กรีซค้นพบ ฐานทัพเรือในศึกซาลามิส

ภาพ-V. Mentoyannis

เมื่อเร็วๆ นี้ ทางกระทรวงวัฒนธรรมและการกีฬาของกรีซ แถลงความสำเร็จในการสำรวจทางโบราณคดีของทีมนักโบราณคดีชาวกรีกที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญถึง 20 คนจาก 2 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเอโฟเรตเพื่อโบราณคดีใต้น้ำ กับ สถาบันเพื่อโบราณคดีทางน้ำแห่งเฮเลนิค ที่ตรวจสอบพบร่องรอยและซากที่เหลือของฐานทัพเรือยุคโบราณที่เคยใช้ในการทำยุทธนาวีที่มหึมาที่สุดและส่งผลสะเทือนมากที่สุดครั้งหนึ่งของโลกที่บริเวณชายทะเลของเกาะซาลามิส

สงครามดังกล่าวถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน 10 สงครามระดับมหากาพย์ที่ผลลัพธ์เป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ รู้จักกันในชื่อ “ยุทธนาวีแห่งซาลามิส” ซึ่งเป็นการต่อสู้ขับเคี่ยวกันระหว่างกองกำลังกรีกและสปาร์ตันและอื่นๆ ภายใต้การนำของกษัตริย์เซอร์เซสผู้ครองอาณาจักรเอเธนส์กับกองทัพเปอร์เซีย เกิดขึ้นคู่ขนานกันกับศึกทางบก ที่รู้จักกันในชื่อ “ยุทธการเทอร์โมพิลี” ตามชื่อช่องเขาในกรีซ ซึ่งเกิดขึ้นราว 480 ปีก่อนคริสตกาล (ผู้อ่านหลายคนอาจรู้จักสงครามครั้งนี้ดี จากภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากประวัติศาสตร์ชื่อ “300”)

อ่าวและท่าเรือโบราณดังกล่าว ถูกระบุว่าตั้งอยู่ในพื้นที่อ่าวขนาดเล็กที่มีการคุ้มครองสภาพไว้เป็นอย่างดีชื่ออ่าวอัมเบลากี ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะซาลามิส ของกรีซ ถูกค้นพบระหว่างการสำรวจโบราณคดีใต้ทะเลที่ทางกระทรวงระบุว่าเป็นการสำรวจอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรกของประเทศ ในสภาพพื้นที่ทางน้ำที่สภาวะแวดล้อมเป็นพิษอย่างมากแต่มีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์สูงมาก

ทีมสำรวจค้นพบซากที่เคยเป็นโครงสร้างของท่าเรือ, ป้อมค่ายและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ซึ่งมีอายุย้อนหลังไปในยุคคลาสสิก (ระหว่าง 500-400 ปีก่อนคริสตศักราช) และยุคเฮเลนิสติค (ยุคเฮเลนิสติค โดยทั่วไปแล้วถือกันว่าเริ่มต้นตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเมื่อ 323 ปีก่อนคริสตกาล) ซากสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เหล่านี้มีร่องรอยหลงเหลือให้เห็นทั้งทางด้านเหนือ ตะวันตกและด้านใต้ของอ่าวอัมเบลากี และสามารถมองเห็นโครงสร้างเหล่านี้ได้ด้วยตาเปล่าเมื่อน้ำลงจนถึงระดับต่ำมาก ในช่วงเวลาจำเพาะในแต่ละปี

Advertisement


ยานนอส โลลอส ศาสตราจารย์ทางโบราณคดีของมหาวิทยาลัยไอโอนนีนาซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานสถาบันเพื่อโบราณคดีทางน้ำแห่งเฮเลนิค ระบุว่า ซากป้อมค่ายทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอ่าวถือเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงการเป็นพื้นที่หวงห้ามพิเศษที่เป็น “พื้นที่ทางทหารหลัก” ในอ่าวซาลามิสที่เป็นดินแดนของอาณาจักรเอเธนส์ในยุคคลาสสิก แบ่งแยกออกจากฝั่งด้านใต้ด้วยแนวกำแพงกันคลื่นลมที่ยาวเป็นพิเศษราว 160 เมตร ส่วนปลายสุดของแนวกำแพงดังกล่าวสร้างเป็นหอคอยกลมแข็งแรงแบบเดียวกับที่เคยสำรวจพบในพื้นที่อ่าวอื่นๆ โดยทางด้านตะวันออกของเขตพื้นที่ทหารนี้มีการสร้างกำแพงหินยาวราว 50 เมตรตลอดแนว

ส่วนร่องรอยของซากสิ่งปลูกสร้างทางด้านใต้ของอ่าว เป็นแนวกำแพงกันคลื่นความยาว 40 เมตรกับกำแพงยาว 30 เมตรอีกส่วนที่เชื่อมต่อกับสิ่งปลูกสร้างทรงจัตุรัสคล้ายหอคอย

โลลอสกล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจทั้งหมดทำให้หมดข้อสงสัยว่า พื้นที่นี้คือที่ตั้งของกองเรือกรีกที่เป็นแหล่งชุมนุมทหารหลักและเป็นจุดที่กรีกใช้เริ่มปฏิบัติการโจมตีกองทัพเรือเปอร์เซียเพื่อเปิดยุทธการดังกล่าว

Advertisement

บียอร์น ลอเฟน ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีของมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ระบุว่า ชัยชนะของกรีกในยุทธนาวีซาลามิสเหนือเปอร์เซีย ส่งผลให้เกิดยุคที่เรียกว่า ยุคทองแห่งเอเธนส์ขึ้นตามมา

แต่ทุกอย่างอาจเป็นตรงกันข้ามและโลกอาจไม่ตกอยู่ในสภาพเหมือนที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้หากเปอร์เซียเป็นผู้ชนะในศึกครั้งนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image