1 ทุ่ม ครึ่ง คืนนี้ ระทึก ดาวเคราะห์น้อยยักษ์ ขนาด 6 สนามฟุตบอล เฉียดโลก สดร.เผยใกล้สุดในรอบ 400 ปี

วันที่ 19 เมษายน นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า วันที่ 19 เมษายน 2560 เวลา 19:24 น. ตามเวลาในประเทศไทย ดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 650 เมตร หรือขนาดสนามฟุตบอลประมาณ 6 สนามต่อกัน จะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดที่ระยะทาง 1.8 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 4.6 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์(ระยะทางจากดวงจันทร์ถึงโลกมีขนาด 3.8 แสนกิโลเมตร) ในส่วนของประเทศไทย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จะใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.7 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เฝ้าติดตามตำแหน่งการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อย่างใกล้ชิด และถึงแม้ว่าดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 จะเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ที่โคจรเข้ามาเฉียดใกล้โลก แต่ขอยืนยันว่าจะไม่มีโอกาสชนโลก และไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อมนุษย์อย่างแน่นอน

นายศรัณย์ กล่าวว่า ดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 ถูกค้นพบในเดือนพฤษภาคม 2557 โดยนักดาราศาสตร์ของหอดูดาวแคทาลินา สกาย เซอร์เวย์ เมืองทูซอน รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา จากการตรวจสอบวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ พบว่าครั้งนี้เป็นการโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 400 ปี และจะไม่เกิดขึ้นอีกอย่างน้อยในรอบ 500 ปี และเนื่องจากเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่ามันมีขนาดใหญ่กว่ากรณีอุกกาบาตตกที่เมืองเชลยาบินสก์ ประเทศรัสเซีย ประมาณ 60 เท่า นักดาราศาสตร์ทั่วโลกจึงเฝ้าจับตา และติดตามการโคจรของมันอย่างใกล้ชิด

นายวิมุติ วสะหลาย ฝ่ายวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า จากการคำนวณอย่างละเอียด นักดาราศาสตร์เชื่อมั่นว่า ดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 จะโคจรเฉียดโลกไป เช่นเดียวกับกับดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น ๆ ที่โคจรเฉียดโลก โดยไม่เกิดผลกระทบใด ๆ ต่อโลกและมนุษย์

“ประเด็นสำคัญของดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 คือ เป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดค่อนข้างใหญ่ มีความสว่างค่อนข้างมาก และเข้ามาใกล้โลกพอที่จะใช้กล้องดูดาวขนาด 3 นิ้ว ส่องแล้วมองเห็นได้ โดยเวลาที่เข้าใกล้มากที่สุดคือ 19.24 น. เวลาดังกล่าวนี้ 2014 JO25 จะอยู่ในกลุ่มดาวมังกร ใกล้ขั้วฟ้าด้านเหนือ อยู่ทางทิศเหนือ เยื้องทิศตะวันออกเล็กน้อย อยู่สูงจากขอบฟ้าประมาณ 10 องศา เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 33.6 กิโลเมตร ต่อวินาที โดยเราจะเริ่มสังเกตเห็นได้บริเวณกลุ่มดาวมังกร ตั้งแต่เวลาประมาณ 20:00 น. เป็นต้นไป”นายวิมุติ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image