วิถีใหม่ “ผู้สูงอายุ” ยุค 4.0 ส่งความสุขแบบ “ออนไลน์” เชื่อมสัมพันธ์ครอบครัว

ใกล้เข้าสู่วันผู้สูงอายุ 13 เมษายน ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่นานนี้ สมาคมบ้านปันรัก จึงได้จัดเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อ “ส.ค.อ. (ส่งความสุขออนไลน์) ซินโดรม โรคใหม่ของผู้สูงวัยยุค 4.0” เปิดเผยข้อมูลของผู้สูงอายุในโลกยุคดิจิตอล ที่ว่า กลุ่มผู้สูงอายุที่ใช้โซเชียลออนไลน์แต่พอดีถือเป็นกลุ่มคนที่มีความสุขมากที่สุด และผู้สูงอายุก็อาจใช้เทคโนโลยีที่มีในการติดต่อสื่อสารเชื่อมสัมพันธ์ครอบครัว สร้างสุขให้ยั่งยืนได้

ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัยและนายกสมาคมบ้านปันรัก กล่าวถึงสถานการณ์ของผู้สูงอายุในประเทศไทยโดยระบุว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10 ล้านคน ซึ่งจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบภายใน พ.ศ. 2568 และคาดว่าอีกประมาณ 15 ปีประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุยิ่งยวด คือ มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ ในสภาพสังคมยุคโซเชียลฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น การปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ของผู้สูงวัยจึงเป็นประเด็นที่สังคมควรให้ความสำคัญ เพื่อช่วยลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย และช่วยให้ผู้สูงวัยได้อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีและเห็นคุณค่าในตัวเอง นอกจากนี้ เทคโนโลยียังช่วยให้ผู้สูงวัยได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ในโลกที่ไร้พรมแดน และยังช่วยลดปัญหาสุขภาพได้อีกด้วย

อาจารย์กนกกาญจน์ บัญชาบุษบง อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า กลุ่มผู้สูงอายุเมื่อเกษียณอายุจากการทำงานก็จะเป็นกลุ่มที่มีเวลาว่างมาก จนทำให้เกิดความเหงา หรือมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นกลุ่มที่ต้องการการพูดคุย การเอาใจใส่และต้องการสื่อสารกับคนในครอบครัวมากกว่ากลุ่มคนอื่นๆ ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะแอปพลิเคชันไลน์ เป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มคนเหล่านี้ ทั้งนี้ สำหรับผู้สูงอายุนั้น สื่อสังคมออนไลน์ เป็นช่องทางการสื่อสารที่ช่วยให้คลายความเหงา ความคิดถึงลูกหลาน ที่อาจมีเวลามาพบปะกันไม่บ่อยนัก การสื่อสารของกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะถนัดในการส่งภาพ คลิปวีดีโอ หรือการคุยแบบเห็นหน้ากันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มากกว่าการพิมพ์ข้อความ ดังนั้นลูกหลาน เมื่อจะสื่อสารกับผู้สูงอายุในครอบครัว จึงควรเลือกใช้วิธีดังกล่าว มากกว่าพิมพ์ข้อความ ที่ผู้สูงอายุอาจจะติดขัดด้านการอ่าน

Advertisement

“ลูกหลานก็ไม่ควรละเลยการดูแลผู้สูงอายุในบ้านโดยใช้สื่ออนไลน์เข้ามาทดแทน เพียงอย่างเดียว แต่ควรนำมาใช้ในการพบปะพูดคุยกัน โดยอาจหยิบยกเอาเรื่องในสื่อสังคมออนไลน์มาพูดคุย หรือการตั้งโจทย์ง่ายๆ เช่น การถ่ายภาพ ส่งภาพ ถ่ายวีดีโอ แล้วส่งให้กันในกลุ่มครอบครัว เพื่อเป็นกิจกรรมในการสร้างความสุขและความสัมพันธ์ระหว่างลูกหลานและผู้สูงอายุ ทั้งนี้ เพราะการพัฒนาผู้สูงอายุให้เป็นผู้สูงวัย 4.0 ที่สามารถอยู่กับเทคโนโลยีได้จะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย เพราะสภาพสังคมปัจจุบันเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร การดำเนินชีวิตทุกอย่างถูกผลักดันให้ดำเนินไปผ่านเทคโนโลยี นี่จึงเป็นส่วนเติมเต็มให้ผู้สูงวัยก้าวทันโลกทันเหตุการณ์ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และช่วยฝึกความจำ ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย เพราะการใช้โซเชียลมีเดียผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตผู้สูงอายุต้องใช้ทักษะสูง ทำให้ได้ฝึกสมองด้วยเช่นกัน” อาจารย์กนกกาญจน์กล่าว


ดนิตา กมลงาม อายุ 66 ปี หนึ่งใน สว. ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เผยว่า จากที่ตนมาได้เข้ามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้ความรู้และข้อแนะนำดีๆ สำหรับการใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น เพราะบางครั้งตัวเราเองเพลิดเพลินกับการใช้สื่อเหล่านี้มากเกินไปโดยที่เราไม่รู้ตัว ด้วยความคิดที่ว่าเราจะต้องตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา แต่บางครั้งก็ลืมไปว่าถ้าหากเราจมอยู่กับโลกโซเชียลมากเกินไปไม่ใช่เฉพาะกับผู้สูงวัยเท่านั้น กลุ่มลูกหลานคนรุ่นใหม่ก็เช่นเดียวกัน จากที่จะใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์กลับส่งผลเสียทั้งในด้านอารมณ์ การปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมถึงด้านร่างกาย อาทิ ปวดหลัง ปวดตา ปวดไหล่ ล้วนเกิดจากการใช้โซเชียลแบบไม่รู้เท่าทัน ในการเสวนาวิทยากรได้ให้ความรู้ที่ดีมาก จึงอยากบอกต่อเพื่อนๆ สว. ว่าหลังจากที่เราเล่นโซเชียลมีเดียเสร็จแล้ว ควรเว้นระยะเวลาในการใช้ออกไปอีก 1 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อไปทำกิจกรรมต่างๆ กับคนครอบครัว และไม่ควรเล่นเกินวันละ 3 ชั่วโมงต่อวัน จากผลงานวิจัยจะทำให้เรามีความสุขในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นความรู้ใหม่และเป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงวัยที่ใช้โซเชียลมีเดียอยู่เป็นประจำ ควรนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้มีความสุขต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image