มองทะลุเรื่องสวยๆงามๆ ส่องข้อเสนอ “กะเทย” ไปเกณฑ์ทหาร

แฟ้มภาพ

1-12 เมษายนของทุกปีเป็นฤดูเกณฑ์ทหาร นอกจากข่าวนักร้องนักแสดงชายไปตรวจรับการเกณฑ์ทหาร ที่สังคมจับจ้องให้ความสนใจแล้ว ยังมีกลุ่มกะเทยหรือคนข้ามเพศที่สังคมความให้ความสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งนอกจากความสวยงาม ความตลกขบขันที่ถูกนำไปพูดถึงแล้ว ยังมีแง่มุมความลำบากใจในระบบทหารที่เรียกร้องอยากให้แก้ไข จึงเป็นที่มาของงานเสวนา “จิบกาแฟ นั่งคุย กะเทยเกณฑ์ทหาร ผ่านสื่อ” จัดโดย กสทช. โดยสำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

พ.อ.สมพล ปะละไทย ผู้อำนวยการกองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน กระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ในปีนี้ได้ปฐมนิเทศน์กับกองทัพภาคต่างๆ เพื่อให้คณะกรรมการมีความเข้าใจในการปฏิบัติต่อบุคคลที่มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ตั้งแต่การจัดเก้าอี้ให้นั่ง การไม่พูดจาที่สร้างความอึดอัดใจ และมีห้องลับที่มิดชิดสำหรับตรวจร่างกาย

“เราได้เน้นย้ำให้ปฏิบัติต่อเสมือนเป็นน้องสาวของเรา ที่จะทำให้เกิดความสบายใจที่สุด ก็เชื่อมั่นว่าการปฏิบัติในปีนี้จะเรียบร้อยและดียิ่งๆขึ้นไป” พ.อ.สมพลกล่าว

Advertisement

ภายในงานมีกลุ่มกะเทยร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งหลายคนแสดงความยินดีถึงกะเทยรุ่นน้อง ที่ได้รับอานิสงส์จากคำสั่งศาลปกครองในปี 2554 ให้ปรับแก้ถ้อยคำในใบสด.43 จากคำว่า “โรคจิต วิกลจริต” เป็น “ผู้ที่มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” ต่างจากพวกเธอที่ต้องเสียโอกาสสำคัญในชีวิต

พ.อ.สมพล ปะละไทย

เจษฎาพร ทองงาม จากกลุ่มพยูนศรีตรัง เครือข่ายทำงานด้านสิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เล่าประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่ต้องไปตรวจรับการเกณฑ์ทหารว่า การไปเกณฑ์ทหารคือตราบาปในชีวิต ภายหลังรับใบสด.43 ที่ระบุว่าเป็นบุคคลโรคจิต วิกลจริต ที่ทำให้ไม่สามารถไปสมัครงานที่ไหนได้ ความตั้งใจว่าจะเรียนให้จบภายใน 3 ปีครึ่งก็จบลง สุดท้ายได้พ่อแม่ลงทุนเปิดร้านขายของชำเล็กๆให้

เจษฎาพร ทองงาม

ขณะที่ จำรอง แพงหนองยาง จากมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) เผยว่า จริงๆกะเทยก็อยากนั่งกับพื้นเสมือนผู้ชายที่ตรวจรับเลือกเช่นกัน เพราะการจัดให้นั่งเก้าอี้อาจทำให้ถูกมองว่ากะเทยคือพวกอภิสิทธิ์ชน รวมถึงในห้องลับที่กะเทยต้องเข้าไปตรวจ ขอให้มีคนที่ไว้ใจได้ อาทิ เพื่อนกะเทย หรือผู้หญิงเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ได้หรือไม่ และการให้ทหาร กสทช. และสื่อมวลชน ช่วยกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์การเตรียมตัวของกะเทยให้มากกว่านี้

Advertisement
จำรอง แพงหนองยาง

ก่อนที่ พ.อ.สมพลจะมาชี้แจงว่า เดี๋ยวนี้ทหารมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบตั้งแต่อายุ 17 ปี ที่มาลงทะเบียน รวมถึงอายุ 20 ปี ที่มารับหมายเรียก ว่าให้บุคคลที่มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดไปตรวจกับแพทย์จิตเวชของโรงพยาบาลในเครือข่าย แล้วนำในรับรองแพทย์นั้นมานำปลด ส่วนข้อเสนอให้เพิ่มคนที่ไว้ใจเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ในห้องลับนั้น ตรงนี้ได้ดำเนินตามกฎหมายที่อนุญาตให้แค่ 3 คนนี้เข้าไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image