“นาซา” พบอะไร ในมหาสมุทร “เอ็นเซลาดัส”

(ภาพ-NASA)

ยานสำรวจอวกาศ แคสซินี ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) เดินทางไปสำรวจดาวเสาร์และดาวบริวาร โดยเฉพาะ “เอ็นเซลาดัส” หนึ่งในดวงจันทร์ 26 ดวงของดาวเสาร์ซึ่งแคสซินีโฉบผ่านเข้าไปในระยะใกล้ ฝ่าเข้าไปใน “น้ำพุร้อน” หรือเกย์เซอร์นับร้อยเพื่อเก็บตัวอย่างมาศึกษาวิจัย ผลการศึกษาวิจัยตัวอย่างดังกล่าวคือสิ่งที่ทำให้นาซาประกาศออกมาถึงการค้นโลก “วอเทอร์เวิลด์” โลกที่เต็มไปด้วยน้ำ ที่อาจเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์ของดาวเสาร์ดวงนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เอ็นเซลาดัส มีขนาดความกว้าง 504 กิโลเมตร เป็นดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดเป็นลำดับที่ 6 ของดาวเสาร์ ในปี 2005 แคสซินีตรวจสอบพบเป็นครั้งแรกว่า บริเวณริ้วรอยบนเปลือกนอกที่เป็นน้ำแข็งของเอ็นเซลาดัส ซึ่งถูกเรียกว่า “ลายเสือ” ใกล้กับบริเวณขั้วใต้นั้นมีน้ำพุร้อนพวยพุ่งขึ้นมา นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าน้ำพุดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ใต้เปลือกนอกที่เย็นจัดจนเยือกแข็ง มีมหาสมุทรขนาดใหญ่คงสภาพเป็นของเหลวอยู่ และน้ำพุที่พุ่งขึ้่นมาอาจนำสสารบางอย่างจากมหาสมุทรใต้แผ่นน้ำแข็งนั้นขึ้นมาได้

ความคิดดังกล่าวทำให้ ในเดือนตุลาคม ปี 2015 แคสซินีถูกบังคับให้โฉบผ่านเข้าไปในบริเวณน้ำพุร้อนดังกล่าวในระยะประชิด ห่างจากพื้นผิวของเอ็นเซลาดัสเพียง 49 กิโลเมตร เพื่อเก็บตัวอย่างสิ่งที่พวยพุ่งขึ้นมาวิเคราะห์ แล้วส่งข้อมูลกลับมายังนาซา โดยอาศัยอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ไอเอ็นเอ็มเอส” (ไอออน แอนด์ นิวทรัล แมส สเปคโตรมิเตอร์) เพื่อการวิเคราะห์นี้

(ภาพ NASA)

นาซา ส่งข้อมูลที่ได้รับมาต่อไปยัง ทีมวิจัยของ สถาบันวิจัยเซาธ์เวสต์ (เอสดับเบิลยูอาร์ไอ) นำโดย ฮันเตอร์ เวท เพื่อวิเคราะห์และตีความสิ่งที่แคสซินีพบเห็นบนเอ็นเซลาดัส

Advertisement

ทีมวิจัยใช้เวลาไม่น้อยในการสังเคราะห์และตีความข้อมูลทั้งหมด เริ่มจากการคำนวณหาสัดส่วนของสิ่งที่พบบนไอที่ถูกพ่นขึ้นมา ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า ในปริมาณของไอที่ถูกพ่นขึ้นมาทั้งหมด มีโมเลกุลของไฮโดรเจน (H2) อยู่ระหว่าง 0.4-1.4 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นยังมี คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อยู่ด้วยอีก 0.3-0.8 เปอร์เซ็นต์ ในมวลของไอที่ถูกพ่นขึ้นมาทั้งหมด

คำถามถัดไปก็คือ ไฮโดรเจน ดังกล่าวมาจากไหน? ทีมวิจัยพบว่า ทั้งมหาสมุทร (ที่คงสภาพเป็นของเหลว) และเปลือกนอกที่เยือกแข็ง ไม่น่าจะเป็นแหล่งสะสมไอโดรเจนที่มีความไม่เสถียรสูงมากอยู่ได้เป็นระยะเวลานาน และพบด้วยว่า กระบวนการใดๆ(หากมี)ที่สามารถแยกไฮโดรเจนเป็นอิสระออกมาได้จากเปลือกที่เยือกแข็งของมหาสมุทร ก็ต้องไม่สามารถแยกไฮโดรเจนออกมาได้ในปริมาณสูงขนาดนั้น ทีมวิจัยพยายามหาคำตอบอื่นๆอีกในที่สุดก็พบว่าทุกๆทางล้วนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่สำรวจพบ ยกเว้นทางเดียว

นั่นคือ ไฮโดรเจน เหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมา “ตลอดเวลา” โดยปฏิกิริยาระหว่างหิน (หลอมเหลว) กับน้ำร้อนบริเวณรอบๆแกนกลางของเอ็นเซลาดัส

Advertisement

หรือพูดง่ายๆได้ว่า ความร้อนจากแกนกลางของดาวทำให้น้ำร้อนขึ้นส่งผลให้ไฮโดรเจนแยกตัวออกมาเป็นอิสระจากการเกาะเกี่ยวกันอยู่เป็นสสารอื่นๆ ในมหาสมุทร แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นบริเวณปล่องความร้อนใต้สมุทร “ไฮโดรเทอร์มัล เวนท์” ในหลายจุดบนพื้นมหาสมุทรบนโลก

ข้อสรุปนี้ สอดคล้องกับงานวิจัยของข้อมูลจากชุดเดียวกันของอีกทีมวิจัยที่เผยแพร่ออกมาเมื่อปี 2016 ซึ่งระบุว่า เม็ดซิลิกาขนาดเล็กมากที่ถูกพ่นขึ้นมากับลำเกย์เซฮร์ของเอ็นเซลาดัสนั้น “เกิดขึ้นได้วิธีเดียวเท่านั้นคือเกิดจากน้ำร้อนในบริเวณที่มีความลึกอย่างมีนัยสำคัญ”

ประเด็นที่ทำให้การค้นพบครั้งนี้น่าตื่นเต้นจนต้องมีพิธีการประกาศกันออกมา ก็คือ “ไฮโดรเทอร์มัล เวนท์” ทุกแห่งใต้มหาสมุทรบนโลก เป็นแหล่งชุมนุมของสิ่งมีชีวิตจนเป็น “ชุมชน” มากมายมหาศาลของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เสพเคมีเป็นพลังงาน ไม่จำเป็นต้องอาศัยแสงอาทิตย์

ตัวอย่างเช่นจุลชีพ “เมทาโนเจน” ที่อาศัย คาร์บอนไดออกไซด์ กับ ไฮโดรเจน เพื่อสร้างพลังงานและได้ก๊าซ มีเทน (CH4) ขึ้นมาในภาวะไร้อากาศ ซึ่งเรียกว่ากระบวนการ “เมทาโนเจเนซิส” เป็นต้น

นั่นหมายความว่า บริเวณที่ก่อกำเนิดไฮโดรเจนบนเอ็นเซลาดัสก็สามารถรองรับหรือเอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตทำนองเดียวกันนี้ใช่หรือไม่?

คำตอบอาจเป็นได้ทั้งใช่ และไม่ใช่ การค้นพบครั้งนี้จึงไม่ใช่การค้นพบ “สิ่งมีชีวิต”

แต่เป็นการค้นพบว่า เอ็นเซลาดัส มีสภาพใกล้เคียงยิ่งกับสภาพที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตบนโลกเรา และการสำรวจเพื่อหาข้อเท็จจริงยืนยันจำเป็นต้องมีต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image