะศึกษาเพื่อดูความเป็นไปได้ของกระบวนการทั้งหมดและหาประมาณการที่แม่นยำกว่าเดิมว่าการฟื้นฟูบรรยากาศจะใช้เวลามากน้อยเพียงใดต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image