ผู้เขียน | ชนันทร์พร อภิธนไชยนันท์, สุธาสินี สืบเรือง |
---|
เปิดตัวตน ดีดี-ชาดีดา ไทยเศรษฐ์ รองปธ.สภานักเรียน คนที่ 3 ระดับประเทศ ลูกไม้หล่นใต้ต้น คุณพ่อ ชาดา
ปรากฏตัวออกสื่อครั้งแรก ร่วมกลุ่มกับเหล่าสภานักเรียน ระดับประเทศ ที่มาร่วมอบรมสัมมนาประจำปี 2568 เข้าพบ นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร เสนอประเด็น ที่ทำเนียบรัฐบาลไปเมื่อไม่นานนี้ ก็ทำให้ชื่อของ “ดีดี” ชาดีดา ไทยเศรษฐ์ ลูกสาววัยมัธยมปลายของ ชาดา ไทยเศรษฐ์ นักการเมืองคนดัง เป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์ไม่น้อย
พาให้หลายคนก็อยากรู้จักตัวตนของ “ชาดีดา” ในแง่มุมต่างๆ มากขึ้น
มติชนออนไลน์ ขอเวลาหลังเลิกเรียนของประธานนักเรียนสาว โรงเรียนอุทัยวิทยาคม วัย 16 ปี ที่เพิ่งได้รับตำแหน่ง รองประธานคนที่ 3 ของสภานักเรียน ระดับประเทศ มาหมาดๆ มาพูดคุยทำความรู้จักกับเธอให้มากขึ้น
ปัจจุบัน ดีดี ชาดีดา ไทยเศรษฐ์ ศึกษาอยู่ชั้น ม.5 โรงเรียนอุทัยวิทยาคม ห้องเรียนโครงการพิเศษ อังกฤษ-จีน พ่วงด้วยตำแหน่งประธานนักเรียน ที่ตอนแรกเธอก็ว่า ไม่ได้มีความคิดที่จะลงสมัครรับหน้าที่นี้ แต่พี่ๆ น้องๆ รวมไปถึงเพื่อนและคุณครูก็ออกมาเชียร์ ด้วยอาจจะเห็นศักยภาพ เลยทำให้เธออยากจะลองทำหน้าที่นี้ดู
“ตอนแรกไม่ได้ตัดสินใจจะลงอะไรขนาดนั้น แต่พอเห็นปัญหาต่างๆ ในโรงเรียน ก็รู้สึกว่าหลายอย่างควรได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมและถูกต้อง โดยต้องมาจากเสียงของนักเรียนและคุณครู ก็เลยอยากจะเป็นกระบอกเสียงให้กับนักเรียนและคุณครู จึงตัดสินใจลงประธานนักเรียนค่ะ”
และเมื่อตัดสินใจแล้ว ดีดี จึงได้นำปัญหาต่างๆ ในโรงเรียน กลั่นกรองออกมาเป็นนโยบาย ดึงดูดคะแนนเสียงจากเหล่านักเรียนในโรงเรียน อย่างเช่น นโยบาย Point for You ที่เธอเล็งเห็นว่านักเรียนในโรงเรียนถูกตัดคะแนนด้วยกฎระเบียบเล็กๆ น้อยๆ อย่างทรงผมผิดระเบียบ หรือการมาสาย ทั้งที่เป็นเด็กเรียนดี อีกทั้งยังไม่มีวิธีเพิ่มคะแนน ทำให้พลาดโอกาสที่จะส่งชื่อเข้าไปร่วมโครงการคนดีศรี อทว. หรือเยาวชนดีเด่นของโรงเรียนไปได้ ซึ่งก็มีผลต่อการยื่นคะแนนเข้ามหาวิทยาลัยไปด้วยเช่นกัน จึงได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงดำเนินการ เพื่อให้ทำกิจกรรมเพิ่มคะแนน ได้เทอมละ 2 ครั้ง เป็นการเพิ่มโอกาสให้นักเรียนมากขึ้น
และด้วยใส่ใจในปัญหาของนักเรียนและคุณครูในโรงเรียนอยู่เสมอๆ ทำให้เวลาว่างของดีดีในโรงเรียน หมดไปกับการพูดคุยกับนักเรียนและคุณครูตามกลุ่มสาระต่างๆ จนเรียกว่า “งานอดิเรก” ก็ไม่ผิดนัก
“เวลาอยู่โรงเรียน ชอบพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ กับครูในห้องหมวดสาระต่างๆ ค่ะ ว่าวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง เพราะการที่เรามองปัญหาผ่านฟอร์มออนไลน์ หรือโอเพ่นแชต มันไม่ใช่ทางที่จะทำให้เราเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้เท่ากับเราเข้าไปคุยกับเขาด้วยตัวเอง เข้าไปดูว่าเขามีปัญหาอะไรหรือไม่ เข้าไปคุยให้เขาสนิทใจ เล่าปัญหา เราก็จะได้นำไปแก้ไขค่ะ”
ทำหน้าที่ในรั้วโรงเรียนได้ระยะหนึ่ง ดีดี ก็ขยับเข้าสู่สนามระดับประเทศ ก้าวเข้าสู่การทำหน้าที่ รองประธานสภานักเรียน คนที่ 3 ในสภานักเรียนระดับชาติ ดูแลเรื่องเครือข่ายต่างๆ ทำให้เธอได้ลองทำงานในภาพที่กว้างขึ้น
ชาดีดาเล่าว่า สภานักเรียนระดับประเทศ ก็จะทำงานเหมือนกับสภานักเรียนในโรงเรียน แค่ขยับขึ้นมาระดับประเทศ ดูแลในวงกว้างมากขึ้น เพื่อนๆ ประธานนักเรียนของแต่ละเขต แต่ละจังหวัด พร้อมที่จะช่วยกันพัฒนาชุมชนของตัวเอง หรือจังหวัดไปให้ดีที่สุด จากที่คุยกับเพื่อนๆ ก็ยังพบหลายปัญหา อย่างที่ภาคเหนือ มีนักเรียนในโรงเรียนบนดอย ที่ยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงอย่างมากพอ หรือแม้กระทั่ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นกัน ส่วนตัวจึงมองว่าเรื่องการเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงการศึกษา เข้าถึงการตระหนักรู้ในหลายๆ เรื่อง เป็นปัญหาสำคัญที่แต่ละพื้นที่นั้นแตกต่างกัน
แน่นอนว่า โอกาสล่าสุดที่มาร่วมอบรมนั้น ทำให้เธอได้เป็น 1 ใน 3 นักเรียนที่ร่วมเสนอประเด็นให้กับนายกฯอิ๊งค์ ซึ่งเธอก็ตื่นเต้นมาก
“ตอนแรกรู้สึกตื่นเต้นมากๆ”
“เพราะตอนจะไป ไม่ได้ตั้งใจไปเอาตำแหน่งชื่อเสียงอะไร แค่อยากไปเปิดมุมมอง ฟังวิสัยทัศน์ของผู้นำแต่ละจังหวัดว่าแต่ละคนมีวิธีการ มีแนวทางพัฒนาโรงเรียน และจังหวัดตัวเองอย่างไร เพื่อจะนำมาประยุกต์ใช้ค่ะ แต่พอได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวแทน ก็ตื่นเต้นมากๆ เอาจริงๆ วันนั้นแอบไม่พร้อมด้วยค่ะ เพราะป่วยและเสียงก็แย่มากๆ แต่ก็ได้ทุกคนที่เข้ามาให้กำลังใจ ช่วยเหลือ ซื้อยามาให้ ทำให้ผ่านไปได้ด้วยดีเกินคาดค่ะ”
กับคำถามถึงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้ขับเคลื่อนสังคมในอนาคตนั้น ชาดีดา ก็มองว่า ผู้ใหญ่ควรสนับสนุนเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ เรื่องการตระหนักรู้ต่างๆ สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ในการแสดงออกที่สร้างสรรค์และเหมาะสม รวมไปถึงช่วยพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ การให้โอกาส จะทำให้เด็กและเยาวชนได้ประสบการณ์ ได้อะไรหลายๆ อย่าง เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศ
นั่นทำให้แนวความคิดของนายกฯ อย่างการให้โอกาสและสร้างโอกาส เป็นสิ่งที่เธอสนใจ และอยากจะนำมาประยุกต์ใช้ต่อไป พร้อมยกตัวอย่างเรื่องการประชาสัมพันธ์โครงการ กิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน ที่เธอมองว่า หากกระจายข่าวให้ถึงเด็กทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม สู่วงกว้าง ก็น่าจะทำให้เด็กนักเรียนได้เข้าถึงโอกาสได้มากขึ้น
หลังจากชวนคุยเรื่องราวในรั้วการศึกษา เราชวนดีดีคุ้ยเรื่องหนักขึ้น อย่างมุมมองความคิดเรื่องการเมือง ซึ่งเธอก็ว่ากับความสนใจในเรื่องการเมืองนั้น ไม่ว่าจะช่วงวัยใด ก็ต้องสนใจอยู่แล้ว นั่นเพราะ “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัว ซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวัน
ชาดีดาเห็นว่า หลายพรรคการเมืองก็มีนโยบาย มีแนวทาง ที่ตรงใจและไม่ตรงใจ แม้จะชอบพรรคใดพรรคหนึ่งแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเห็นด้วยกับแนวทางพรรคนั้นทั้งหมด แต่ก็เชื่อว่าทุกพรรคการเมือง จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาประเทศร่วมกัน และดูแลผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
ถามถึงมุมมองกับกรณีการประท้วงของเหล่านักเรียนนักศึกษาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ดีดีก็ขอออกตัวว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นตอนเธอเพิ่งขึ้นมัธยมต้น อายุเพียง 11-12 ปี อาจจะยังเด็กอยู่มาก แต่ก็มองว่าการที่ใครจะออกมาเรียกร้อง ไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของรัฐบาลชุดก่อน ก็เป็นสิทธิ เพราะทุกคนมีสิทธิ และควรจะใช้สิทธิอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม เธอมองว่าไม่ควรก้าวล่วงเข้าสู่เรื่องส่วนตัวของใคร หรือแม้แต่การใช้ความรุนแรง ไม่ว่าใครก็ตาม เพราะยังมีอีกหลายวิธีที่แสดงออกได้มากกว่าการใช้ความรุนแรง
เป็นภาพกว้างๆ ที่เธอมอง อย่างไม่เจาะจงหน่วยงาน หรือองค์กรใด
ส่วนเรื่อง “ย้ายประเทศ” ที่กลายเป็นกระแสจุดติดอยู่ช่วงหนึ่ง จนเพจ “ย้ายประเทศกันเถอะ” กลายเป็นไวรัลนั้น
ดีดีบอกว่า “อย่างแรกเลย หนูภูมิใจในความเป็นคนไทยมากๆ ค่ะ ประเทศไทยมีหลายอย่างที่ดี อาหาร สภาพแวดล้อม ที่ท่องเที่ยว เรื่องนี้อาจจะเป็นแนวคิดของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่รู้สึกอยากจะใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการ สภาพแวดล้อม แต่ละคนก็มีความชอบต่างกัน การจะตัดสินใจย้ายประเทศ ก็เป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล ตอนนี้ก็ยังมีคนแชร์อยู่ ทั้งแชร์เรื่องดีๆ ทั้งไม่ดี หรือแชร์ประสบการณ์ที่อยากย้ายกลับมาไทยก็มี จึงมองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความชื่นชอบในไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ที่มีต่อแต่ละประเทศด้วยค่ะ”
“แต่ถ้าให้มองลึกลงไป เราจะเห็นเรื่องซ่อนอยู่ว่าทำไมถึงเกิดแนวคิดนี้ ก็สามารถนำมาตีแผ่ วิเคราะห์ได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่คนอยากย้ายประเทศ และนำมาหาวิธีแก้ไข เป็นบทเรียนที่ใช้พัฒนาประเทศต่อไปได้ค่ะ” ชาดีดากล่าว
เปิดมุมมองความคิด เรื่องบ้านเมืองแล้ว ก็ได้เวลาถามไถ่เรื่องครอบครัว ให้ลูกสาวคนที่ 5 ได้แอบเล่าเรื่องคุณพ่อกันบ้าง
“คุณพ่อใจดี” ชาดีดากล่าวพลางหัวเราะ พร้อมว่า “คุณพ่อใจดีจริงๆ ค่ะ ในมุมมองคนภายนอก อาจจะคิดว่าคุณพ่อดุ หรือโหดแน่เลย แต่ถ้าได้มาสัมผัสกับคุณพ่อจริงๆ จะบอกว่าคุณพ่อเป็นคนที่ใจดีมากๆ”
ชาดีดาแง้มเล่าเรื่องคุณพ่อให้ได้ฟัง ก่อนจะขยายเล่าเรื่องวิธีการเลี้ยงลูกแบบชาดาไว้ว่า “คุณพ่อก็สอนเรื่องทั่วไปค่ะ เหมือนคุณพ่อคุณแม่ทุกคน สอนให้ทุกคนเป็นคนดี”
“ที่คุณพ่อจะเน้นย้ำคือ เราจะเป็นคนดีอย่างไรให้สร้างประโยชน์ ให้คนอื่นด้วยเช่นกัน เวลาจะทำอะไรไม่อยากให้นึกถึงประโยชน์ตนเป็นหลัก แต่ให้นึกเสมอว่าสิ่งที่ทำไปแล้ว ส่งประโยชน์ต่อคนอื่น ต่อส่วนรวมและสังคม มากน้อยแค่ไหน คุณพ่อสอนให้ลองผิดลองถูก ได้ใช้ชีวิต เรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลยค่ะ อะไรที่เห็นว่าไม่ถูกไม่ควร ก็ตักเตือน ให้คำแนะนำตามประสา เพียงแต่ว่าทำอะไรผิดมา ก็จะสอนเสมอว่า ไม่ให้โทษคนอื่น ให้ประมวลว่าสิ่งที่เราผิดพลาดไป นึกก่อนเลยว่าเราพลาดอะไรไป ครั้งต่อไปจะได้มีประสบการณ์ แล้วนำมาแก้ไข ให้เป็นภูมิคุ้มกันค่ะ”
“ตั้งแต่เล็กจนโต ก็ได้เห็นตั้งแต่เด็กๆ เลยค่ะ จำความได้ก็เห็นคุณพ่ออุทิศเวลาให้ประชาชน เวลากินข้าว ก็โทรศัพท์คุยงาน บางทีเวลานอนก็ไม่ค่อยจะมี”
“เขาทุ่มเทให้ประชาชนจริงๆ สมกับคำที่ว่า ชีวิตที่เหลือเพื่อชาวอุทัยค่ะ”
การเป็นลูกของคุณพ่อชาดา แน่นอน ย่อมได้เห็นการทำงานต่างๆ ทั้งบทบาทการเป็น ส.ส. รวมถึงเวลาส่วนตัว ชาดีดาเล่าว่า ทุกจันทร์ถึงศุกร์ คุณพ่อจะไปทำงาน เข้าสภา ขณะที่ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ คุณพ่อก็จะอยู่ที่อุทัยธานี หากชาวบ้านมีปัญหา ก็สามารถตรงเข้ามาหาที่บ้านได้ทันที แจ้งปัญหาได้โดยตรง ทำให้เธอประทับใจในตัวคุณพ่อ ที่เป็นพ่อที่ดีของลูก เป็นคนที่ดีของประชาชน
“คุณพ่อไม่ลืมว่าใครที่ทำให้คุณพ่อมีวันนี้ได้ นั่นก็คือประชาชนค่ะ”
หลายต่อหลายครั้ง ชาดีดามักจะได้เห็นคุณพ่อเข้าไปทักทายประชาชน ขับมอเตอร์ไซค์เล่นในจังหวัดด้วยกันกับครอบครัว เดินถนนคนเดิน พบปะประชาชนอยู่เสมอ ใครที่รู้ว่าเป็นลูกพ่อ ก็จะชมคุณพ่อให้ฟังตลอดว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้
“บางคนไม่รู้ว่าหนูเป็นลูกคุณพ่อ ก็มีแอบไปแกล้งถามค่ะว่า คุณชาดามาที่นี่บ่อยไหม เขาก็เล่าให้ฟัง หนูก็ลองหลอกถามว่า ในมุมมองคุณน้า คิดว่าเขาเป็นคนอย่างไรเหรอคะ เหมือนที่คนบอกในโซเชียลไหม แต่สิ่งที่หนูได้รับคำตอบมาในชีวิตจริง ทำให้หนูรู้สึกว่าเราภูมิใจที่เราได้เกิดมาเป็นลูกพ่อค่ะ เพราะว่าสิ่งที่เขาตอบมา รู้สึกได้ว่า เขา appreciate (ชื่นชม) ในตัวคุณพ่อจริงๆ เขาเล่าว่ามีปัญหาอะไร ท่านชาดาก็ช่วยตลอด แม้กระทั่งเราไปถามโดยที่เขาไม่รู้ว่าเรานามสกุลอะไร เป็นลูกใคร ก็พูดถึงคุณพ่อในทางที่ดี เป็นสิ่งที่แสดงได้ว่า คนที่ได้มาสัมผัส รักทุกคนค่ะ”
กับพี่สาวอย่าง ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ ที่เพิ่งจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยไปนั้น เธอก็มองว่าพี่สาวเป็นแบบอย่างที่ดี
“แต่สิ่งที่เห็นในตัวพี่ดีดามาตลอด และชื่นชมมาตลอดคือ พี่ดีดาอ่อนน้อมถ่อมตนมาก และใส่ใจในการดูแลผู้คนมากๆ ค่ะ ทำให้เป็นตัวอย่างที่เห็นว่า ไม่ว่าเราจะเป็นใคร นามสกุลอะไร อยู่ในตำแหน่งไหน แต่ทุกคนเป็นคนเท่ากัน เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะทรีตทุกคนเท่ากันค่ะ ใส่ใจรายละเอียดกับคนรอบข้าง อ่อนน้อมถ่อมตนกับทุกคน ไม่หยิ่ง ไม่หลงระเริงไปกับชื่อเสียง เป็นสิ่งที่พี่ๆ เป็นแบบอย่างให้ดีมากค่ะ”
ทำให้คุณพ่อและพี่สาวเป็นไอดอลทางแวดวงการเมืองของเธอ เพียงแต่ว่ากับเรื่องแฟชั่นแล้วละก็ ชาดีดาก็ว่า คงไม่สู้
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนมีชื่อเสียง ย่อมต้องทำให้สปอตไลต์ ส่องถึงเธอด้วยเช่นกัน แน่นอนต้องเจอกับทั้งคอมเมนต์ด้านบวกและลบ หรือคนที่ชอบและไม่ชอบครอบครัวของเธอ แต่เรื่องนี้ในมุมมองของชาดีดา เธอว่า เธอแยกแยะได้ กับบทบาททางการเมืองของคุณพ่อ การแสดงความคิดเห็นของคนรอบตัว เพราะการที่พ่อเป็นบุคคลสาธารณะ การวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติมากๆ ไม่ควรไปตัดสินว่าบุคคลคนนี้ชอบพรรคพ่อ ชอบพ่อเรา เราต้องเป็นเพื่อน หรือไม่ชอบแล้วจะไม่เป็นเพื่อนกัน
“ยิ่งเราเป็นเด็กเจนซี เราเป็นเด็กรุ่นใหม่ การจะสร้างประเทศให้เป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ต้องยอมรับและแยกแยะได้ทุกความคิดเห็นค่ะ ไม่ใช่ว่าคนนี้คิดแบบนี้และเราเลือกคบ ไม่คบคนคิดต่าง การที่เราจะอยู่ในสังคมได้ เราต้องแยกแยะได้ในเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองกับความเป็นเพื่อนพี่น้องค่ะ”
และด้วยสิ่งต่างที่กระทบเข้ามาจากความมีชื่อเสียงของคุณพ่อนี่เอง ทำให้แม้จะแยกแยะได้ แต่กว่าจะผ่านจุดนี้มาได้ ก็เรียกว่าสาหัสไม่น้อย ดีดี จึงได้ขอนิยามตัวเองว่าเป็นคนที่ “อดทนค่ะ”
“ด้วยความที่เป็นลูกนักการเมือง และคุณพ่อก็ค่อนข้างจะเฟมัสในระดับหนึ่งเลย แน่นอนว่าเราโดนกระแสต่างๆ มาตั้งแต่เด็กๆ ก็มีหลายเหตุการณ์หลายบทเรียน ที่เข้ามาให้เรียนรู้ตั้งแต่เด็กมากๆ ก็ทำให้รู้สึกว่า ตัวเองอดทนสูงระดับหนึ่ง เพราะถ้าไม่อดทนสูง ก็อาจจะไม่ได้เป็นคนที่สดใส มีรอยยิ้มได้ในระดับนี้”
“หลายเรื่องที่เจอมาก็เป็นบทเรียนที่สาหัส ถ้าเกิดว่าไปเกิดกับบางคนที่อายุพอๆ กับหนู ไม่มั่นใจว่าแต่ละคนจะรับมือได้หรือเปล่า ก็รู้สึกโชคดีที่มีครอบครัวที่ดี และให้คำปรึกษากันมาตลอด เลยได้เรียนรู้วิธีการรับมือและขจัดความเครียดออกไป ทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่อดทน”
“บางเรื่องที่เจอมา มันเจอมาตั้งแต่อายุ 11-12 ที่หนักๆ เลย คอมเมนต์ต่างๆ เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่การเมืองของคุณพ่อ แต่ก็ถือว่าเป็นบทเรียนที่ดี เพราะพอโตมาจากตรงนั้น ก็รู้สึกว่ามีภูมิคุ้มกัน เรียนรู้วิธีการที่จะจัดการปัญหาเหล่านี้ พอโตมา เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันเจอปัญหาแบบนี้ ก็ไม่รู้จะรับมืออย่างไร ก็เลยให้คำแนะนำไป พอเพื่อนๆ ไปทำตามแนวทางของเรา ก็ได้ผลดีต่อสภาพจิตใจ ดีต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวเขามากขึ้น ก็เลยรู้สึกว่าอย่างน้อย บทเรียนเหล่านั้นก็ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันที่ดีในระดับหนึ่งค่ะ”
ด้วยวัย 16 ย่างเข้า 17 ปี ดีดีวางเป้าหมายไว้ที่การศึกษา ที่เธออยากเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ ใช้เวลาว่างไปกับการแก้ปัญหาในโรงเรียน ฟังเพลงศิลปินคนโปรดอย่าง เทย์เลอร์ สวิฟต์, NCT รวมไปถึงเล่นติ๊กต็อกและอินสตาแกรม เหมือนเด็กนักเรียนคนอื่นๆ
ส่วนเรื่องเส้นทางการเมืองของเธอในอนาคตนั้น ชาดีดา ขอให้เป็นการตัดสินใจของตัวเองในอนาคต ยังไม่รีบ อยากโฟกัสในเรื่องการเรียนมากกว่า
เรียกว่าเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น อีกหนึ่งคน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง