สเปิร์มหนูแช่แข็งบนอวกาศ กับโอกาสการเกิดของมนุษย์ที่นอกโลก

สเปิร์มหนูที่ถูกแช่แข็งและอยู่บนอวกาศนานถึง 9 เดือน เมื่อถูกส่งกลับมายังโลกพบว่า สเปิร์มดังกล่าวยังอยู่ในสภาพที่แข็งแรงดี แต่ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า หากส่งสเปิร์มมนุษย์แช่แข็งไปอยู่บนอวกาศนานเช่นนี้ จะยังมีสภาพที่แข็งแรงกลับมาหรือไม่ ซึ่งหากสเปิร์มมนุษย์สามารถทนอยู่ในอวกาศได้เหมือนกับสเปิร์มของหนู ก็จะนำไปสู่การให้กำเนิดมนุษย์ในสภาพไร้น้ำหนักได้ในอนาคต

โดยผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารโพรซีดิงส์ ออฟ เดอะเนชั่นแนล อคาเดมี ออฟ ไซน์ซ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า สเปิร์มของหนูที่ถูกแช่แข็งเอาไว้ก่อนจะถูกส่งขึ้นไปที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ที่โคจรอยู่เหนือพื้นผิวโลกราว 400 กิโลเมตร เมื่อครบ 9 เดือน สเปิร์มดังกล่าวก็ถูกส่งกลับมายังโลก ซึ่งนายเทรุฮิโตะ วาคายามา หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยยามายานาชิ ตรวจสอบพบว่า ดีเอ็นเอของสเปิร์มหนูดังกล่าวได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหลังจากต้องเผชิญกับรังสีที่รุนแรงกว่าบนโลกถึงร้อยเท่า และเมื่อนำไปผสมกับไข่ตามกระบวนการปฏิสนธิได้ลูกหนูที่มีสุขภาพแข็งแรงออกมา และเติบโตตามปกติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ดีเอ็นเอที่ได้รับความเสียหายขณะอยู่บนอวกาศนั้นได้รับการซ่อมแซมเมื่ออยู่ในตัวอ่อนหลังการปฏิสนธิ

แต่สำหรับนักวิจัยผู้ทำการศึกษาผลกระทบจากรังสีบนห้วงอวกาศห้วงลึกต่ออวัยวะสืบพันธุ์ของหนูในห้องปฏิบัติการแล้ว ไม่ใช่ข่าวดีเสียเท่าไหร่

ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารรีโพรดักชั่น ฉบับเดือนนี้ แสดงให้เห็นว่ารังไข่ของหนูในห้องปฏิบัติการได้รับความเสียหายอย่างหนักจากรังสีบนอวกาศ ทำให้มีความเป็นห่วงกังวลเกี่ยวกับรังไข่ที่ยังไม่เติบโตเต็มที่ในนักบินอวกาศที่ต้องเดินทางไปยังอวกาศห้วงลึก

Advertisement

อัลริเก ลูเดอเรอร์ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเออร์วิน หนึ่งในผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า ผลการวิจัยของเธอแสดงให้เห็นว่าเหตุใดสำนักงานอวกาศของสหรัฐจึงได้กังวลเกี่ยวกับสุขภาพของนักบินอวกาศในอวกาศห้วงลึก

“รังสีเหล่านี้สามารถกระตุ้นทำให้เกิดโรคหลายโรคได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งรังไข่ รวมถึงโรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับระบบประสาทอย่างโรคอัลไซเมอร์” ลูเดอร์เรอร์กล่าว และว่า ตอนนี้ครึ่งหนึ่งของนักบินอวกาศใหม่ของนาซาก็เป็นผู้หญิง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่จะต้องเจอกับรังสีในอวกาศห้วงลึกเป็นระยะเวลานานๆ

คริส เลห์นฮาร์ดต์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จากมหาวิทยาลัยด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จอร์จ วอชิงตัน บอกว่า เขาไม่รู้เกี่ยวกับผลการศึกษาใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าหนูสามารถตั้งท้องได้บนอวกาศ หรือตัวอ่อนใดจะสามารถมีชีวิตรอดอยู่บนอวกาศได้

Advertisement

และว่าถ้าหากเซลล์ของตัวอ่อน 4 หรือ 8 เซลล์โดนรังสีคอสมิก กาแลกติกเข้าไป โอกาสที่จะรอดก็จะมีน้อยอย่างมาก หรือถ้าหากตัวอ่อนนั้นสามารถอยู่รอดมาได้ ก็อาจจะไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้

สำหรับการทดลองในอนาคตนั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับการส่งตัวอ่อนจากสัตว์หลายสายพันธุ์ไปยังสถานีอวกาศ

“แต่เมื่อถึงตอนนั้นก็อาจจะเป็นการยากที่จะเดาได้ว่าจะเกิดปัญหาในการพัฒนาหรือไม่ เนื่องจากสภาวะสุญญากาศ หรือการโดนรังสี” เลห์นฮาร์ดต์กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามเพื่อการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้านการแพทย์ว่าด้วยเรื่องที่ว่า ที่ใดบ้างที่ตัวอ่อนจะสามารถเกิดขึ้นได้บนอวกาศ

“คุณสามารถมีลูกได้ภายใต้ทฤษฎีที่ว่า ไม่สามารถยืนหรือเดินได้ และใช้แขนในการพัฒนาการเคลื่อนไหว” พร้อมกับเตือนว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิวัฒนาการของมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา

เด็กที่เกิดหรือเติบโตขึ้นบนดวงจันทร์หรือดาวอังคารเหล่านี้ ซึ่งมีแรงดึงดูดเพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจจะถือเป็นเรื่องดี แต่คนเหล่านี้ก็จะไม่เหมือนกับคนที่เกิดบนโลกอย่างแน่นอน

“บางทีแรงดึงดูดบนดวงจันทร์ที่มีเพียง 1 ใน 6 ของโลก หรือบนดาวอังคารที่มีเพียง 1 ใน 3 ของโลก อาจจะเพียงพอสำหรับการพัฒนาของกระดูกและกล้ามเนื้อธรรมดาก็เป็นได้” เลห์นฮาร์ดต์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image