“หน้าหนังสืออายุ540ปี” บรรณารักษ์พบโดยบังเอิญ

(ภาพ-University of Reading)

เอริกา เดลเบค บรรณารักษ์แผนกหนังสือสะสมพิเศษของมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง ประเทศอังกฤษ ค้นพบหน้าหนังสือที่เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “คู่มือบาทหลวง” ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นในยุคแรกเริ่มของการมีแท่นพิมพ์ในประเทศอังกฤษโดยบังเอิญ คาดสิ่งพิมพ์หายากนี้มีอายุเก่าแก่ถึง 540 ปี

หน้าหนังสือเก่าแก่ดังกล่าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือคู่มือประจำตัวบาทหลวงในยุคกลาง จัดพิมพ์โดย วิลเลียม แคกซ์ตัน ซึ่งเป็นผู้นำเครื่องพิมพ์ยุคแรกเข้ามายังประเทศอังกฤษ เป็นกระดาษที่พิมพ์สองหน้า ตัวอักษรพิมพ์ด้วยสีดำ มีเครื่องหมายกำกับย่อหน้าเป็นสีแดง ซึ่งเคยใช้กันอยู่ทั่วไปในการพิมพ์ยุคแรกๆ ของชาติในยุโรปตะวันตก

เมื่อตรวจสอบย้อนหลังกลับไป เดลเบคพบว่า หน้าหนังสือดังกล่าวเคยถูกใช้แปะทับสันหนังสือเล่มหนึ่งเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับสันหนังสือดังกล่าว ต่อมาในปี 1820 บรรณารักษ์ผู้หนึ่งของหอสมุดมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เป็นผู้นำมันออกมาจากสันหนังสือเล่มดังกล่าว แต่เมื่อตรวจสอบแล้วกลับไม่ตระหนักถึงความสำคัญของมัน จึงนำหน้าหนังสือจากศตวรรษที่ 15 นี้ไปซุกไว้ในกองหนังสือ ที่ในที่สุดตกไปอยู่ในการครอบครองของเอกชนรายหนึ่ง ก่อนที่ทางหอสมุดมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง เหมาซื้อจากเอกชนรายนี้มาทั้งหมด

หน้าหนังสือดังกล่าวมีอายุย้อนหลังไปราวปลายปี 1476 หรือต้นปี 1477 เมื่อแคกซ์ตันจัดพิมพ์หนังสือคู่มือที่รู้จักกันในชื่อ “ซารุม ออร์ดินาล” หรือ “ซารุม พาย” ที่เป็นข้อกำหนดในภาษาละตินว่า ข้อความในพระคัมภีร์ไบเบิลตอนไหนใช้ในพิธีการใด รวมถึงชุดแต่งกายของบาทหลวงที่ถูกต้องตามพิธีและเทศกาลต่างๆ ต้นฉบับเดิมเขียนโดย เซนต์ ออสมันด์ บิชอปแห่งซัลส์บิวรี ในช่วงศตวรรษที่ 11 เป็นคู่มือแนะนำที่ใช้กันกว้างขวางในอังกฤษระหว่างยุคกลางเรื่อยมาจนกระทั่งเกิดการปฏิรูปโปแตสแตนท์ในเวลาต่อมา

Advertisement

วิลเลียม แคกซ์ตัน ได้ชื่อว่าเป็นคนแรกที่นำแท่นพิมพ์เข้ามายังกรุงลอนดอนในปี 1476 และผลิตหนังสือออกมาเป็นจำนวนมาก อาทิ “แคนเทอร์บิวรี เทลส์” แปลและจัดพิมพ์เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษแรกสุดของ “อีสป เฟเบิลส์” หรือนิทานอีสป รวมถึงการจัดพิมพ์พระคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาอังกฤษออกมาเป็นครั้งแรกอีกด้วย

ล็อตเต เฮลลิงกา ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ของแคกซ์ตัน ระบุถึงหน้าหนังสือที่ค้นพบใหม่นี้นับว่าเป็นเอกสารที่หายากมาก และอยู่ในสภาพดีมากอีกด้วย

ถ้าคำนึงว่ามันเคยถูกแปะเป็นสันหนังสือมานานถึง 300 ปี และถูกเก็บไว้ในอัลบั้มแบบทิ้งๆ ขว้างๆ อีก 200 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image