เข้าใจอนุมูลอิสระ มุ่งปฏิบัติ 10 “เคล็ดลับชะลอวัย” สิ่งไหนต้องห้ามและสิ่งไหนต้องทำ

สิ่งที่ทำให้คนเรา “แก่เร็ว” คือความเจ็บป่วย โดยเฉพาะการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก “อนุมูลอิสระ” ที่มากเกินไปในร่างกาย หากแต่ข้อมูลความเข้าใจเรื่องอนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระยังมีอยู่อย่างจำกัดและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ พีทีวาย จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดการประชุมวิชาการในหัวข้อ “การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อส่งเสริมสุขภาพในร้านยา” ครั้งที่ 3 โดยยกงานวิจัยล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับ “สารต้านอนุมูลอิสระ” เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ โดยมีใจความสำคัญดังนี้

ตามธรรมชาตินั้นร่างกายมนุษย์สร้างอนุมูลอิสระขึ้นมาเอง และมีสารต้านอนุมูลอิสระรักษาสมดุลไม่ให้มีอนุมูลอิสระส่วนเกิน หากแต่ปัจจัยภายนอกอย่างการสูบบุหรี่ การสัมผัสรังสี โลหะหนัก และมลภาวะเป็นเวลานานๆ รวมถึงความเครียด และการรับประทานอาหารผิดๆ เป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้างอนุมูลอิสระมากผิดปกติ เกิดเป็นความไม่สมดุลที่เรียกว่า oxidative stress ซึ่งเป็นตัวทำลายเซลล์ดีๆ ของร่างกาย และเป็นต้นเหตุของโรคต่างๆ มากมาย ทั้งความแก่ โรคข้อต่างๆ ต้อกระจก หลอดเลือดแข็ง ภาวะอักเสบต่างๆ รวมถึงมะเร็ง

เมื่อร่างกายคนเราไม่สามารถสร้างสารต้านอนุมูลอิสระมาให้เพียงพออีกต่อไป จึงจำเป็นที่คนเราจะต้องปรับการใช้ชีวิตเพื่อช่วยร่างกายต่อสู้อนุมูลอิสระ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีสารหรือสารอาหารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระให้แก่ร่างกาย และหารับประทานง่ายมากสำหรับคนไทย ได้แก่

Advertisement

วิตามิน อี มีคุณสมบัติช่วยชะลอปฏิกิริยาลูกโซ่ของอนุมูลอิสระ พบมากที่สุดในน้ำมันพืช (ที่ไม่โดนความร้อน เช่น น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันเมล็ดคำฝอย) ปริมาณที่แนะนำต่อวันในหญิงและชาย คือ 15 มิลลิกรัม และควรรับประทานหลังอาหารจึงจะได้ประโยชน์มากที่สุด

วิตามิน ซี มีส่วนช่วยให้ป้องกันหรือช่วยชะลอการเกิด “ออกซิเดชัน” ซึ่งเป็นตัวทำให้เซลล์แก่เร็ว ป่วยง่าย พบได้จาก ฝรั่ง มะละกอดิบ (เมนูส้มตำ) โดยปริมาณที่แนะนำต่อวัน คือ (ชาย) 90 และ (หญิง) 75 มิลลิกรัม ควรรับประทานจากอาหารสด เพราะวิตามินซี สลายตัวเร็ว

สังกะสี (Zinc) ช่วยกระตุ้นและควบคุมการทำงานของเอนไซม์ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่พบมากที่สุดในหอยนางรม และเนื้อสัตว์ โดยภาวะที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมสังกะสีได้มากที่สุด คือ การรับประทานร่วมกับอาหารประเภทโปรตีน และไม่ควรรับประทานร่วมกับชาและกาแฟ ดังนั้นผู้ที่รับประทานมังสวิรัติจึงมีโอกาสขาดแร่ธาตุนี้มากกว่าคนอื่น ปริมาณที่แนะนำต่อวัน คือ (ชาย) 13 และ (หญิง) 7 มิลลิกรัม

Advertisement

การประชุมวิชาการในครั้งนี้ยังได้ นพ.บุญชัย อิศราพิสิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัทในเครือเวลเนสซิตี้กรุ๊ป มาให้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับทฤษฎีความแก่และการชะลอความแก่เพื่อเพิ่มอายุวัฒนะให้แก่ตนเอง โดยได้ให้เคล็ดลับ “โกงความแก่” ไว้ 10 ข้อดังนี้

เริ่มจากการ ตัดขาดจาก 5 สิ่งต้องห้าม ได้แก่

1.การจินตนาการเชิงลบ

ปัจจุบัน คนเมืองและคนวัยทำงานต้องเผชิญกับความเครียดสะสมอย่างมากทั้งจากงานและชีวิตประจำวัน จนทำให้เกิดจินตนาการเชิงลบ ซึ่งความคิดเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ เพราะว่าจิตใจของคนเราเชื่อมโยงกับร่างกายโดยตรง ดังนั้น ความคิดหรือจินตนาการเชิงลบจะทำให้เราไม่เป็นสุข เกิดความเครียดทางอารมณ์ สะสมลงสู่จิตใต้สำนึกโดยไม่รู้ตัว ทำให้ร่างกายเกิดเจ็บป่วยตามความคิดไปด้วย

2.ความอ้วน

วิถีดำรงชีวิตและอาหารการกินของคนสมัยใหม่เอื้อให้เป็นโรคอ้วนง่ายขึ้น หลายคนอาจคิดว่าตนเองไม่ได้อ้วน แต่แค่มีพุงนิดหน่อย แต่อันที่จริงแล้วการอ้วนลงพุงนั้นอันตรายมาก โดยตามเกณฑ์ หากวัดจากรอบเอวผู้ชายไม่ควรเกิน 36 นิ้วหรือประมาณ 90 ซม. สำหรับเอวผู้หญิงไม่ควรเกิน 32 นิ้วหรือ 80 ซม. ซึ่งความอ้วนและอ้วนลงพุงนี้เป็นสาเหตุของโรคมากมาย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์-อัมพาต โรคตับอักเสบ-ตับแข็ง โรคข้อและกระดูก และแม้กระทั่งมะเร็ง

3.ลดการบริโภคน้ำตาล

งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ติดรสหวานโดยไม่รู้ตัว เพราะน้ำตาลเปรียบเหมือนสารเสพติดชนิดหนึ่งที่ยิ่งรับประทานยิ่งอร่อย ทั้งที่ในความเป็นจริงร่างกายต้องการน้ำตาลเพียงครึ่งช้อนชาต่อวัน ดังนั้น การที่เราบริโภคน้ำตาลมากเกินความต้องการ ทำให้เราเข้าสู่พฤติกรรม “แช่อิ่ม” เพราะทำให้เกิดการสะสมของน้ำตาลในร่างกายมากเกินความจำเป็นและนำมาสู่โรคภัยต่างๆ

4.งดบริโภคไขมันทรานส์

ไขมันทรานส์เกิดจากการแปรรูปจึงย่อยสลายได้ยากกว่าไขมันชนิดอื่น เช่น ครีมเทียมในกาแฟ ขนมเค้กหรือเบเกอรี่ ฯลฯ นอกจากนี้มีความเชื่อผิดๆ ว่าการใช้น้ำมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันพืช น้ำมันถั่วเหลือง มาปรุงอาหารประเภททอดดีกว่าการใช้น้ำมันอิ่มตัว แต่ในความเป็นจริง น้ำมันประเภทไขมันไม่อิ่มตัวนั้นสามารถจับกับไฮโดรเจนกลายเป็นไขมันทรานส์ได้ การเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงแบบนึ่ง ต้ม หรือย่างโดยมีสิ่งห่อหุ้มระหว่างอาหารกับที่ย่าง เช่น ใบตอง จึงปลอดภัยต่อร่างกายมากกว่าการรับประทานอาหารแบบทอด

5.หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ถือเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้ชิดกับมนุษย์ ดังนั้น การรับประทานสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว จึงให้โทษต่อร่างกายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสะสมพิษชนิดเดียวกัน และยังมีไขมันและกล้ามเนื้อที่เป็นโทษและย่อยยากด้วย จึงควรหาแหล่งโปรตีนอื่นที่มีคุณภาพรับประทานแทน เช่น ปลาทะเลน้ำลึก ธัญพืชต่างๆ เห็ดชนิดต่างๆ โดยเฉพาะหากใครที่ต้องการลดน้ำหนัก เมนูเห็ดเป็นเมนูที่ดีที่สุดเพราะไม่มีน้ำตาล ไม่มีไขมัน อุดมด้วยโปรตีนและใยอาหาร

นพ.บุญชัย อิศราพิสิษฐ์

นอกจากการหลีกเลี่ยงพฤติกรรม 5 สิ่งต้องห้ามแล้ว เรายังควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ คือ

6.เลือกรับประทานผัก-ผลไม้สดที่ไม่หวาน

ผักและผลไม้สดให้คุณค่าของวิตามินอย่างแท้จริง ที่สำคัญเราต้องเลือกรับประทานผักและผลไม้หลากหลายชนิดเพื่อให้ได้รับวิตามินครบถ้วน คนไทยไม่มีปัญหาเพราะมีผักสมุนไพรอร่อยๆ หลากหลายชนิดให้เลือกบริโภค โดยแนะนำให้รับประทานผักและผลไม้เป็นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งของอาหารในแต่ละมื้อ

7.เลือกทานแป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ หรือขนมปังโฮลวีต เป็นแป้งที่มีโครงสร้างซับซ้อนทำให้ชะลอการดูดซึมน้ำตาล ที่สำคัญยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งควรรับประทานข้าวในปริมาณที่น้อยลงในแต่ละมื้อ

8.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แนะนำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที

9.พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับอย่างมีคุณภาพช่วยให้ร่างกายสามารถทำงานได้ตามปกติ แนะนำให้นอนหลับสนิทอย่างน้อยวันละ 4 ชม.

10.คิดบวก การคิดบวกและมีทัศนคติที่ดี ช่วยให้เรามีความสุข ร่างกายเราก็จะสุขไปด้วย”

เชื่อว่าหากทุกคนสามารถปฏิบัติได้ตามคำแนะนำข้างต้น สุขภาพทุกคนในครอบครัวก็จะดีและไร้โรคภัยไข้เจ็บด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image