เรื่องราวดีๆ ระหว่างทาง “คนตาบอด” กับ “เจ้าตูบ”

หลายคนน่าจะเคยได้ยินเนื้อเพลง “ชีวิตฉันมีแต่หมานำ ฉันเดินก้าวตามตามหมาเดิน” เอาไว้ร้องหยอกล้อกับเพื่อนเวลาเดินตาม

จริงๆ เนื้อเพลงนี้ลึกซึ้งกว่านั้น เพราะได้สื่อถึง ‘ผู้บกพร่องทางสายตา’ หรือ “คนตาบอด” ถึงความจำเป็นต้องพึ่งพาหมาในการเดินทาง ในท่อนต่อไปว่า “คนเราเลือกเกิดไม่ได้ดอก บางคนก็ออกมาร่างพิการ … อย่างฉันนี่เกิดมาตาบอด … จึงสร้างสัมผัสอันจำเป็น อยู่เหนือกฎเกณฑ์คนธรรมดา” รวมอยู่ในบทเพลง ‘คนกับหมา’ ขับร้องโดย พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ

แม้จะเป็นบทเพลงตั้งแต่ยุค 90 แต่ที่ผ่านมาคนตาบอดไทยก็แทบไม่เคยมี “สุนัขนำทาง” ได้จริงจังๆ เสียที เพราะจะมีได้ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ที่ผู้ใช้ต้องบินไปฝึกและทดสอบยังต่างประเทศ ก่อนนำกลับเข้ามาซึ่งใช้เงินไม่น้อย

แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็มีคนไทยที่ทำมาแล้วคือ ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

Advertisement

ศ.วิริยะ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการใช้สุนัขนำทางว่า ระหว่างศึกษาระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ในปี 2524 ช่วงนั้นชาวอเมริกันนิยมใช้สุนัขนำทางหรือไกด์ด็อกจำนวนมาก ตนสนใจจึงสมัครเข้าไป เริ่มแรกเขาให้ลองเดินจับสายคล้องคอสุนัข ที่ครูฝึกจะจับอีกด้านแล้วเดินนำ เพื่อดูว่าเราเดินช้าหรือเร็วอย่างไร มีแรงเยอะแค่ไหน ก่อนพิจารณาเลือกสุนัขที่เหมาะกับเรา จากนั้นก็ฝึกความเป็นเจ้านาย ลองใช้ชีวิตร่วมกัน ทำให้สุนัขเชื่อและรัก และลองให้เดินนำทางจากพื้นที่เล็กเส้นทางง่ายๆในโรงเรียน เรื่อยไปจนพื้นที่ใหญ่ในเมืองที่เส้นทางยากขึ้นในเวลา 1 เดือน ปรากฏว่าทำได้สำเร็จ ได้รับสุนัขนำทางชื่อ ‘สกี๊ด’ สายพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีพเวอร์ (Labrador Retriever) ตัวใหญ่ขนสีดำ ซึ่งเป็นสุนัขตัวแรกในชีวิตตนมาโดยไม่เสียเงินเลย เพราะได้รับการสนับสนุนจากสโมสรไลออนส์ จนปี 2526 ศึกษาจบจึงพากลับมาไทย

ภายหลังกลับมาใช้ทุนเป็นอาจารย์สอนที่คณะนิติศาสตร์ มธ. “เจ้าสกี๊ด” ก็ทำหน้าที่เสมือนเป็นดวงตานำทางให้ อ.วิริยะ

Advertisement

“เวลาไปไหนมาไหน มือซ้ายจับอานหลัง เพื่อให้สุนัขบอกจังหวะก้าวเดิน หลบหลีกสิ่งกีดขวาง และบอกระดับสูงต่ำของการก้าวขึ้นลงทางข้างหน้า ส่วนมือขวาจับสายรัดคอ เพื่อคอยบังคับบัญชาสุนัข ขณะที่ปาก ก็คอยบอกให้ทำอะไร เช่น อยากให้นั่งพูดว่า Sit, ให้นอน Down, เดินเร็วขึ้น Hurry up สื่อสารกันเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าสุนัขไม่ฟังก็เริ่มใช้น้ำเสียงหนักแน่นขึ้น หากยังไม่ฟังอีกจะเป็นหน้าที่สายรัดคอ ตั้งแต่กระตุกเบาๆ ไปจนถึงกระชากแรงๆ”

แต่การที่สุนัขจำนำทางไปถึงจุดหมายได้สำเร็จนั้น อ.วิริยะ บอกว่า ผู้ใช้เองต้องรู้เส้นทางด้วยว่าต้องไปทางไหน ขณะเดินยังต้องสังเกตว่าขณะนี้ถึงไหนแล้ว ยังอยู่ในเส้นทางไหม เพราะสุนัขมีหน้าที่แค่พาเดินไปอย่างปลอดภัยเท่านั้น”

“ตลอดระยะเวลา 21 ปี ที่ผมใช้สกี๊ดและตัวถัดมาชื่อโทบี้ มันไม่เพียงนำทางให้ผมไปถึงอย่างปลอดภัย แต่ยังทำให้ผมเป็นที่ยอมรับ เวลาออกไปข้างนอกไม่ว่าจะไปทำงานหรือเที่ยว มันมักดึงความสนใจคนอื่นที่ชื่นชอบสุนัขให้เข้ามาคุยด้วย ทำให้ผมมีเพื่อนฝูงเยอะ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือภรรยา (มณี นามศิริพงศ์พันธุ์) ที่สกี๊ดทำให้เราได้รู้จัก ช่วยเหลือ และใกล้ชิดกัน”

“ส่วนเวลาไปสอนหนังสือ ผมบอกให้มันนอนรอ สอนเสร็จใช้เวลารวม 6 ชั่วโมง ปรากฏว่ามันก็นอนรออยู่อย่างนั้นไม่ไปไหน พอบอกให้ลุกมันก็ลุกเดินกลับบ้านพร้อมกัน จนพอถึงบ้านซึ่งเป็นเวลาเลิกงานของมัน ผมปลดสายคล้องคอให้ มันก็วิ่งเล่นด้วยความซุกซน มาเล่นของเล่นกับผม อยู่กันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ซึ่งบางครั้งที่ไม่ได้เจอกันนานๆ พอได้เจอมันวิ่งมากระโดดเลียปาก เพื่อแสดงออกถึงความรัก”

ทุกวันนี้ อ.วิริยะไม่ได้ใช้สุนัขนำทางแล้ว

“เสียดายว่าปัจจุบันผมไม่มีสุนัขนำทางแล้ว พวกมันเกษียณอายุและเสียชีวิตไปหมดแล้ว ไปทดสอบขอสุนัขนำทางตัวใหม่ก็ไม่ผ่าน แต่ความทรงจำที่ดีระหว่างผมกับสกี๊ดและโทบี้เป็นความทรงจำหนึ่งที่ผมมีความสุข” อ.วิริยะกล่าว

ก้าวแรก “สุนัขนำทาง” ในไทย

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีโครงการที่จะทำการพัฒนาการจัดบริการสุนัขนำทาง (Guide Dogs) โดยออกแผนการขับเคลื่อน 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกภายในเวลา 5 เดือนจากนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อมาขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศที่จัดบริการสุนัข ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ รวมถึงสร้างการรับรู้ความเข้าใจในการใช้สัตว์นำทาง ปรับปรุงระเบียบหรือข้อบังคับที่เป็นอุปสรรค และจัดทำโครงการเพื่อขอสนับสนุนในการทดลองฝึก ซึ่งรุ่นแรกจะมีสุนัขต้นแบบนำเข้าจากต่างประเทศ 5 ตัว มาฝึกผู้บกพร่องทางสายตา 5 คน โดยมีครูฝึกคนไทย 20 คน และครูฝึกต่างชาติ 2 คน

ส่วนระยะที่สอง เดือนที่ 6 เป็นต้นไป จะมีการจัดตั้งหน่วยบริการสุนัขนำทางของประเทศ (Guide Dogs School) ทำหน้าที่เพาะพันธ์สุนัขสายพันธุ์ลาบราดอร์หรือพันธุ์ผสม ที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ในไทยและมีคุณสมบัติ อาทิ ควบคุมอารมณ์ได้ ความรู้สึกมั่นคง และสามารถอยู่ภายใต้คำสั่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง จำนวน 20 ตัว ไปฝึกทักษะการนำทาง ก่อนติดตามประเมิลผล

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว

ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม.กล่าวว่า ได้มอบให้มอบให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ (พก.) ไปสำรวจความต้องการของผู้บกพร่องทางสายตาก่อนว่ามีเท่าไหร่ ซึ่งในต่างประเทศสุนัขดังกล่าวไม่เพียงนำทางผู้บกพร่องทางสายตา แต่ยังสามารถนำทางผู้สูงอายุอีกด้วย เราจึงจำเป็นต้องเริ่มต้นในไทย ซึ่งคาดว่าจะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้ภายใน 3 ปี

ด้าน ต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ก็ออกมาร่วมสนับสนุนโครงการดังกล่าวว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยและเกิดประโยชน์สุด เพราะอย่างการใช้ไม้เท้า ซึ่งเป็นสิ่งที่คนตาบอดต้องใช้เป็นกันทุกคน เอาจริงๆก็ยังมีข้อจำกัดการใช้กับฟุตบาตในไทย ส่วนคนช่วยนำทาง ใช้ได้กับคนตาบอดที่มีคู่เท่านั้น แต่คนตาบอดบางส่วนก็อยู่ลำพัง ฉะนั้นจึงรู้สึกดีใจที่ พม.จะผลักดันโครงการดังกล่าว เชื่อว่าความเอาจริงเอาจังของ พล.ต.อ.อดุลย์ จะสร้างประโยชน์ให้กับคนตาบอดเป็นร้อยเป็นพันแน่นอน

ต่อพงษ์ เสลานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image