ข้อมูลจาก”จูโน” พลิกโฉม”ดาวพฤหัสฯ”

NASA

สก็อต โบลตัน นักดาราศาสตร์ประจำสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ ในเมืองซานอันโตนิโอ รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการสำรวจดาวพฤหัสบดีด้วยยานจูโน ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ยอมรับว่า ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่จูโนส่งกลับมายังโลกและอยู่ระหว่างการตรวจวิเคราะห์นั้น ล้วนเป็นข้อมูลแปลกใหม่และเกินความคาดหมายของนักวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้จำเป็นต้องมีการทบทวนแนวคิดและองค์ความรู้เดิมที่เกี่ยวกับดาวเคราะห์ดวงนี้ใหม่ทั้งหมด

โครงการจูโนเป็นโครงการส่งยานอวกาศขึ้นไปโคจรรอบดาวพฤหัสบดีเป็นลำที่ 2 ต่อจากยานกาลิเลโอก่อนหน้านี้ จูโนออกเดินทางจากโลกเมื่อปี 2011 เดินทางถึงดาวเคราะห์เป้าหมายเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา และเริ่มจัดส่งข้อมูลดิบกลับมายังโลกครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หลังการเดินทางยาวนาน 5 ปี

จูโนโคจรรอบดาวพฤหัสบดีเป็นวงกว้างในวงโคจรที่เรียกว่าวงโคจรขั้วโลก โดยจะสลับตำแหน่งอยู่เหนือขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาวในทุกๆ 53 วัน ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวก็จะโฉบลงสำรวจพื้นผิวดาวส่วนที่เหลือทั้งหมดในระยะประชิดเป็นครั้งคราว การโฉบลงใกล้พื้นผิวดังกล่าวใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง แต่จะสามารถเก็บข้อมูลคิดเป็นปริมาณข้อมูลถึง 6 เมกะไบต์ต่อครั้ง ซึ่งกว่าจะส่งกลับมายังศูนย์ควบคุมบนโลกได้ต้องใช้เวลานานถึง 1.5 วัน

ข้อมูลของจูโนแสดงให้เห็นว่าบริเวณขั้วของดาวเต็มไปด้วยพายุอัดแน่นกันอยู่เป็นจำนวนมาก พายุแต่ละลูกมีขนาดโตพอๆ กับโลก นอกจากนั้น ยังให้ข้อมูลด้วยว่า แถบสีของดาวพฤหัสบดีที่เห็นได้ทั้งด้านบนและด้านล่างของเส้นศูนย์สูตร ซึ่งบางครั้งเรียกกันว่า “คลาสสิก เบลต์” นั้น ไม่ได้เป็นแถบที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างของพื้นผิวดาวอย่างที่นักดาราศาสตร์คาดกันไว้ในตอนแรก เนื่องจากจูโนแสดงให้เห็นว่าบางส่วนของแถบดังกล่าวยืดยาวลึกลงไปในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้ ในขณะที่อีกบางส่วนขยับเคลื่อนไปมาและเปลี่ยนแปลงอยู่เรี่ยๆ เหนือพื้นผิวดาวเท่านั้น

Advertisement

นอกจากนั้น จูโนยังส่งข้อมูลเกี่ยวกับสนามแม่เหล็กของดาวพฤหัสบดี ซึ่งเดิมรู้กันว่าเป็นสนามแม่เหล็กที่มีพลังสูงที่สุดในระบบสุริยะ แต่เชื่อกันว่ามีลักษณะขั้วเหนือ-ใต้ชัดเจนคล้ายกับสนามแม่เหล็กโลก แต่กลับเป็นว่า นอกจากสนามแม่เหล็กของดาวพฤหัสบดีมีพลังรุนแรงกว่าที่นักวิจัยส่วนใหญ่คาดกันไว้แล้วเท่านั้น ยังมีลักษณะผิดปกติอย่างมากคือมีสภาพเป็นกลุ่มก้อน ในบางพื้นที่ก้อนพลังสนามแม่เหล็กดังกล่าวมีพลังแรงกว่าพลังสนามแม่เหล็กโลกถึง 10 เท่าอีกต่างหาก ดังนั้น แม้ว่าบนดาวพฤหัสบดีจะเกิดปรากฏการณ์แสงออโรราเหมือนกับที่เกิดขึ้นบนโลกเช่นกัน แต่แสงออโรราของดาวพฤหัสบดียังแตกต่างจากของโลกมากอีกด้วย

ยานจูโนถูกกำหนดให้โฉบลงสำรวจ “จุดแดงใหญ่” ที่เป็นสัญลักษณ์ของดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นลำดับต่อไปในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้

และอาจได้ข้อมูลชวนอัศจรรย์ใจมาให้มนุษย์ได้รับรู้กันอีกครั้งก็เป็นได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image