50 ปี สมาคมคนตาบอดฯ ‘ความหวัง’ แม้ ‘มองไม่เห็น’

“ย้อนไปเมื่อ 50 ปีก่อน ยุคนั้นความรู้ความเข้าใจ การให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนตาบอดในบ้านเรา ยังขาดแคลนและมีน้อยเหลือเกิน ดังนั้น ถ้าใครเป็นคนตาบอดหรืออาจจะมีเหตุให้ต้องตาบอด ก็น่าจะเป็นสิ่งที่น่ากลัว เสมือนการสิ้นสุดของชีวิตก็ว่าได้ เพราะไม่รู้จะทำอะไร”

คำบอกเล่าของ ต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในงานสัมมนา 50 ปี สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กับนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน และสมัชชาคนตาบอดแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท 11 กรุงเทพฯ

ต่อพงศ์เล่าว่า การเกิดขึ้นของสมาคมฯ เกิดจากการรวมกลุ่มกันของผู้เคยได้รับการศึกษาจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ซึ่งก่อตั้งโดยอาจารย์เจนีวีฟ คอลฟิลด์ ครูสอนภาษาตาบอดชาวอเมริกัน จนค้นพบว่า จริงๆ แล้วการตาบอดเป็นเพียงอาการหนึ่งของชีวิต แต่หากมีความรู้มีทักษะ ก็สามารถเดินตามเส้นทางชีวิตโดยไม่ต้องใช้สายตามองก็ได้ และนี่คือจุดตั้งต้นของการเดินทาง 50 ปีของสมาคมที่มีจุดมุ่งหมายให้คนตาบอดไม่หมดหวังในชีวิต ชีวิตต้องดำเนินต่อไปอย่างมีคุณค่า และทุกวันนี้จะเห็นว่าคนตาบอดมีศักยภาพและอยู่ในหลายสาขาวิชาชีพ อาทิ อาจารย์มหาวิทยาลัย ข้าราชการ ทนาย ผู้ประกอบการ หมอนวด

ปัจจุบันมีคนไทยตาบอด จำนวน 200,000 คน แบ่งเป็นกลุ่มสูงวัยตาบอด 130,000 คน และกลุ่มวัยทำงานตาบอด 70,000 คน แม้จะได้รับสวัสดิการจากรัฐ อาทิ เบี้ยความพิการเดือนละ 800 บาท หลักประกันสุขภาพ เรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรีใบแรกในมหาวิทยาลัยของรัฐเช่นเดียวกับคนพิการทั่วไป แต่สมาคมก็พยายามส่งเสริมฝึกอาชีพและพัฒนาศักยภาพคนตาบอด ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้เพื่ออยู่อย่างมีศักดิ์ศรีคุณค่า อย่างอาชีพหมดนวดที่ใช้ทักษะจากมือ ไม่ใช้สายตา

Advertisement

ต่อพงศ์วาดฝันว่า หากเปิดร้านสักพันร้านทั่วประเทศให้คนตาบอดได้ทำงาน นี่อาจทำให้อีก 20 ปีจากนี้ จะไม่มีขอทานตาบอดให้เห็นอีก เช่นเดียวกับอาชีพเกษตรกรที่สมาคมกำลังร่วมกับหน่วยงานรัฐและองค์กรต่างๆ ส่งเสริมให้กับคนตาบอดในชนบทที่มีดินและอยู่กับครอบครัว ตั้งแต่องค์ความรู้การปลูก ดูแล เก็บเกี่ยว และแปรรูป หากใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 ขอที่ดินแค่ไร่เดียว ก็ทำเกษตรพอเพียงได้ ปลูกกินกันเอง ขายในชุมชน เหลือเอามาส่งให้อุตสาหกรรมแปรรูป ถ้าไปได้ขยายต่อไปทำปศุสัตว์ ซึ่งตอนนี้ทดลองทำไปแล้ว 17 ครอบครัว หากสำเร็จจะขยายได้เป็นหมื่นๆ ครอบครัว ทั้งหมดนี้ สมาคมอยากให้คนตาบอด 2 แสนคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีงาน มีรายได้ แต่จะทำสำเร็จได้หลายภาคส่วนต้องช่วยกัน ตั้งแต่ภาครัฐและเอกชนในการจ้างงาน และสังคมที่จะเปิดใจให้โอกาสคนตาบอด ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากน้ำพักน้ำแรงของเขา เพราะเขาก็อยากพึ่งพาตนเองได้เหมือนคนทั่วไป

 

ต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับอุบัติการณ์มีคนตาบอดเพิ่มขึ้น 2,000 คนต่อเดือน!!!

“สาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุและการเสื่อมสภาพของร่างกาย” นายกสมาคมคนตาบอดเผย

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่อยากให้สิ้นหวังและหมดกำลังใจ

นายกสมคมคนตาบอดฯ กล่าวว่า นี่เป็นสิ่งที่ต้องมาร่วมกันสร้างความคิดว่า ตาบอดแล้วอย่าเพิ่งหมดหวัง และเราช่วยคุณได้ อย่างผมที่ตาบอดจากการประสบอุบัติเหตุทางรถเมื่ออายุ 15 ปี โชคดีที่ตัดเรื่องความหมกมุ่นและการตั้งคำถามกับตนเองที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรได้เร็ว ซึ่งมีจุดเปลี่ยนมาจากพระราชดำรัสในหลวง ร.9 ที่ว่า
สิ่งสำคัญของคนเราไม่ใช่ความเข้มแข็งภายนอก แต่เป็นเรื่องความคิด จิตใจ คือมีจิตใจที่เข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นแกนประคับประคองชีวิต ส่วนในบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกก็พูดเรื่องความเพียรและความเข้มแข็ง คนที่จะมีความเพียรได้เช่นพระมหาชนก จิตใจต้องเข้มแข็งมาก

“สังคมเรายังไม่ได้ออกแบบไว้รองรับคนพิการเท่าที่ควร ผมจึงฟันธงเลยว่า คนพิการทุกคนจิตใจเข้มแข็ง เพราะอยู่บนความยากมาโดยตลอด”  นายกสมาคมคนตาบอดฯ ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image