ปัญหาใหญ่! หญิงไทยป่วยโรคนรีเวช เหตุไม่ชอบพูดเรื่องส่วนตัว ผู้เชี่ยวชาญย้ำ การดูแลตัวเองต้องทำตลอดชีวิต
วนกลับมาอีกครั้ง สำหรับวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสตรีสากล (International Women’s Day) เป็นวันที่ทั่วโลกตระหนักถึงบทบาทสำคัญของผู้หญิงในการขับเคลื่อนสังคม ที่ร่วมกันส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม และโอกาสในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้หญิง
ซึ่งนอกจากความเท่าเทียมและโอกาสในด้านอื่นๆ แล้ว “สุขภาพ” ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยที่มีประชากรหญิงมากกว่าชาย การส่งเสริมสุขภาพผู้หญิงจึงเป็นภารกิจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาสังคม
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปี 2566 พบว่า ผู้หญิงไทยมีอัตราการป่วยด้วยโรคที่สูงกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงอยู่ที่ 17 ล้านคน ส่วนผู้ชายอยู่ที่ 11 ล้านคน ซึ่งภาวะโรคของสตรีที่พบได้สูง ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปากมดลูก และอาการป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับทารกในครรภ์และถุงน้ำคร่ำ
ขณะที่ในระดับโลก จากรายงาน Global Women’s Healthcare Market โดย Research and Market.com ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงทั่วโลกมีความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสุขภาพเฉพาะด้านมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ การเจริญพันธุ์ สุขภาพมารดาและทารก สุขภาพเต้านม การจัดการภาวะวัยหมดประจำเดือน และสุขภาพทางเพศ ปัญหาสุขภาพเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย
ดังนั้นการจัดกิจกรรมให้ความรู้และรณรงค์อย่างต่อเนื่องจึงมีความสำคัญ เพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ
ในโอกาสวันสตรีสากลนี้ โอลิค (OLIC) บริษัทจัดจำหน่าย ผลิต และนำเข้ายา ประเทศญี่ปุ่น จัดเสวนาร่วมกับพันธมิตรด้านสุขภาพจาก 4 ภาคส่วน ได้แก่ บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด ราชวิทลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมเภสัชกรกรรมชุมชน (ประเทศไทย) และเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ในหัวข้อ “การส่งเสริมสุขภาพผู้หญิง” โดยนำเสนอข้อมูลสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับสุขภาพผู้หญิงไทย ความท้าทายที่ผู้หญิงไทยกำลังเผชิญ รวมไปถึงแนวทางการส่งเสริมสุขภาพ
มร.โยชิฮิโร ทาคาดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโอลิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลาดยาคุมกำเนิด (Contraceptive) มีมูลค่าสูงถึง 6,000 ล้านบาท ประเทศไทยครองส่วนแบ่งตลาดถึง 50% ผู้หญิงจำเป็นต้องได้รับยาที่เฉพาะเจาะจง เนื่องจากในแต่ละคนนั้นมีการตอบสนองต่อยาที่แตกต่างกันออกไป เราจึงจำเป็นจะต้องมีนวัตกรรมที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น มีผล และข้อมูลที่แม่นยำไม่ใช่เพียงแค่เรื่องยา แต่ยังรวมไปถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ จะเป็นการให้ความรู้แบบองค์รวมโดยเฉพาะในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

“คนไทยสามารถเข้าถึงยา และเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ถือว่าดีกว่าในหลายๆ ประเทศ แต่ถึงอย่างนั้นในชนบทยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงยา และระบบการรักษาอยู่บ้าง อีกทั้งยังรวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพต่างๆ อีกหนึ่งสาเหตุคือ ส่วนตัวคิดว่าคนไทยไม่ชอบพูดเรื่องส่วนตัวกับใคร เพราะฉะนั้นการเผยแพร่ และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลจึงเป็นหน้าที่ที่เราต้องร่วมมือกันทำให้กับสังคม” มร.โยชิฮิโรกล่าว
ขณะที่ ศ.พญ สฤกพรรณ วิไลลักษณ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการมะเร็งในสตรีของสมาพันธ์สูตินรีเวชนานาชาติ กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพของผู้หญิงไทยเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เพื่อร่วมกันหาแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพของผู้หญิงไทยให้ดีขึ้น โดยปัญหาสุขภาพของหญิงไทยที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม รวมถึงภาวะอ้วนและโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้าในกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานและผู้สูงอายุ

“นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ไม่เท่าเทียมในพื้นที่ชนบท ซึ่งต้องมีการดูแลและให้ความสำคัญเพื่อให้ผู้หญิงไทยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม โดยการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ขจัดความเข้าใจผิด และการกระตุ้นให้ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดเสี่ยงจากโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้”
ศ.พญ สฤกพรรณ แนะนำว่า ควรเริ่มรักษาสุขภาพของตนเองด้วยการออกกำลังกาย และใช้ชีวิตให้สดใส อีกทั้งหากพบอะไรที่ผิดปกติกับร่างกาย แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตามควรไปปรึกษาแพทย์ ซึ่งการดูแลตัวเองนั้นเป็นอะไรที่ต้อง “เรียนรู้ตลอดชีวิต”
ด้าน นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ กรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ กล่าวว่า ในยุคออนไลน์ที่ข้อมูลสุขภาพผู้หญิงถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ทำให้หลายคนนั้นเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ซึ่งบางเรื่อง อาจทำให้ “เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย” เรื่องเข้าใจผิดต่างๆ นั้นมีส่วนต่อการตัดสินใจในการรักษา
“การเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยสามารถใช้ช่องทางหลายรูปแบบ เช่น สื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย วิทยุ และโทรทัศน์ โดยข้อมูลควรนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย รวมถึงการร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ร่วมถึงหน่วยงานภาครัฐ จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่น และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น” นพ.โอฬาริกกล่าว

ในส่วนของ อาจารย์เภสัชกรกฤติน บัณฑิตานุกูล อุปนายก สมาคมเภสัชกรรมชุมชนคนที่ 2 ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าถึงปัญหาและความท้าทายในการให้ข้อมูลสุขภาพ จากมุมมองของเภสัชว่า
“ผู้หญิงวัย 30-50 ปี มักเผชิญปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน หรือโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือปัญหาทางเดินปัสสาวะ แต่ส่วนใหญ่เข้ามาปรึกษาเภสัชค่อนข้างน้อย โดยส่วนใหญ่มักจะปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาคุมกำเนิด การรักษาปัญหาประจำเดือน ไปจนถึงการดูแลกระดูกและข้อในช่วงวัยหมดประจำเดือน”

สำหรับ ตัวแทนภาคเอกชนอย่าง เภสัชกรปัณณวิชญ์ จิตเมธีพงษ์ ผู้อำนวยการหน่วยธุรกิจยา และเวชภัณฑ์ บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวทิ้งท้ายว่า จากเทรนด์ความท้าทายด้านสุขภาพผู้หญิงที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ทำให้เห็นว่าการดูแลสุขภาพผู้หญิงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

เพื่อให้ผู้หญิงมีความรู้ในการตัดสินใจและมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน