ก๊าซมีเทนรั่วในสหรัฐ ‘ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์’

ภาพจาก austincountynewsonline.com

ผลวิจัยเพื่อศึกษาผลกระทบการรั่วไหลของก๊าซมีเทน ที่อลิโซ แคนยอน แหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ครั้งล่าสุดพบว่า ปริมาณการรั่วไหลของก๊าซมีเทนออกสู่ชั้นบรรยากาศโลกนั้นมีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซของรถยนต์ 500,000 คันเป็นเวลา 1 ปี และยังส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการรั่วไหลของน้ำมันของบริษัท บีพี ในอ่าวเม็กซิโก เมื่อปี 2553 อีกด้วย

การรั่วไหลของก๊าซมีเทนตรวจพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2558 เป็นการรั่วไหลออกจากแหล่งก๊าซ 1 ใน 115 แหล่งที่เชื่อมต่อกับแหล่งเก็บกักก๊าซธรรมชาติใต้ดินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ในสหรัฐอเมริกา ด้านบริษัทผู้เป็นเจ้าของแหล่งก๊าซดังกล่าวได้พยายามอุดรอยรั่วของก๊าซถึง 7 ครั้งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ท่ามกลางความห่วงกังวลถึงผลกระทบจากการรั่วไหล ส่งผลให้ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสั่งให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงกว่า 11,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่

รายงานระบุว่า การรั่วไหลของก๊าซมีเทนในแต่ละวันสามารถเติมลูกบัลลูนขนาดเท่ากับสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ให้เต็มได้ โดยในช่วงที่มีการรั่วไหลถึงจุดสูงสุดนั้นอยู่ในระดับที่สูงกว่าการปล่อยก๊าซมีเทนของแหล่งก๊าซในนครลอสแอนเจลิสทั้งหมดถึง 2 เท่า ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สามารถหยุดการรั่วไหลของก๊าซมีเทนได้อย่างถาวรเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งในเวลานั้นก๊าซมีเทนได้รั่วไหลออกมาสู่ชั้นบรรยากาศแล้วทั้งสิ้น 100,000 ตัน

นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากการขึ้นบินตรวจสอบอากาศภายในและโดยรอบจุดที่มีการรั่วไหลจำนวน 13 เที่ยวบิน บวกกับข้อมูลอากาศภาคพื้นดินพบว่า การรั่วไหลของก๊าซมีเทนในครั้งนี้เป็นการรั่วไหลครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มากกว่าการรั่วไหลที่รัฐเท็กซัส เมื่อปี 2547 ซึ่งส่งผลกระทบกับสภาพแวดล้อมน้อยกว่าเนื่องจากถูกเผาไหม้ไปหมด

Advertisement

ขณะที่การรั่วไหลครั้งล่าสุดจะส่งผลให้รัฐแคลิฟอร์เนียไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศในปีนี้ได้ เนื่องจากก๊าซมีเทนแม้จะเป็นสสารที่มีอายุในบรรยากาศสั้น แต่กลับมีศักยภาพในการสร้างความร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า นอกจากนี้ การเก็บตัวอย่างยังพบสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าปกติหลายชนิด ในจำนวนนี้รวมไปถึง เบนซิน โทลูอีน และไซลีนด้วย

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การรั่วไหลของก๊าซมีเทนในครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญให้เรียนรู้ โดยเฉพาะความจำเป็นในการตรวจสอบสิ่งก่อสร้าง รวมถึงชิ้นส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซอย่างระมัดระวังมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image