ไปดาวอังคารภายใน 3 วัน ‘นาซา’ยันทำได้จริง!

ด้วยเทคโนโลยีที่เรามีอยู่ในเวลานี้ การเดินทางเพื่อไปสำรวจดาวอังคารในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดและกระบวนการทุกอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด จำเป็นต้องใช้เวลาเดินทาง 5 เดือน อย่างไรก็ตาม ทีมวิศวกรขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) เชื่อว่าพวกเขาสามารถแก้ปัญหาเรื่องการเดินทางสำรวจอวกาศลงได้แล้ว โดยสามารถใช้เวลาเพียง 2-3 วันในการส่งยานจากโลกไปถึงดาวอังคาร ซึ่งทำให้การสำรวจอวกาศห้วงลึก หรือการท่องอวกาศไปในระหว่างระบบดาว ที่เรียกว่า “อินเตอร์สเตลลาร์” มีความเป็นไปได้ขึ้นมาด้วยเช่นเดียวกัน

“ฟิลิป ลูบิน” นักวิทยาศาสตร์ประจำนาซา และเป็นศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ประจำกลุ่มทดลองทางจักรวาลวิทยาของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตาบาร์บารา นำเสนอระบบขับเคลื่อนซึ่งทำให้การเดินทางดังกล่าวเป็นไปได้ไว้ในคลิปวิดีโอขนาดยาวของนาซาเมื่อเร็วๆ นี้ เสนอแนวความคิด “ระบบขับเคลื่อนด้วยลำแสง” หรือ “โฟโตนิค โพรพัลชั่น” ที่ในทางทฤษฎีแล้วสามารถส่งยานสำรวจหุ่นยนต์ไปยังดาวอังคารได้ภายใน 3 วัน ที่มีหลักการง่ายๆ คือการใช้ลำแสงเลเซอร์ผลักดันยานอวกาศให้เคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วสูงนั่นเอง

“โฟโตนิค โพรพัลชั่น” เป็นระบบในเชิงทฤษฎีที่ยังไม่มีการทดลองใช้งานจริง อิงอยู่กับความเป็นจริงทางด้านฟิสิกส์ที่ว่า อนุภาคของแสงสามารถขับเคลื่อนวัตถุไปในห้วงอวกาศได้ ถึงแม้ว่าอนุภาคของแสงเหล่านั้นจะไม่มีมวลก็ตามที แต่มีพลังงานและแรงผลักหรือโมเมนตัม ซึ่งเมื่อสะท้อนออกจากวัตถุใดๆ จะถูกถ่ายโอนให้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนวัตถุดังกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน ลูบินบอกว่า ถ้าหากเรามีลำแสงเลเซอร์ที่สามารถสร้างแรงโมเมนตัมได้ในปริมาณที่มากเพียงพอต่อการทำให้ยานสำรวจอวกาศมีอัตราเร่งได้ เราก็สามารถสร้างสถานีเลเซอร์บนผิวโลกแล้วยิงลำแสงดังกล่าวเพื่อส่งยานสำรวจอวกาศไปในทิศทางที่ต้องการได้

ศาสตราจารย์ลูบินระบุว่า ด้วยวิธีการเช่นนี้สามารถส่งยานอวกาศหุ่นยนต์ที่มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม ผ่านห้วงอวกาศไปยังดาวอังคารได้ภายในเวลา 3 วัน แต่ถ้าหากเป็นยานอวกาศที่มีมนุษย์อยู่ภายใน ระยะเวลาดังกล่าวก็จำเป็นต้องเพิ่มขึ้น แต่ยังคงสามารถไปถึงดาวอังคารได้ภายในเวลาเพียงเดือนเดียวเท่านั้น ผลประโยชน์ต่อเนื่องจากการใช้ระบบนี้ก็คือ ไม่จำเป็นต้องมีเชื้อเพลิงปริมาณมากติดตั้งไปกับยาน ทำให้ตัวยานเบาลง และราคาต้นทุนการสร้างถูกลงกว่าเดิมมากด้วย

Advertisement

ในความเห็นของลูบิน ระบบขับเคลื่อนด้วยลำแสง สามารถสร้างอัตราเร่งหรือความเร็วให้กับยานอวกาศได้ใกล้เคียงกับความเร็วในการเดินทางของแสง หรือที่เรียกว่า “รีเลติวิสติก สปีด” ในกรณีของยานที่เดินทางไปถึงดาวอังคารได้ภายใน 3 วัน ความเร็วของยานจะเทียบได้กับ 30 เปอร์เซ็นต์ของความเร็วของแสงในการเดินทาง ศาสตราจารย์ลูบินตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ระบบขับเคลื่อนดังกล่าวจะทำงานได้ดีที่สุดถ้าหากตัวยานหุ่นยนต์ดังกล่าว “บางเหมือนแผ่นเวเฟอร์”

หากทฤษฎีของศาสตราจารย์ลูบินเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ ก็จะขยายขอบเขตในการสำรวจอวกาศของมนุษย์ให้กว้างไกลออกไปมากคิดเป็นรัศมี 25 ปีแสงโดยประมาณ ซึ่งมีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (เอ็กโซแพลเนท) อยู่เป็นจำนวนมาก

ที่ใกล้ที่สุดคือ ระบบดาวอัลฟา เซนทอรี ที่อยู่ห่างออกไป 4 ปีแสง ซึ่งจะเดินทางด้วยระบบเก่าต้องใช้เวลา 20 ปีนั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image