“สุภาวดี หาญเมธี” 3ทศวรรษ รักลูกกรุ๊ป ที่สุดของการทำงาน ขอดันทักษะ EF ให้งอกงามในสังคมไทย

อุทิศตนให้กับงานแม่และเด็กมาอย่างยาวนานถึง 3 ทศวรรษ สำหรับ “สุภาวดี หาญเมธี” ประธานสถาบันอาร์แอลจี ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท รักลูก กรุ๊ป

ตลอดระยะเวลา เธอให้ความสำคัญกับ “การเรียนรู้ของคน” โดยทำสื่อในรูปแบบต่างๆ ทั้งนิตยสาร พ็อคเก็ตบุ๊ก ตลอดจนสื่อทีวี-วิทยุ รวมถึงงานออกแบบจัดสร้างและบริหารแหล่งเรียนรู้ ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัวไปสู่การเรียนรู้สังคม ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ สถาบัน มูลนิธิ และการจัดอบรมสัมมนา

“คำขวัญของเรา คือ การเรียนรู้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เลิร์นนิ่ง เมก เชนจ์ (Learning make change)” สุภาวดีบอกถึงปณิธานของกลุ่มบริษัท รักลูกกรุ๊ป ที่ยึดเป็นแนวทางในการทำงานด้านนี้มาตลอด

“เพราะถ้าคนเรียนรู้ เข้าใจสภาพทั้งของตัวเองและสิ่งรอบตัว สามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ได้ว่า ปัญหามาจากอะไร หรือมีจุดแข็งจุดดีอย่างไร จะทำให้เห็นทิศทางที่เดินต่อไปข้างหน้า ไม่มีใครอยากอยู่ที่เดิม ไม่มีใครอยากอยู่กับปัญหา ทุกคนอยากก้าวขึ้นไปทั้งนั้น” เธออธิบาย

Advertisement

คร่ำหวอดในวงการมานาน จึงทำให้สุภาวดีบอกได้ว่าการเรียนรู้หรือการเรียนการสอนเด็กไทยทุกวันนี้ไม่ได้ทำให้เด็กฉลาด ทั้งที่จริงๆ แล้ว “เด็กไทยไม่ได้โง่เลย”

“อันดับแรก เราต้องตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ว่า เราตระหนักจริงๆ ไหมว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว แต่เราก็ยังไม่ตระหนักว่าเราต้องเปลี่ยน เรายังสอนสิ่งที่สอนกันมา 20 ปี บางเรื่อง 50 ปีด้วยซ้ำ ซึ่งไม่ได้”

อย่างเรื่องนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 2 ชั่วโมงต่อวัน เธอชี้ว่า “นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ยังไม่ไปถึงผลสัมฤทธิ์”

Advertisement

“ตั้งแต่ 8 โมงถึงบ่าย 2 เรายังสอนให้เด็กเรียนรู้แบบท่องจำ เขามีหน้าที่อินพุตเข้าไปเท่านั้น ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนการสอนที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายปลายทางของเราที่อยากให้เขาคิดเป็น สร้างสรรค์เป็น และทำเป็น”

เข้าทำนอง “จดแล้วท่อง ท่องแล้วจำ จำแล้วสอบ สอบแล้วลืม”

“แล้วพอตั้งแต่บ่าย 2 เป็นต้นไป ค่อยเปิดให้เด็กเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ เวลาเพียงชั่วโมงครึ่งสองชั่วโมง ช่วยได้น้อยมาก แม้จะดีกว่าที่เป็นมา แต่จะดีขึ้นนิดหน่อยเท่านั้น”

วิธีที่ดีที่สุดคือต้องเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนไม่ใช่แค่ 1-2 ชั่วโมงก่อนเลิกเรียน แต่ต้องทำทั้ง 8 ชั่วโมง

“การเรียนสมัยนี้ ครูต้องสอนให้เด็กเรียนและเกิดแรงบันดาลใจ ให้เขารู้จักตัวเองว่าเรียนหนังสือไปแล้วรู้ว่าอยากทำอยากเป็นอะไร จากนั้นสอนให้เด็กเป็นคนรักการเรียนรู้ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน สอนให้มีทักษะแสวงหาความรู้ และสังเคราะห์ความรู้ และสุดท้ายสอนให้มีทักษะในการกลั่นกรองและรู้เท่าทัน”

“ถ้ากระบวนการตั้งแต่เช้าเป็นการสอนในลักษณะนี้ สอนให้เด็กได้คิด ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข เรียนอย่างมีแรงบันดาลใจ

ได้ลงมือทำ เลิร์นนิ่ง บาย ดูอิ้ง (Learning by doing) แล้วได้มีสุขภาพดีในการเคลื่อนไหว ถ้าทำทั้งวัน ประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองแน่นอน”

a357

ทำงานด้านการศึกษา เด็ก ครอบครัวมา 33 ปีนับได้ว่า สุภาวดีเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่นำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับสังคมไทย และในวัยใกล้เกษียณ มี “งานสุดท้าย” ที่เธอมุ่งมั่นตั้งใจอยากจะทำให้ “งอกงาม” ขึ้นในสังคมไทย กับองค์ความรู้ “ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ” ด้วยการพัฒนา “Executive Functions” หรือ “EF” ทักษะสมองที่เป็นมากกว่า IQ และจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับใช้จัดการชีวิตในยุคปัจจุบัน ทำให้เด็กไทยรู้จักรับมือกับโลกยุคใหม่ จัดการตัวเองได้ อยู่กับคนอื่นเป็น และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

“จากการที่เฝ้าสังเกตสังคม เรารู้สึกว่าทักษะ EF ตอบโจทย์สังคมไทย เมื่อตอบโจทย์ก็ต้องทำ และขอทำเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้ายในชีวิตก่อนตาย เพราะรู้สึกว่าใช่เลย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็พยายามศึกษาหลายทฤษฎี แต่พอมาเจอ EF ซึ่งเป็นรากฐานของคนจริงๆ เรื่องนี้คือที่สุดของที่สุดแล้ว”

สุภาวดีอธิบายว่า ทักษะ “EF” คือ ทักษะพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่สามารถอธิบายได้ โดยกระบวนการวิทยาศาสตร์ว่าทักษะเหล่านี้เมื่อได้รับการฝึกฝนหรือปลูกฝังไปแล้ว มันจะฝังคงอยู่ จนกลายเป็นลักษณะนิสัยของคน และเป็นทักษะที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยอมรับแล้วว่าเป็นทักษะที่นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต แก้ปัญหาได้ คิดเป็น วิเคราะห์เป็น ทำเป็น สามารถอยู่กับโลกในศตวรรษที่ 21 ได้

ทักษะ “EF” มี 9 ด้าน ได้แก่ 1.การเรียนรู้จากประสบการณ์ที่หลากหลาย จนเกิดเป็นความจำที่นำมาใช้งานต่อไป ไม่ใช่การท่องจำที่จำแบบตายตัว แต่เป็นการจำ ที่เอามาพลิกแพลง ประยุกต์ 2.การยั้งคิดไตร่ตรอง เป็นทักษะที่เมื่อเผชิญอะไรก็ตามจะหยุดก่อนคิดไตร่ตรองว่าดีไม่ดี ควรไม่ควร แล้วเมื่อทำไปแล้วจะเกิดเหตุเกิดผลอะไรขึ้นมา เมื่อเข้าใจแล้ว จึงตัดสินใจทำ ก็จะไม่เกิดหุนหันพลันแล่น ไม่ทำอะไรตามใจตัวเอง

3.เรื่องทักษะคิดแบบยืดหยุ่น ไม่ตายตัว การที่เป็นคนที่ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ มันสอดคล้องอย่างยิ่งกับสภาพของศตวรรษที่ 21 ซึ่งเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้าเราเป็นคนที่ปรับตัวได้ง่าย ก็จะทำให้ชีวิตหาความสุขได้ง่าย

4.เรื่องของการจะทำอะไรแล้วใจจดใจจ่อใส่ใจกับมัน ซึ่งอันนี้สำคัญมาก ถ้าไม่ใส่ใจจดจ่อ ทำอะไรก็ไม่สำเร็จสักอย่าง 5.การควบคุมอารมณ์ หรือ EQ คนเราโกรธได้เสียใจได้แต่ต้องอย่าไปเยอะ กลับมานิ่งได้ การควบคุมอารมณ์ต้องฝึก เพราะเด็กบางคนควบคุมอารมณ์ไม่ได้ 6.การประเมินตัวเอง เด็กต้องมีทักษะ บอกได้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร ทักษะตรงนี้จะพัฒนาต่อไปถึงการทำงาน เขาจะบอกได้ว่าชอบ ไม่ชอบอะไร ซึ่งตรงนี้นำไปสู่การมีความภาคภูมิใจในตนเอง รู้จักคุณค่าในตัวเอง ซึ่งต้องฝึกตั้งแต่เด็กๆ

7.การริเริ่ม ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง การกล้าคิดกล้าทำ 8.การวางแผน เป็นทักษะที่แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็วางแผนได้ 9.ความพากเพียร คนที่ทำอะไรไม่ค่อยสำเร็จ ทำไปหน่อย ยากไม่ทำ เหนื่อยไม่ทำ หรือทำไปแล้วล้มและลุกไม่ขึ้นเลย แต่เราต้องการเด็กที่ล้มแล้วลุกขึ้น เพราะในชีวิตคนเรา เราจะล้มบ่อยมากในศตวรรษที่ 21 ซึ่งการจะลุกใหม่ได้ต้องมีแรงบันดาลใจ ต้องมีทักษะที่จะลุกด้วย

“ลองไปเช็กดูคนที่ประสบความสำเร็จทั้งหมดจะมีทักษะพวกนี้ เป็นสิ่งที่เด็กทุกคนในโลกต้องการ

EF

และตอนนี้ทั้งโลกกำลังสนใจเรื่องนี้ ไม่ใช่เฉพาะเรา แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องสอนตั้งแต่ 0-6 ขวบแรก ถ้าฝังก่อน 6 ขวบได้ ลักษณะนิสัยนี้จะอยู่ยั้งยืนยง แต่ถ้าไปฝังตอนหลังได้เหมือนกัน แต่ไม่เท่ากับฝึกในวัยอนุบาลทุกวัน”

ซึ่งทักษะทั้งหมดนี้ สุภาวดียืนยันว่าไม่จำเป็นต้องใช้การเรียนการสอนหรือการฝึกที่เว่อร์วังอลังการ เพราะเป็นเรื่อง “เบสิกของความเป็นมนุษย์”

“ทักษะ EF คือทักษะที่เราพากันกลับมาสู่พื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และตรงนี้จะทำให้เขาฉลาด จะทำให้เขาเก่ง เพราะมีงานวิจัยว่า เด็กที่มี EF ดี จะมี IQ ดีไปด้วย เป็นทักษะที่ประหยัด ราคาถูก และทุกคนทำได้ พ่อแม่สอนได้ ให้ลูกทำสวน ทำงานบ้าน ทำกับข้าว เช็ดรถ ล้างจาน ทำได้หมดเลย อีกเทคนิคที่สำคัญคือ คุยกับลูกเยอะๆ อ่านหนังสือให้ลูกฟัง และพออ่านเสร็จปุ๊บ ให้พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับเนื้อหานิทาน เพื่อให้เด็กคิด เป็นเรื่องง่ายๆ หมดเลย ไม่มีใครต้องจ่ายตังค์เรียนพิเศษ หรือใช้อุปกรณ์แพงๆ มาเสริม พ่อแม่ใช้ทุกอย่างที่มีอยู่ในบ้านได้หมด พัฒนาทักษะ EF ลูก เล่นกับลูก แต่ขอให้มีเวลา ทุกอย่างกลับไปสู่เบสิก แต่ได้ผลมาก”

“เรื่องนี้คือที่สุดของที่สุดแล้ว อยากดันเรื่องนี้เพราะจะทำให้เด็กไทยเข้มแข็งเป็นผู้ที่สามารถนำพาตนเองและสังคมประสบความสำเร็จ ดำรงชีวิตรอดอย่างมีคุณภาพในโลกศตวรรษที่ 21” สุภาวดีทิ้งท้าย

 

_DSC6735

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image