เมื่อเทคโนโลยีอัจฉริยะระดับโลก ถูกจับใส่รถ ‘ฟอร์ด’

ได้มีโอกาสทดสอบเทคโนโลยีอัจฉริยะ ที่ทาง “ฟอร์ด” จัดให้ได้ทดลองกับรถ 2 รุ่น คือ ฟอร์ด เรนเจอร์ ไวลด์แทรค 3.2 ลิตร และ

ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ไทเทเนียม พลัส ที่ทางฟอร์ดได้เชิญทั้งคณะสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมและยานยนต์ร่วมทดสอบ เพื่อให้ได้สัมผัสกับเทคโนโลยีอัจฉริยะของจริง

สำหรับเทคโนโลยีที่ฟอร์ดแนะนำให้ได้รู้จักกันในครั้งนี้ ก็เรียกได้ว่ามีหลากหลายอย่างมาก เริ่มตั้งแต่ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control), ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง (Lane Keeping System), ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning System), ระบบแจ้งเตือนการขับขี่ (Driver Alert System) และระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัจฉริยะ (Auto High Beam Control) รวมไปถึงระบบช่วยจอดอัจฉริยะ (Active Park Assist) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้การขับขี่เป็นไปได้อย่างง่ายดายมากขึ้น

เริ่มจากระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control) ที่จะใช้เรดาร์สำหรับตรวจวัดระยะห่างระหว่างรถคันข้างหน้า โดยระบบจะตั้งค่าระบบควบคุมความเร็วแบบอัตโนมัติ เพื่อให้รถอยู่ห่างจากรถคันข้างหน้าในระยะที่ปลอดภัยตามความเร็วที่ตั้งไว้ ผู้ขับ “ไม่ต้องเหยียบคันเร่ง” หรือ “เบรก” ตามคันข้างหน้าเลย

Advertisement

เป็นเทคโนโลยีที่สร้างความรู้สึกแปลกในการขับรถ เพราะไม่ต้องเหยียบคันเร่ง หรือเบรก เพราะรถจะทำหน้าที่ของมันเอง แต่จริงๆ แล้ว เวลาที่เบรกนั้นรถจะชะลอตัวลง ไม่ถึงกับเบรกทีเดียว ยังไงเสีย ที่สุดแล้วคนขับถ้าต้องการเบรกจริงๆ ก็จะต้องเหยียบเบรกเอง

ฟอร์ด

ในส่วนของระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง จะเป็นการทำงานร่วมกับกล้องที่ติดตั้งอยู่หน้ารถเพื่อตรวจจับหาเส้นแบ่งเลนบนพื้นถนนข้างหน้า โดยระบบจะสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ขับขี่กำลังเบนรถออกจากเลนโดยตั้งใจหรือไม่ เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เอาไว้สำหรับคนที่หลับใน ระบบของรถจะตรวจจับดูว่า หากมีการเปลี่ยนเลนโดยไม่ตั้งใจ ระบบก็จะเข้าควบคุมแรงบิดของพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า เพื่อดึงรถกลับเข้าสู่เส้นทางเดิม และหากรถยังคงเคลื่อนออกนอกเลน ซึ่งหมายความว่า คนขับน่าจะหลับจริงๆ ก็จะมีสัญญาณเตือนการเปลี่ยนเลนแจ้งขึ้นด้วยการสั่นที่พวงมาลัย ประหนึ่งปลุกให้คนขับตื่นขึ้นนั่นเอง

Advertisement

มาถึงระบบเตือนการชนด้านหน้า ที่จะใช้เรดาร์บริเวณหน้ารถ เพื่อวัดระยะห่างของรถกับวัตถุที่เคลื่อนที่อยู่ที่ด้านหน้า ที่จะป้องกันการชนที่ความเร็วสูงกว่า 5 กม./ชม. หากระบบวัดค่าเวลาก่อนชนได้ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ระบบก็จะส่งสัญญาณเตือนพร้อมกะพริบไฟบนกระจกด้านหน้า และแสดงข้อความเตือนบนหน้าจอแสดงข้อมูล แต่หากผู้ขับขี่ยังไม่ตอบสนองต่อสัญญาณเตือน ระบบก็จะชาร์จแรงเบรกเตรียมไว้ เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถหยุดรถได้เร็วมากขึ้นเมื่อแตะเบรก ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายจากการกระแทกหรือหลีกเลี่ยงโอกาสในการชน

สำหรับระบบแจ้งเตือนการขับขี่ จะมีการส่งสัญญาณแจ้งเตือนเมื่อตรวจพบว่าผู้ขับขี่มีอาการเหนื่อยล้า ระบบนี้ทำงานโดยใช้กล้องที่ติดตั้งอยู่บริเวณกระจกหน้า ที่เชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ ซึ่งกล้องนี้จะมีหน้าที่ระบุและบันทึกตำแหน่งช่องทางที่รถวิ่งอยู่ เมื่อรถเคลื่อนที่ระบบก็จะคาดการณ์ตำแหน่งที่รถควรจะอยู่ โดยอ้างอิงจากตำแหน่งของช่องทางที่มีการบันทึกไว้ จากนั้นจึงวัดหาตำแหน่งที่แท้จริงของรถ ถ้าพบว่ามีค่าความแตกต่างมาก ระบบก็จะส่งสัญญาณเตือนบนหน้าจอควบคุม

และระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัจฉริยะ ที่น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเวลาเดินทางไปต่างจังหวัดที่มืดๆ แล้วเราต้องคอยเปิด-ปิดไฟสูงเอง เพราะจะเปิดทิ้งไว้ก็ไม่กล้า กลัวจะกวนสายตาคนขับรถสวนทางมา โดยระบบนี้จะทำงานที่ความเร็วสูงกว่า 40 กม./ชม.

ระบบนี้ใช้กล้องที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าตรวจสอบสภาวะต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อพิจารณาว่าเมื่อใดต้องเปิดหรือปิดไฟสูง ระบบจะเปิดไฟสูงเมื่อบริเวณนั้นมืดมากพอและไม่มีแสงไฟจากรถคันอื่นๆ โดยรอบ

สุดท้าย สำหรับระบบจอดรถอัจฉริยะ ในฟอร์ด เอเวอเรสต์ ไทเทเนียม พลัส ที่จะช่วยทำให้การนำรถเข้าจอดเทียบข้างเป็นเรื่องง่ายดาย ขอเน้นว่า เป็นการจอดรถเทียบข้างเท่านั้น จอดเข้าซองไม่เกี่ยว

เริ่มแรก เมื่อต้องการจอดเทียบ ให้กดปุ่มเพื่อเลือกใช้ระบบก่อน หลังจากนั้นก็ขับรถวิ่งตรงไปตามทางเรื่อยๆ เมื่อระบบตรวจพบช่องจอดที่มีพื้นที่ว่างพอที่จะนำรถเข้าจอด ก็จะมีการแจ้งเตือนที่หน้าจอแสดงผล หลังจากนั้น ระบบก็จะบอกให้เราหยุดรถ เพื่อเริ่มเข้าระบบช่วยจอดอัจฉริยะ เราก็ “ปล่อย” พวงมาลัย แล้วก็มีหน้าที่เข้าเกียร์ให้ถูกตามที่ระบบสั่งตรงนี้ เราไม่ต้องจับพวงมาลัยแล้ว มีหน้าที่เข้าเกียร์ให้ถูก แล้วก็เหยียบเบรกเลี้ยงไปเรื่อยๆ เริ่มจากเข้าเกียร์ถอยหลัง แตะเบรกไปเรื่อยๆ ให้รถขยับ พอเข้าที่แล้ว แล้วก็เข้าเกียร์เดินหน้า เพื่อขยับเข้าที่ เท่านี้ ก็จบ

แต่ทั้งหมดนี้ เราต้องห้ามจับพวงมาลัยเด็ดขาด เพื่อปล่อยให้ระบบทำงานเอง เพราะถ้าเราจับพวงมาลัยเมื่อไหร่ ระบบจะถูกยกเลิกในทันที

ดูเหมือนระบบจะทำให้เราเข้าที่จอดรถได้ง่ายขึ้น แต่การขับรถโดยไม่จับพวงมาลัย โดยเฉพาะเมื่อเข้าเกียร์แล้ว ไม่จับพวงมาลัย ดูจะเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับระบบนี้

โดยรวมถือว่าเทคโนโลยีอัจฉริยะที่ฟอร์ดให้มาทดสอบ เป็นเรื่องสนุกในการได้ลองของใหม่กับเทคโนโลยีที่ถูกจับใส่ในรถ ที่ทำให้รู้ว่า เทคโนโลยี ไม่เข้าใครออกใคร มันอยู่ได้ทุกที่จริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image