คือดีอ่ะ! “ชุดชั้นใน” เปลี่ยนเป็นพลังงานได้ แทนใช้ถ่านหิน ช่วยลดโลกร้อน-ก๊าซเรือนกระจก

หากจะเอ่ยถึงการรีไซเคิลบรา หลายคนคงอาจจะนึกถึงการนำไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างกระเป๋า ถุงมือ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งการบริจาคให้เหล่าผู้ขาดแคลนได้ใช้กัน แต่กับเรื่องการเปลี่ยนบราไม่ใช้แล้ว ให้เป็นพลังงานชนิดหนึ่ง ดูจะเป็นเรื่องใหม่ของใครหลายคน

ในโอกาสวัน “บราเดย์” หรือวันที่กำเนิดบรา ชุดชั้นในท่อนบนตัวแรกของโลก โดย แมรี่ เฟลป์ส จาคอบ สาวสังคมชั้นสูงแห่งนิวยอร์ก เมื่อปี 1913 บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) โดยผลิตภัณฑ์วาโก้ จึงได้ร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ จัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการและนิทรรศการ “วาโก้ บราเดย์ บรามีค่า…สร้างอาชีพ รักสิ่งแวดล้อม ปี 5” อย่างเป็นทางการ ณ บริษัทไอ.ซี.ซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

Braday 18

และเป็นครั้งแรกที่ไทยวาโก้ ได้บอกเล่าความรู้เรื่องการเปลี่ยนบราให้เป็นพลังงานมาบอกต่อกัน

Advertisement

วรรณี ตันตระเศรษฐ ผู้จัดการโครงการ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางวาโก้ได้ร่วมมือกับสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ส่งเสริมบราสร้างอาชีพให้กับสตรีในบ้านพักฉุกเฉินมาอย่างต่อเนื่อง โดยเรารับบริจาคบราก่อนจะนำเอาส่วนที่สภาพดีไปบริจาคต่อ ขณะที่ตัวที่ไม่ใช้แล้วเราก็นำมาแยกส่วนเพื่อนำไปย่อยสลายอย่างมีคุณค่า ขณะที่ของเหลือจากขั้นตอนการผลิต เช่น ลูกไม้ต่างๆ ก็ได้นำเอาวัสดุส่วนนี้มาช่วยตัดเย็บต่างๆ เป็นชิ้นงานออกมาจำหน่าย ที่ผ่านมาสมาคม สามารถสร้างงานได้ถึง 37,000 ชิ้น สร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้หญิงเหล่านี้ได้มาก

“พร้อมกันนี้ด้วยรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ภาคเอกชนร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม เราจึงคิดที่จะทำโครงการบรารักษ์โลก นำบราไปย่อยสลายอย่างมีคุณค่าขึ้น เพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจก โดยเราริเริ่มมาแล้ว 3 ปี ขณะนี้มีผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเรารับบริจาคบราไปแล้ว 100,000 ตัว และตั้งเป้าว่ารวมปีนี้จะได้อย่างน้อย 150,000 ตัว”

ผลิตภัณฑ์จากบรา (1)
ผลิตภัณฑ์จากบรา

สำหรับขั้นตอนการเปลี่ยนบรา ให้เป็นพลังงานนั้น พงษ์สันต์ วงษ์เสริมหิรัญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์วิจัยพัฒนา และนวัตกรรม บมจ.ไทยวาโก้ อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า หากจะเอ่ยถึงบราลดโลกร้อน คงไม่ใช่เพียงแค่กระบวนการเปลี่ยนหลังจากเลิกใช้บรานั้นแล้ว แต่ต้องพูดไปถึงขั้นตอนการผลิตต่างๆ ด้วย เช่น ในทุกขั้นตอนต้องไม่ปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม วัตถุดิบ ต้องมาจากแหล่งที่ปลอดภัยจากสีและสารเคมี การผลิตก็ไม่เหลือสต๊อกไว้มากเพื่อช่วยประหยัดทรัพยากรด้วย ทั้งยังแนะนำให้ผู้ใช้ซักด้วยมือ ซึ่งใช้น้ำน้อย เป็นการประหยัดพลังงานด้วย

Advertisement

ด้วยบราหนึ่งตัว มีอายุในการใช้งานประมาณ 1 ปี หรือการซัก 60 ครั้ง มีส่วนประกอบที่ค่อนข้างหลากหลาย ในบราตัวหนึ่งหากนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบจะมีค่าปริมาณคาร์บอนที่ 0.2 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งอาจเป็นตัวเลขที่ไม่สูงแต่ผู้หญิงทั่วไปมีบราอยู่ไม่น้อยกว่า 10 ตัว รวมๆ กันย่อมเป็นปริมาณที่สูง และหากนำไปฝังกลบด้วยวัสดุที่เป็นโพลีเมอร์ใช้เวลาเป็นร้อยปีก็อาจจะไม่ย่อยสลาย เพื่อเป็นการลดขยะชุมชนเราจึงอยากให้นำมาบริจาคเพื่อรวบรวมเป็นประเภทเดียวกัน ซึ่งจะง่ายต่อการย่อยสลายมากกว่า” พงษ์สันต์เผย

Braday 17

พร้อมกล่าวต่ออีกว่า หากเป็นบราที่สภาพใช้งานไม่ได้แล้ว ก็จะนำมาย่อยเอาชิ้นส่วนเหล็กอย่าง โครง ตะขอ และห่วงปรับสายออก เพื่อนำไปหลอมใช้ใหม่เป็นการใช้ซ้ำ ก่อนจะนำเอาชิ้นส่วนที่เหลือที่ส่วนใหญ่ทำจากโพลีเมอร์

อย่างโพลีเอ็มอาร์ไอหรือไนลอน และโพลียูริเทน หรือสแปนเด็ก ประมาณ 80-90% ของชุดชั้นในนี้ส่งต่อให้บริษัทปูนนครหลวง นำเอาไปเผาในเตาเผาปิด 1,800 องศา ร่วมกับเนื้อปูน แทนน้ำมัน ถ่านหินที่เคยใช้อยู่ โพลีเมอร์เหล่านี้เรียกว่าเป็นพลังงานเชื้อเพลงชั้นดี ให้ความร้อนสูง เปลวไฟจะเป็นสีน้ำเงิน หรือเขียว สลายไปกับปูน ไม่เหลือสารเคมีทิ้งไว้

ตั้งแต่ได้ริเริ่มโครงการมานั้น ชุดชั้นใน 1 แสนตัว เทียบแล้วได้ขยะเท่ากับ 10 ตัน หากปล่อยออกไปก็จะเกิดก๊าซเรือนกระจกที่ 20 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงทดแทนการใช้ถ่านหินได้ถึง 13.6 ล้านตัน หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 254 ต้น ที่ช่วยดูดคาร์บอนไดออกไซด์คืน เป็นการช่วยลดโลกร้อนอย่างยั่งยืน

โดยผู้สนใจสามารถร่วมบริจาคบราเสื่อมสภาพยี่ห้อใดก็ได้ที่เคาน์เตอร์วาโก้ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้-31 พฤษภาคมนี้ และทุกๆ การบริจาคบรา 1 ตัว จะได้บัตรแทนเงินสด 200 บาททันทีเพื่อแทนคำขอบคุณ

บรารักษ์โลก

ผลิตภัณฑ์จากบรา (2)
ผลิตภัณฑ์จากบรา
พงษ์สันต์ (ซ้าย)
พงษ์สันต์ วงษ์เสริมหิรัญ (ซ้าย) และผู้บริหาร
เหล่าเซเลบริตี้ที่มาร่วมงาน
เหล่าเซเลบริตี้ร่วมบริจาคบราที่ไม่ใช้แล้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image