คิดแบบอาลีบาบา เพื่อพัฒนาอีคอมเมิร์ซไทย

“อาลีบาบา” เป็นชื่อที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นกลุ่มบริษัทธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดของจีน และกำลังขยายกิจการออกไปในหลายประเทศทั่วโลก แข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในวงการค้าออนไลน์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอเมซอน หรืออีเบย์ ได้อย่างน่าสนใจ รวมทั้งประเทศไทย จนได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมค้าปลีกของโลกเมื่อวัดจากยอดขาย มีฐานลูกค้าอยู่มากมายถึง 443 ล้านคนต่อปี

กิจการของอาลีบาบาพัฒนาขึ้นโดยรอบศูนย์กลางซึ่งคือการค้าขายออนไลน์ แนวความคิดของอาลีบาบาคือ ทำอย่างไรให้ตัวเองกลายเป็นทั้งเครื่องมือและช่องทางในการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน ทั้งในแง่ของการค้าและการแลกเปลี่ยนด้านอื่นๆ โดยไม่เพียงแค่เป็นทำได้เฉยๆ แต่ต้องทำได้ง่าย สะดวก ลดภาระของผู้คนลงไปด้วย

นั่นทำให้อาลีบาบาจำเป็นต้องพัฒนาธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากการขายของออนไลน์ขึ้นมาด้วย ตัวอย่างเช่น อาลีเพย์ ระบบการชำระเงินออนไลน์, อาลีคลาวด์ ระบบการจัดเก็บและใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลออนไลน์ เรื่อยไปจนถึงอาลีเอ็กซเพรส ระบบโลจิสติกส์สำหรับจัดส่งสินค้าถึงมือผู้ซื้อ และทีมอลล์ ที่เป็น “หน้าร้านออนไลน์” ใหญ่ที่สุดในจีน สำหรับให้ธุรกิจใหญ่น้อยได้มีช่องทางขายสินค้าของตัวเองได้ เป็นต้น

เรียกได้ว่า อาลีบาบาสามารถพัฒนาธุรกิจแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจขายของออนไลน์ของตนเองขึ้นมาได้อย่างน่าทึ่ง

Advertisement

ที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีกก็คือ แนวทางในการพัฒนาธุรกิจของอาลีบาบา ไม่ได้จำกัดตายตัว คือไม่ได้ยกรูปแบบจากจีนไปใช้ในการทำธุรกิจในประเทศอื่นๆ ทั้งหมด แต่สามารถยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมในประเทศนั้นๆ

อาลีบาบาเข้ามาในเมืองไทยเงียบๆ มานานแล้ว ด้วยการให้การสนับสนุนผู้ค้าปลีกในไทย มีโอกาสได้ขายของผ่านหน้าร้านของตัวเองต่อผู้บริโภคในประเทศจีน มีการเปิด “ไทยแลนด์ พาวิลเลียน” บนเว็บไซต์ ทีมอลล์ โกลบอล มาตั้งแต่ปี 2558 เช่นเดียวกับธุรกิจคลาวด์ก็เข้ามาดำเนินงานผ่านพาร์ตเนอร์ในประเทศไทยมานานไม่น้อยแล้วเช่นเดียวกัน กระนั้นเมื่อเห็นว่าไทยกลายเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมมากขึ้นตามลำดับ อาลีบาบาก็มี “อาลีทริป” เข้ามารองรับความต้องการดังกล่าว เช่นเดียวกับเมื่อผู้ผลิตสมาร์ททีวีของไทยต้องการระบบปฏิบัติการอาลีบาบา ก็มี “หยุนโอเอส” ตอบสนอง เป็นต้น

ในแง่หนึ่ง อาลีบาบาจึงเป็นช่องทาง เป็นเครื่องมือที่อำนวยความสำเร็จให้เกิดขึ้นกับธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมในประเทศไทยได้ หากเลือกใช้อย่างเหมาะสม

Advertisement

ในอีกแง่หนึ่ง ด้วยเหตุที่ว่า อาลีบาบาเกิดและเติบโตในสภาวะแวดล้อมของประเทศโลกที่สามแบบเดียวกันกับประเทศไทย แนวคิดหลายๆ อย่างที่อาลีบาบาใช้แล้วประสบความสำเร็จ ก็เป็นต้นแบบที่ดีสำหรับการนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย

ตัวอย่างหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้ผู้เขียนมากๆ คือแนวคิด โปรแกรม “รูรอล เถาเป่า” ของอาลีบาบา

“รูรอล เถาเป่า” เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจจีนซบเซา เศรษฐกิจขยายตัวต่ำสุดในรอบ 25 ปี กระทบต่อยอดขายออนไลน์ของอาลีบาบาตามไปด้วย อาลีบาบาไม่ได้นิ่งเฉยกับสภาพที่เกิดขึ้น กลับจับตามองไปยังลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่ไม่เคยมีใครให้ความสนใจมาก่อน นั่นคือกลุ่มลูกค้าในชนบทที่มีไม่น้อยกว่า 600 ล้านคน

ลูกค้ากลุ่มใหญ่ ความท้าทายย่อมใหญ่โตตามไปด้วย ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่เพียงอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ใช้เวลาเดินทางนับเป็นวันๆ ในการซื้อสินค้าจำเป็นในตัวเมือง ประชากรกลุ่มนี้ยังมีพื้นความรู้ทางด้านไอทีต่ำ มีอุปกรณ์เชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ และความรู้ความชำนาญในการใช้งานจำกัดอีกต่างหาก

สิ่งที่อาลีบาบาทำเพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าในชนบทเหล่านี้ ก็คือ การควานหาคนหนุ่มสาวหรือผู้ที่มีความรู้ทางด้านไอที แล้วให้การสนับสนุนด้านวัสดุอุปกรณ์เพื่อการเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ในแต่ละหมู่บ้าน ช่วยให้ผู้ที่มีความรู้พื้นฐานดังกล่าวเปลี่ยนบ้านตัวเองให้กลายเป็น “ศูนย์กลาง” ของการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของหมู่บ้านนั้นๆ

เกษตรกรที่ต้องการเมล็ดพันธุ์, ปุ๋ย, ยาปราบศัตรูพืช หรืออื่นๆ สามารถเดินเข้ามาที่ศูนย์กลางแห่งนี้ แจ้งความประสงค์ให้กับเจ้าของศูนย์ให้จัดการสั่งซื้อให้ นัดหมายวันมารับสินค้า โดยที่เจ้าของศูนย์ได้รับค่าคอมมิสชั่นจากการขายแต่ละรายการ

เพียง 2 ปีเศษ อาลีบาบาสามารถสร้าง “หุ้นส่วน” ในโครงการเถาเป่า ครอบคลุมถึง 40,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ

แต่ “เถาเป่า” ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ให้คนในชนบท “ซื้อ” ของผ่านอาลีบาบาได้เท่านั้น ศูนย์กลางดังกล่าวยังช่วยให้เพื่อนบ้านแวดล้อมใกล้เคียงสามารถ “ขาย” ผลิตภัณฑ์ของตัวเองบนโลกออนไลน์ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรในพื้นที่ หรือข้าวของเครื่องใช้ที่มีลักษณะเด่นเป็นของจากท้องถิ่นนั้นๆ โดยเฉพาะ แล้วก็หักรายได้เป็นค่าคอมมิสชั่นให้เจ้าของศูนย์ด้วยเช่นเดียวกัน

ศูนย์กลางไอทีของหลายหมู่บ้าน ยังกลายเป็นศูนย์รวมของการติดต่อสื่อสารของผู้คนในสังคมชนบทกับตัวเมือง อย่างเช่นหลายแห่งให้บริการวิดีโอคอล เพื่อให้พ่อแม่ได้พบพูดคุยแบบเห็นหน้าค่าตากับลูกหลานที่ไปใช้ชีวิตในตัวเมือง ได้รับความนิยมอย่างมากอีกต่างหาก เป็นต้น

แนวคิดแบบนี้นำมาประยุกต์ใช้กับเมืองไทยได้ไม่ยากครับ แม้เบื้องต้นจำเป็นต้องลงทุนด้านคลังสินค้า เรื่องการฝึกอบรม และอื่นๆ มากหน่อยก็ตามที

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image