จุฬาฯชูหุ่นยนต์ฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ช่วยผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต

นายวิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ

โรคหลอดเลือดในสมอง เป็นโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป  ปัญหาสำคัญคือ หากมีอาการรุนแรงถึงขั้นเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง จนเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตครึ่งซีกได้ จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูบริหารกล้ามเนื้อในจุดที่อ่อนแรง ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้นักกายภาพบำบัดเป็นผู้ดูแล แต่จากนี้จะเปลี่ยนไป…

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นพ.วสุวัฒน์ กิติสมประยูรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงความสำเร็จในการพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูร่างกาย ว่า จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่าการใช้หุ่นยนต์ในการทำกายภาพบำบัดให้กับผู้ป่วย เทียบกับการใช้นักกายภาพบำบัดในเวลาเท่ากัน หุ่นยนต์จะช่วยฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยดีกว่า  ทางศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจึงได้ร่วมกับ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องยนต์ ในการพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยทำกายภาพบำบัดผู้ป่วย และมีการทดลองนำร่องในผู้ป่วย 5 ราย โดยใช้หุ้นยนต์ทำกายภาพเป็นเวลา 30 นาที โดยนักกายภาพบำบัดอีก 30 นาที และอีกลักษณะหนึ่งคือการใช้นักกายภาพบำบัด 1 ชั่วโมง หุ่นยนต์อีก 30 นาที เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวช่วงหัวไหล่ ข้อศอก เป็นระยะเวลา 20 ชั่วโมง  ผลก็พบว่าผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้ดี แต่ยังไม่สามารถวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ ผู้ป่วยมีความพึงพอใจ และขณะนี้อยู่ระหว่างทำการวิจัยในมนุษย์ กลุ่มตัวอย่าง 60 คน ซึ่งจะใช้เวลาในการวิจัยและเก็บข้อมูลประมาณ 1 ปีครึ่ง

ด้านนายวิบูลย์  แสงวีระพันธุ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องยนต์ กล่าวว่า กล่าวว่า หลังได้รับโจทย์ให้พัฒนาหุ่นยนต์บำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยมาแล้ว ทางภาควิชาวิศวกรรมเครื่องยนต์ได้ใช้เวลาในการพัฒนาหุ่นยนต์ดังกล่าวกว่า 1 ปี  เน้นระบบความปลอดภัยของตัวเครื่องกับผู้ป่วยเป็นสำคัญ ส่วนวิธีการบำบัดสามารถควบคุมได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันได้  ซึ่งจะใช้หุ่นยนต์ช่วยเคลื่อนไหว โดยยึดที่พละกำลังของผู้ป่วยเป็นหลักก่อน หากแรงไม่ถึงหุ่นยนต์ถึงจะช่วยออกแรงส่งให้ โดยการทำลักษณะนี้ ส่วนหนึ่งจะช่วยเรื่องสภาพจิตใจของผู้ป่วยให้รู้สึกภูมิใจว่าสามารถเคลื่อนไหวได้ และมีความต้องการในการทำกายภาพบำบัดต่อไป

“การพัฒนาหุ่นยนต์ดังกล่าวใช้งบประมาณจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยผลิตหุ่นยนต์แล้ว 3 ตัว เฉลี่ยแล้วตกตัวละประมาณ 2-3 ล้านบาท แต่ถือว่าราคาถูกเมื่อเทียบกับหุ่นยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งราคาประมาณ 4 ล้านบาท แต่ของไทยจะมีข้อดี คือ มีการใช้มอเตอร์ตัวเล็กกว่าอยู่ที่ 90 วัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างจดลิขสิทธิ์  ทั้งนี้ หากนโยบายรัฐสนับสนุนจะสามารถผลิตได้ในราคาถูกลง และอาจผลิตให้โรงพยาบาลใช้ฟื้นฟูกล้ามเนื้อผู้ป่วยได้ฟรี” นายวิบูลย์ กล่าว

Advertisement

12776700_672380952904111_2079731498_o

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image