อันติกา(เรื่อง) / สุระ นวลประดิษฐ์ (ภาพ)
“อาชีพนี้มีเสน่ห์มาก มีช่างภาพตั้งแต่เริ่มหัดถ่ายภาพไปจนถึงช่างภาพมืออาชีพลงมาอยู่ในสนาม ส่วนสิทธิ์ที่ได้รับก็เสมอภาค ไม่ว่าคุณจะใช้กล้องราคาเป็นแสนเป็นหมื่น หรือกล้องจากโทรศัพท์มือถือ จะมีประสบการณ์ 3 วัน หรือ 20 ปี ทุกสิทธิ์เท่าเทียมกันหมด”
ชื่อเสียง ประสบการณ์ ผลงาน ดังกล่าวมาคือคุณสมบัติของช่างภาพที่ควรต้องมีเพื่อการันตีฝีมือตนเอง แต่ทว่าไม่ใช่กับอาชีพ “ช่างภาพออนไลน์” เพราะเพียงแค่คุณมีมุมมองของตนเอง หรือเข้าใจตลาดผู้ซื้อ กดชัตเตอร์หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือเป็น คุณก็สามารถก้าวสู่อาชีพนี้ได้ และต้องบอกว่าหลายคน “รวย” ด้วยอาชีพนี้มาแล้ว
ช่างภาพออนไลน์ ทำได้แม้ตาบอดสี
ทำได้จริง รวยจริงหรือไม่ พื้นที่บนหน้ากระดาษนี้ขอยกให้ คุณสุระ นวลประดิษฐ์ ช่างภาพออนไลน์คนแรกๆ ของไทย ที่มีผลงานพ็อกเก็ตบุ๊กแนะนำผู้สนใจก้าวสู่อาชีพช่างภาพออนไลน์ และยังได้รับหน้าที่ Community Leader ให้กับ www.shutterstock.com (ตัวแทนของ www.shutterstock.com ในการทำหน้าที่พัฒนา Contributors หรือคนขายภาพในประเทศนั้นๆ)
คุณสุระ คือผู้หนึ่งที่เข้ามาสู่อาชีพนี้ด้วยการมองเห็นโอกาส บวกกับชอบถ่ายภาพเป็นทุนเดิม แต่ทว่า ที่ผ่านมาเขาไม่เคยคิดฝันว่าจะก้าวมาเป็นช่างภาพ ด้วยเพราะคุณสุระมีปัญหา “ตาบอดสี”
“ผมชอบถ่ายภาพมาตั้งแต่อายุประมาณ 13 ปี โดยภาพที่ถ่ายจะเก็บไว้ดูเอง ไม่เคยส่งเข้าประกวด และไม่คิดเป็นช่างภาพมืออาชีพ เพราะผมมีปัญหาตาบอดสี จนกระทั่งเมื่อประมาณปี 2009 ผมทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายขายที่ต้องดูแลพนักงานทั่วประเทศให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งทุกเดือนจะจัดประชุม ทำเอกสารแผ่นสไลด์เพื่อใช้บรรยาย รูปจึงเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งตอนนั้นลองเสิร์ชข้อมูล กระทั่งไปเจอไมโครสต๊อก (เว็บไซต์ขายภาพออนไลน์) เมื่อคลิกเข้าไปดูก็เห็นภาพถ่ายจำนวนมาก แต่สิ่งที่คิดตอนนั้นคือ ผมก็น่าจะส่งภาพผลงานของผมมาจำหน่ายได้เช่นกัน”
คุณสุระลงมือเลือกภาพถ่ายฝีมือตนเอง ส่งไปยังไมโครสต๊อกแห่งหนึ่ง จนกระทั่งได้รับคัดเลือกให้เป็นช่างภาพออนไลน์ของเว็บไซต์ และเพียงโพสต์ภาพจำหน่ายได้เพียง 2 วัน ก็เข้าตาผู้ซื้อชาวอเมริกัน รายได้แม้แค่ไม่กี่สิบบาท แต่ทว่าสร้างกำลังใจในการเดินสู่เส้นทางสายนี้
คุณสุระ นวลประดิษฐ์
ถ่ายภาพตามใจ (ฉัน) หรือจะเข้าใจตลาด
ภาพแลนด์สเคป หรือภาพทิวทัศน์ ที่เกิดจากความชอบท่องเที่ยว คือผลงานหลักที่คุณสุระบรรจงถ่าย และส่งไปยังไมโครสต๊อกอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เขามีรายได้เสริมก้อนโต
“ตาบอดสี ไม่ได้มีปัญหากับช่างภาพออนไลน์ ด้วยเพราะจุดประสงค์ของผู้นำภาพออนไลน์ไปใช้ก็เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ ประกอบในธุรกิจ หรือใช้เพื่อตีพิมพ์ลงในบรรจุภัณฑ์ ภาพเสมือนจริงจึงไม่ใช่คำตอบนำมาใช้ แต่ทว่าคือภาพที่ถูกใจ (ผู้ซื้อ) ต่างหาก อย่างสีของท้องฟ้า ลูกค้าก็ไม่ได้ดูว่า สีจริงกับภาพถ่าย ณ ตอนนั้นจะตรงกันหรือไม่ แต่เขาดูแค่ว่าเหมาะกับประโยชน์นำไปใช้งานหรือเปล่า ลูกค้าเลือกตามสายตาของเขา ไม่ได้สนใจต้นฉบับ”
คุณสุระยังกล่าวแนะนำสำหรับผู้สนใจถ่ายภาพออนไลน์ว่า มีอยู่ 2 รูปแบบคือ ถ่ายตามใจตลาด นั่นคือเข้าไปศึกษาว่าภาพประเภทใดที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ กับอีกประเภทหนึ่งคือ ถ่ายภาพตามใจตัวเอง
ทั้งนี้ หากต้องการก้าวสู่อาชีพช่างภาพออนไลน์ คุณสุระ ว่า โอกาสยังเปิดกว้าง ด้วยเพราะจำนวนช่างภาพออนไลน์ทั่วโลกราวหลักแสนคน (คนไทยมีช่างภาพออนไลน์ถือว่าตัวเลขสูงสุดราวหลักหมื่นคน) เมื่อเทียบกับกำลังซื้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 40-50 เปอร์เซ็นต์ ภาพถ่ายจึงมิอาจเพียงพอ
คุณสุระยังกล่าวแนะนำกับการเริ่มต้น อันดับแรกควรมีความรู้ด้านการถ่ายภาพขั้นพื้นฐาน หรือถ้าตั้งใจจริงจังก็ควรไปเรียนรู้วิธีถ่ายภาพขั้นสูง เพื่อให้ได้คุณภาพภาพที่ตอบตลาดได้กว้างขึ้น “ทำความเข้าใจในรูปแบบของภาพที่ลูกค้าต้องการนำไปใช้งาน เพื่ออะไร ลักษณะภาพแบบไหนที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปใช้เพื่อประกอบสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ จึงควรสื่อถึงเรื่องราวนั้นๆ อย่างชัดเจน”
เริ่มรายได้หลักพัน หลักล้านก็ทำได้
เมื่อมีภาพอยู่ในมือแล้ว การเลือกไมโครสต๊อกที่จะส่งภาพไปจำหน่าย ควรเลือกเว็บไซต์ชั้นนำอันดับต้นๆ ซึ่งบางเว็บไซต์อาจต้องให้สอบก่อน และมีการคัดเลือกภาพ โดยถ้าผ่านการคัดเลือกก็จะได้เป็นช่างภาพออนไลน์ประจำไมโครสต๊อกนั้นๆ การส่งภาพครั้งต่อๆ ไปจึงไม่ใช่เรื่องยาก
“บางภาพอาจถ่ายเล่นๆ แต่ออกมาดี ก็สามารถส่งภาพไปขายได้ ฉะนั้น แม้จะเพิ่งเริ่มต้นถ่ายภาพ ก็สามารถเดินสู่อาชีพนี้ได้ จากนั้นก็ค่อยๆ เรียนรู้ประสบการณ์ไปพร้อมๆ กับการทำงานได้เลย”
สำหรับรายได้กับการสร้างอาชีพเริ่มต้นตั้งแต่หลักพันไปจนหลายๆ คนกำเงินหลักแสนหลักล้านมาแล้ว “หลายคนเริ่มต้นช่างภาพออนไลน์จากงานอดิเรก บางคนเป็นหมอ เป็นเภสัชกร เป็นวิศวกร แต่เมื่อเห็นว่าอาชีพนี้ให้อิสระ ทำรายได้ดี ก็ลาออกจากงานประจำ”
คุณสุระยังกล่าวถึงราคาขายภาพ ถูกกำหนดโดยไมโครสต๊อก ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบแพ็กเกจ เฉลี่ยราคาเริ่มต้นประมาณภาพละ 10 กว่าบาท ไปจนถึงหลักหมื่น (ถ้าซื้อลิขสิทธิ์ภาพจะจ่ายในราคาสูง ขึ้นอยู่กับการกำหนดราคาและข้อตกลงกัน)
“อาชีพนี้มีเสน่ห์มาก มีช่างภาพตั้งแต่เริ่มหัดถ่ายภาพไปจนถึงช่างภาพมืออาชีพลงมาอยู่ในสนาม ส่วนสิทธิ์ที่ได้รับก็เสมอภาค ไม่ว่าคุณจะใช้กล้องราคาเป็นแสนเป็นหมื่น หรือกล้องจากโทรศัพท์มือถือ จะมีประสบการณ์ 3 วัน หรือ 20 ปี ทุกสิทธิ์เท่าเทียมกันหมด ซึ่งในส่วนของรายได้ที่ช่างภาพจะได้รับก็ราวๆ 30 เปอร์เซ็นต์จากยอดขาย ซึ่งค่าคอมมิสชั่นนี้จ่ายเท่ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพจากประเทศใด และอัตราจ่ายก็เป็นอัตราที่ถูกกำหนดให้ช่างภาพซึ่งอยู่ในประเทศที่มีค่าครองชีพสูงอยู่ได้ ฉะนั้น ช่างภาพคนไทยจึงได้เปรียบเพราะค่าครองชีพของเราต่ำกว่าเขา” คุณสุระ กล่าวทิ้งท้าย
ไมโครสต๊อกชั้นนำ ระดับ Top 1. www.shutterstock.com 2. www.dreamstime.com 3. www.istockphoto.com 4. www.fotolia.com 5. www.123rf.com 6. www.bigstock.com
ที่มา : เส้นทางเศรษฐี