รู้จัก “กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย” ผู้ชาย…ผู้หลงรักงานภาพพิมพ์

กิติก้องสารภาพไว้ในงาน TED Talk Chiangmai ว่าเขาตกหลุมรักกระบวนการภาพพิมพ์ ตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในคณะจิตรกรรม สาขาวิชาศิลปะภาพพิมพ์ ด้วยกระบวนการพิมพ์ที่มีเสน่ห์ จนถอนตัวไม่ขึ้น ก่อนที่จะบินลัดฟ้าไปต่อปริญญาโทในคณะเดียวกัน ที่ The University of New South Wales,Art&Design ประเทศออสเตรเลีย ด้วยกระบวนการทำภาพพิมพ์ ที่ผสมผสานศาสตร์ และศิลป์ เข้าไว้ด้วยกัน ที่บ่มเพาะวิธีคิดและการทำงานของศิลปิน ทำให้ชื่อของ กิติก้อง แตกต่างจากศิลปินอื่นๆในแวดวงเดียวกัน “เมื่อเราอยากเห็นภาพสุดท้ายบนกระดาษเป็นอย่างไร คำถามที่ตามมาคือกระบวนการอะไรของภาพพิมพ์ ที่จะทำให้ภาพฝันสุดท้ายเป็นจริง และดีที่สุด” นั่นเป็นกระบวนการคิดที่ติดตัวมา ตลอดการเรียนรู้ ที่กิติก้องได้ซึมซับเข้ามาโดยไม่รู้ตัว คือการตั้งคำถามกับกระบวนการก่อนที่จะพาไปถึงจุดหมายปลายทางที่เขานำมาใช้กับชีวิต จนสามารถก่อตั้ง “ Chiangmai Art on Paper Studio หรือ C.A.P Studioในปัจจุบัน

Kitikong Tilokwattanathai.CI25210421.2016.Oil on Saa paper100X100cm.

กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย กับ C.A.P Studio สร้างอนาคตจากสิ่งที่รัก
กับความฝันที่หยุดลงมือทำไม่ได้ (2004-2016)

C.A.P สตูดิโอภาพพิมพ์ ของกิติก้อง กับงานศิลปะที่จับต้องได้ ( Affordable Art ) คือการเรียนรู้ และสร้างระบบใหม่ของวงการภาพพิมพ์ สิ่งแรกที่ศิลปินคุยกับ “ตัวตน” ของตัวเอง และยอมรับมัน คือเขาเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่ “อยากได้…อยากมี” เพื่ออนาคตที่ดี เหมือนคนธรรมดาทั่วไป แต่ข้อแม้ของเขาคือ “อนาคตที่สวยงามนั้นต้องมาจากการลงมือทำในสิ่งที่รัก” เขาจึงเดินเข้าไปหาโอกาส และเดินชนกับความฝันเพื่อพิสูจน์ว่ามันเป็นจริงได้ โดยการเดินเข้าไปขอพิมพ์งานจากศิลปินชื่อดัง เพื่อพิสูจน์ความเชื่อของตัวเอง ว่างานศิลปะสามารถสร้างอนาคตได้ ไม่จำเป็นต้องไส้แห้ง หากเรามีกระบวนการจัดการที่ดี ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อเดิมๆในยุคนั้น
จากห้องพักใน คอนโด เล็กๆในปี 2004 ที่บ่มเพาะความเชื่อด้วยการลงมือทำอย่างจริงจัง กินมาม่าทุกมื้อ ทำงานเป็นอาจารย์สอนในตอนกลางวัน กลับมาทำงานพิมพ์ของตัวเองและศิลปินอื่นเป็นวงจรแบบนี้กว่า 12 ปี จนมาถึงวันนี้มีงานภาพพิมพ์กว่า 20,000 ชิ้นงาน และย้ายจากห้องเช่าเล็กๆ มาอยู่ที่ ถนนนิมมานเหมินทร์ ศูนย์กลางนักท่องเที่ยว ที่ใครไปเที่ยวเชียงใหม่ก็ต้องแวะไปทักทาย และยังมีความฝันอยากเห็น มิวเซียมภาพพิมพ์ดีๆ

Advertisement

เกิดขึ้นในเมืองไทย เป็นแรงขับต่อไปที่ทำให้เขาหยุดอยู่กับที่ ณ จุดนี้ไม่ได้

กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย ศิลปินที่ใส่หมวกหลายใบ
ภาพลักษณ์ของศิลปินยุคใหม่ที่ขัดกับความเชื่อเดิมๆ (2004- วันที่ความเชื่อของเขาได้รับการพิสูจน์)

Kitikong Tilokwattanathai.CI04212521.2016. Oil on Saa paper.100X100cm.

Advertisement

นอกจากเคยเป็นอาจารย์ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (วิทยาเขตภาคพายัพ) กิติก้อง มองเห็นปัญหาในภาพรวมของวงการศิลปะภาพพิมพ์ จึงสร้างระบบใน C.A.P Studio ให้มีอนาคตที่ดีไม่ใช่เพียงตอบโจทย์ความฝันและอนาคตของเขาเพียงคนเดียว หากแต่ยังตอบโจทย์ของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นศิลปินที่มาร่วมงาน หรือน้องๆทุกคนที่ทำงานในสตูดิโอแห่งนี้ได้มีอนาคตที่ดีต่อไป เราจึงเห็นงานของศิลปินรุ่นใหญ่ และศิลปินรุ่นใหม่ ทั้งไทย และต่างประเทศ มากมายที่เดินเข้าออกสตูดิโอแห่งนี้แทบทุกวัน

นอกจาก กิติก้อง จะต้องรักษาคุณภาพของชิ้นงาน ติดต่อลูกค้า ติดต่อศิลปินที่มาทำงานภาพพิมพ์กับสตูดิโอ
บทบาทของกิติก้อง จึงเป็นมากกว่าศิลปิน เขาเป็นหัวเรือใหญ่ของลูกน้องกว่า 10 ชีวิตในสตูดิโอ เป็นคนติดต่อประสานงาน จัดนิทรรศการเพื่อเสริมสร้างความรู้เรื่องภาพพิมพ์กระจายในวงกว้าง ติดต่อเลือก (Curated) ศิลปินที่จะมาร่วมงานกับ C.A.P Studio และขายงาน เพื่อให้มีเงินพอจ่ายเงินเดือนพนักงานทุกคนทุกๆเดือน เพื่อพาเรือลำนี้ให้ไปสู่ฝั่งฝัน ซึ่งอาจไม่คุ้นชินกับนิยาม และความคาดหวังเดิมๆ ว่าศิลปินต้องมี ตัวตน และภาพลักษณ์เหมือนในบริบทเดิมๆที่สังคมเคยพบเจอ และคาดหวัง

Kitikong Tilokwattanathai.YA22054112. 2016.Oil on Saa paper.100X100cm.

ภายใต้ภาพลักษณ์ภายนอก แต่งกายเนี๊ยบๆกับแว่นตาหนาเตอะ หากเดินสวนกันตามท้องถนน คุณอาจคิดว่า เขาเป็นบุรุษพยาบาลกะดึก ที่ไม่รู้จักว่าแวนโก๊ะคือใคร แต่หากได้พูดคุยแล้ว คุณจะรู้ว่าที่แท้เขาคือศิลปินที่เป็น “กบฏ” ต่อความเชื่อเดิมๆ และพยายามเปลี่ยนแปลงวงการให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น ด้วยการ “ลงมือทำ มากกว่าคำพูด” ด้วยระยะเวลายาวนานกว่า 12 ปี บนเส้นทางฝันที่ไม่เคยปรากฎคำว่า “ง่าย”แทบจะล้มทั้งยืนก็หลายครั้ง

ถ้าได้จับเข่าคุยกับเขาจริงๆ แล้วคุณจะรู้จัก “ตัวตน” ว่าเขาคือ หนึ่งในศิลปินไทยรุ่นใหม่ ที่น่าจับตามองไม่น้อย

กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย กับ Color Identities Exhibition

“ตัวตน” ที่แท้จริงคืออะไร?
คือคำถามที่ต้องการถามกลับ

ในเมื่อชีวิตมีหลายบทบาท มีตัวตนที่หลากหลายให้เลือกเล่นตามแต่วาระ ตามแต่สถานที่ ซึ่งทำให้ตัวตนของเราเปลี่ยนไปตลอดเวลา เมื่อคนที่อยู่รอบข้างของเราเปลี่ยนไปในบริบทที่แตกต่างกัน เราจะจับต้องความเป็น “ตัวตน” เข้าใจ “ตัวตน” ที่เป็นนามธรรมนี้ได้อย่างไร แล้วงานหรือผลลัพธ์ที่ออกมาจำเป็นต้องมีตัวตนด้วยหรือไม่ หรือเราควรซื่อสัตย์กับอารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น เพื่อที่จะถอยออกมามองเห็น “ตัวตน” ที่แท้จริงของตัวเอง ไม่ใช่จำกัดคำว่า “ตัวตน” อยู่เพียงแค่ในกรอบของรูปแบบและสไตล์ของชิ้นงานแต่เพียงเท่านั้น และหากมองตัวตนในเชิงพุทธศาสนา ความเป็นตัวตนกลับเป็นของแสลง ที่เราควรละ แล้วท้ายที่สุดความมีตัวตนนั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่? ในยุคที่ทุกคนพยายามอยากมีตัวตนเอาไว้คล้องคอเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ หรือที่แท้ “ตัวตน” ที่พยายามค้นหา พยายามมีนั้นไม่เคยมีอยู่จริง เป็นเพียงสิ่งที่สร้างขึ้นมา เพื่อเติม
ช่องว่างในจิตใจ

Kitikong Tilokwattanathai.CI24522011. 2016.OIl on Saa paper.100X100cm.

Color Identities ตลอดระยะเวลา 1 ปี กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย กลับมาตั้งคำถาม พร้อมทั้งค้นหาความหมายของตัวตนอีกครั้ง ผ่านกระบวนการสร้างงานนิทรรศการในชุด “ สีสัน ความหมาย ตัวตน” ซึ่งแม้แต่ตัวศิลปินเองยังรู้สึกประหลาดใจ กับผลลัพธ์ที่ออกมากับความหมาย ของคำว่า “ตัวตน” ในมุมมองของศิลปินเอง โดยจะจัดแสดงถึงวันที่ 31 มีนาคมนี้  ที่สมบัติเพิ่มพูน แกเลอรี่ สุขุมวิท ซอย 1 ด้วยความคาดหวังให้ทุกคนจะได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน อีกทั้งสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างมีประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นต่อไป

kittikong02

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image