ไดโนเสาร์ยักษ์ ทิ้งรอยเท้า1.7เมตร ไว้ที่ออสเตรเลีย

(ภาพ-Salisbury et al.-Journal of Vertebrate Paleontology-2017)

ทีมวิจัยทางด้านบรรพชีวินวิทยาจาก มหาวิทยาลัยแห่งควีนส์แลนด์ (ยูคิว) รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย นำโดยศาสตราจารย์ สตีฟ ซัลลิสเบอรี เปิดเผยผลการสำรวจพื้นที่บริเวณ คาบสมุทรแดมเปียร์ บริเวณชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย ไว้ในวารสารวิชาการ เจอร์นัล ออฟ เวอร์เทเบรท พาเลออนโทโลยี เมื่อเร็วๆนี้ ระบุว่า สามารถค้นพบฟอสซิลรอยเท้าของไดโนเสาร์ขนาดยักษ์ในพื้นที่ดังกล่าว เฉพาะตัวรอยเท้ามีขนาดเท่ากับตู้เย็นขนาดเขื่องตู้หนึ่ง วัดความยาวได้ถึง 1.7 เมตร ถือเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีการรับรู้กันในเวลานี้

การค้นพบดังกล่าว ทำให้คาบสมุทรแดมเปียร์ ซึ่งยื่นยาวออกไปในทะเล 25 กิโลเมตร ได้รับการขนานนามว่าเป็น “จูราสสิคปาร์กแห่งออสเตรเลีย” (แม้ว่ารอยเท้ามหึมาดังกล่าวเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์ที่มีชีวิตอยู่ในราว 140 ล้านปีถึง 127 ล้านปีก่อนซึ่งอยู่ในยุค ครีเทเชียส ไม่ใช่ยุคจูราสสิคก็ตาม) และเป็นแหล่งฟอสซิลไดโนเสาร์ที่มีความหลากหลายมากที่สุดเท่าที่มีอยู่ในโลกในเวลานี้

รอยเท้ามหึมาดังกล่าวน่าจะเป็นรอยเท้าของ ซอโรพอด ไดโนเสาร์คอยาว หางยาว กินพืชเป็นอาหาร เป็นส่วนหนึ่งของรอยเท้าของไดโนเสาร์อีกหลายชนิดมากที่ตรวจสอบพบ รวมแล้วมากถึง 21 ชนิด โดยรอยเท้าของไดโนเสาร์ขนาดเล็กอื่นๆนั้น ทีมวิจัยเชื่อว่าน่าจะเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์กินเนื้อจำพวกเทอโรพอดส์ และไดโนเสาร์กลุ่มกินพืชอื่นๆ

นักวิจัยตรวจพบเส้นทางของฟอสซิลรอยเท้าหลายพันรอย ในจำนวนนี้มี 150 รอยซึ่งสามารถจำแนกชนิดได้อย่างมั่นใจว่าแยกได้เป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์ 21 สายพันธุ์แตกต่างกันออกไปแต่จัดอยู่ในกลุ่มไดโนเสาร์รวม 4 กลุ่มด้วยกัน คือรอยเท้าของกลุ่มซอโรพอดส์ 4 แนว, อีก 4 เส้นทางเป็นของ ไดโนเสาร์ปากเป็ดเดินสองขา กินพืช ซึ่งอยู่ในกลุ่ม ออนิโธพอดส์, และอีก 6 เส้นทางเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์ มีเกราะเดินด้วยขาทั้งสี่ในกลุ่มแองกิโลซอร์ กับรอยเท้าขนาดใหญ่ของซอโรพอดส์ดังกล่าวเป็นกลุ่มสุดท้าย

Advertisement

ร่องรอยไดโนเสาร์จำนวนมากดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ของเมืองบรูเม เมืองซึ่งตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของออสเตรเลียนั้น เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยชุกชุมของไดโนเสาร์ นอกจากนั้น ซัลลิสเบอรี ระบุว่า รอยเท้าที่พบที่นี่มีอายุเก่าแก่กว่าฟอสซิลไดโนเสาร์ส่วนใหญ่ของออสเตรเลีย ซึ่้งมักมาจากพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศและมีอายุย้อนหลังไปราว 115 ล้านปีถึง 90 ล้านปีเท่านั้น พื้นที่แหล่งฟอสซิลไดโนเสาร์ในคาบสมุทรแดมเปียร์จึงมีความสำคัญทางวิชาการอย่างยิ่ง

โครงการสำรวจพื้นที่นี้ เริ่มต้นเมื่อปี 2008 เมื่อ ฟิลลิป โร ชาวพื้นเมืองอะบอริจินส์ ที่เป็นหัวหน้าของชนเผ่าที่ยึดถือวัฒนธรรม กูลาราบูลู ที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่นี้และถือว่าตนเองเป็นผู้คุ้มครองพื้นที่ติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เพื่อให้มาสำรวจทางวิชาการในบริเวณนี้ หลังจากทางรัฐบาลออสเตรเลีย มีโครงการจะใช้พื้นที่นี้เป็นแหล่งที่ตั้งของโรงแยกและโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์

ทีมสำรวจใช้เวลาไม่น้อยกว่า 400 ชั่วโมงสำรวจพื้นที่อย่างเข้มข้นแข่งกับเวลาเพราะโครงการดังกล่าว ต้องต่อสู้ หาทางหลีกหนีทั้ง ฉลาม, จรเข้ และกระแสน้ำสูงในบริเวณ จนสามารถพิสูจน์คุณค่าของพื้นที่นี้ได้สำเร็จ

Advertisement

รัฐบาลออสเตรเลียประกาศให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่มรดกแห่งชาติในปี 2011 และยุติโครงการโรงแยกก๊าซไปในที่สุดในปี 2013

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image