เธอ…ถูกลวนลามบนรถเมล์ เปิดสถิติสุดอึ้ง! ผู้หญิง ‘เหยื่อ’ หื่น

“ตอนอยู่ชั้น ม.3 ดิฉันนั่งรถเมล์กลับจากเรียนพิเศษ จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิช่วงกลางวัน ตอนนั้นใส่ชุดนักเรียนนั่งอยู่ริมหน้าต่างที่เป็นเบาะนั่ง 2 คน”

คำบอกเล่าของ นางสาวนนทจรรย์ ประกอบทรัพย์ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ที่เธอถูกลวนลามบนรถเมล์ขณะกำลังกลับบ้าน

“ต่อมามีผู้ชายคนหนึ่งมานั่งข้างๆ จู่ๆ เขาก็เอาหนังสือพิมพ์มาวางที่ตักและเกยมาที่หน้าขาดิฉัน” จังหวะนั้นหญิงสาวไม่ได้เอะใจอะไร จนกระทั่งจะหยิบของในกระเป๋า ก็พบว่ามือของผู้ชายคนข้างๆ มาวางบนตักของเธอ

“ตอนนั้นโกรธมาก!” เธอว่า แต่ด้วยความกลัวจึงไม่กล้าทำหรือส่งเสียงอะไรออกไป ได้แต่มองหน้าด้วยความโกรธ จนฝ่ายชายถอนมือกลับและลุกไปนั่งที่อื่น และลงรถเมล์ไปในที่สุด

Advertisement

ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ตรงที่ “นนทจรรย์ ประกอบทรัพย์” ยินดีถ่ายทอดเพื่อเป็นอุทาหรณ์ในงานเสวนา “คนกรุงเทพฯ จะเดินทางอย่างปลอดภัยไร้การคุกคามทางเพศได้อย่างไร?” กิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2560 ภายใต้แคมเปญ “เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง” จัดโดยเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ร่วมกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชมรมพนักงานสอบสวนหญิง และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ณ บริเวณเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

นนทจรรย์ ประกอบทรัพย์ (1)
นนทจรรย์ ประกอบทรัพย์

นนทจรรย์เล่าต่อว่า ส่วนหนึ่งที่ไม่กล้าเรียกร้องออกไป เนื่องจากพนักงานเก็บค่าโดยสารเป็นผู้ชายวัยรุ่น ซึ่งเขาอาจไม่เข้าใจ เพราะต้องยอมรับว่าค่านิยมของไทยเมื่อผู้หญิงถูกลวนลาม ก็จะตั้งคำถามว่าไปทำอะไรมา ยั่วเขาหรือเปล่า จึงไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง

“แต่ตอนนี้มองย้อนไปก็รู้สึกเสียดายว่าทำไมไม่ส่งเสียงออกไปวันนั้น” นิสิตสาวรั้วจามจุรีกล่าว แล้วสะท้อนทิ้งท้ายว่า หลายคนยังไม่รู้จักการคุกคามทางเพศ อาจเคยประสบและปล่อยผ่านไป ก็อยากให้รู้ว่านี่คือภัยใกล้ตัวที่ไม่ว่าเพศไหนก็สามารถถูกกระทำได้

Advertisement

S__64536610

สอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯและปริมณฑล ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม 2559 จัดทำโดยแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 1,500 คน เคยถูกคุกคามทางเพศขณะเดินทางหรือใช้บริการขนส่งสาธารณะ พบมากสุดคือพูดแซว พูดลามก รองลงมาคือผิวปากใส่ ลวนลามด้วยสายตา แตะเนื้อต้องตัว หรือใช้อวัยวะถูไถ โชว์อวัยวะเพศหรือสำเร็จความใคร่ให้ดู สะกดรอยตาม กระทั่งโชว์คลิปโป๊หรือแอบถ่าย แต่ที่สำคัญเมื่อประสบเหตุแล้ว ส่วนใหญ่จะตอบโต้ด้วยการนิ่ง หรือแค่ชักสีหน้าไม่พอใจ และมีเพียง 1 ใน 10 ที่จะไปแจ้งตำรวจ

thaihealth_beghikmnqrx4

นางกุสุมา จันทร์มูล พนักงานเดินรถ ขสมก. กล่าวว่า การคุกคามทางเพศบนรถเมล์ ส่วนใหญ่จะเกิดเพียงบางสายรถเมล์ที่ผ่านสถานที่ อาทิ สนามหลวง เท่านั้น อย่างตอนเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารก็เจอเหตุการณ์นี้กับผู้โดยสารหลายท่าน อย่างครั้งหนึ่งเคยเจอผู้โดยสารหญิงท่านหนึ่งกระโปรงเปื้อนคราบอสุจิ ซึ่งตนก็ถามไปว่าจะให้แจ้งความไหม พวกเธอก็ปฏิเสธเพราะรู้สึกอับอายไม่อยากให้เป็นเรื่องเป็นราว หรือไม่ก็บอกว่ารีบไปทำงานและปล่อยเหตุการณ์ผ่านไป แต่อย่างไรก็ดี พนักงานเก็บค่าโดยสารสมัยนี้ นอกจากมีหน้าที่เก็บเงิน เรายังดูแลความปลอดภัย การเจ็บป่วยและการคุกคามทางเพศที่จะเกิดขึ้นกับผู้โดยสาร

พ.ต.อ.ญ.ฉัตรแก้ว วรรณฉวี ประธานชมรมพนักงานสอบสวนหญิง กล่าวว่า มีผู้เสียหายเพียง 1 ใน 10 ที่จะไปแจ้งตำรวจ เพราะกลัวอับอาย ถูกมองไม่ดี จริงๆ ระยะหลังพนักงานสอบสวนทั้งหญิงและชายได้รับการอบรมจนเข้าใจถึงความละเอียดอ่อน และจะไม่คุกคามทางเพศซ้ำ หรือในกฎหมายเองก็ให้สิทธิผู้ถูกกระทำสามารถเลือกให้ความกับพนักงานสอบสวนหญิง เพื่อความสบายใจได้

พ.ต.อ.ญ.ฉัตรแก้วกล่าวอีกว่า แต่ทั้งนี้ต้องถือว่าคดีนี้มันเทาๆ ที่อาจไม่แสดงความผิดชัดเจน โดยผู้กระทำอาจอ้างว่าไม่ได้ตั้งใจ เผลอ ล้อเล่น หรือการลวนลามในที่สาธารณะ เช่น การลวนลามด้วยสายตา กฎหมายปัจจุบันยังไปไม่ถึง ลำบากต่อการดำเนินคดี ฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้เขาปฏิเสธไม่ได้คือต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน อาทิ ถ่ายคลิปวิดีโอ ผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ซึ่งไม่รู้จักกันมาก่อนมาเป็นพยาน แต่ก็เป็นปัญหาของคนไทยที่ไม่ค่อยอยากยุ่งเรื่องชาวบ้าน ซึ่งก็อยากให้คนไทยมาช่วยกัน พบเห็นเหตุการณ์ก็มาร่วมเป็นพยาน แม้รีบก็ทิ้งเบอร์ติดต่อเพื่อมาเป็นพยานภายหลังได้

รวม 3 คน
กุสุมา จันทร์มูล-พ.ต.อ.ญ.ฉัตรแก้ว วรรณฉวี-จรีย์ ศรีสวัสดิ์

ขณะที่ นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องรื้อมายาคติของสังคม ที่มักมองผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศว่าต้องมาจากรูปร่าง หน้าตา และการแต่งตัว แต่จริงๆ ยังมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง อาทิ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ผู้ชายคิดว่าตนเองมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง หากจะแก้ปัญหานี้ได้จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ทำอย่างไรที่จะเข้าใจและไม่ไปกระทำซ้ำ ขณะเดียวกันต้องช่วยกันส่งเสียงเพื่อระงับเหตุ เอาผิดผู้กระทำ ขณะที่หน่วยงานรัฐจะต้องปรับปรุงระบบบริการให้ปลอดภัย อาทิ มีไฟส่องสว่าง ตลอดจนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้น

“เพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะบุคคล แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมช่วยกัน” จรีย์กล่าวทิ้งท้าย

S__64536611

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image