สืบสานเพลงพระราชนิพนธ์ “นิว ออร์ลีนส์ แจ๊ซ” ดนตรีทรงโปรด

เพื่อถ่ายทอดบทเพลงสไตล์ นิว ออร์ลีนส์ แจ๊ซ ซึ่งเป็นแนวดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงโปรดที่สุด ให้ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสสัมผัสกับแนวดนตรีแห่งความคิดถึง เพื่อร่วมน้อมรำลึกถึงการจากไปของพระองค์

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย และมูลนิธิคีตรัตน์ ร่วมกันจัดคอนเสิร์ตแห่งความทรงจำ “New Orleans Jazz ดนตรีทรงโปรด” ณ โรงละครสยามพิฆเนศ สยามสแควร์ วัน โดยได้วงดนตรี นิว ออร์ลีนส์ แจ๊ซ ออลสตาร์ (NOJAS) วงดนตรีแจ๊ซระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ที่เคยแสดงถวายต่อหน้าพระพักตร์ มาแสดงร่วมกับ รศ.ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ รองประธานมูลนิธิคีตรัตน์ ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ที่เคยถวายงานทางด้านดนตรีต่อพระองค์ท่านมากว่า 30 ปี

รศ.ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ นักดนตรี นักประพันธ์เพลง และนักวิชาการดนตรี รองประธานมูลนิธิคีตรัตน์ กล่าวว่า การจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสสัมผัสกับบทเพลงอันไพเราะ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และได้รับรู้ถึงแนวดนตรีที่มีความสนุกสนาน ดังที่พระองค์ทรงโปรด ด้วยการแสดงโดยวงดนตรีต้นฉบับจากเมืองนิวออร์ลีนส์แท้ๆ ซึ่งเป็นวงดนตรีที่ทรงคุ้นเคย พร้อมกันนั้น ยังเป็นการรักษาและสืบสานความงดงามของบทเพลงพระราชนิพนธ์ เพื่อแสดงถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของพระองค์ให้คงอยู่สืบไป

Advertisement

“นิว ออร์ลีนส์ แจ๊ซ ก็คือดนตรีของชาวบ้าน ที่มาเล่นกันเพื่อความผ่อนคลาย รูปแบบของดนตรีมีความสนุกสนาน เป็นกันเอง และด้วยคุณลักษณะเหล่านี้ ทำให้ผมอยากแบ่งปันความรู้สึกดีๆ ให้กับทุกท่าน เพื่อร่วมกันรำลึกถึงพระองค์ผ่านเสียงเพลง ผ่านการแสดงจากวงนิว ออร์ลีนส์ แจ๊ซ ออลสตาร์ วงที่เคยถวายการแสดงดนตรีเฉพาะพระพักตร์เป็นวงสุดท้าย ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน เมื่อปี พ.ศ.2556 และยังมีความศรัทธาชื่นชมต่อพระองค์ว่าทรงเป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งพวกเขาตั้งใจอย่างมากที่จะมารำลึกถึงพระองค์ในครั้งนี้ร่วมกันกับเราด้วย” รศ.ดร.ภาธรกล่าว

รศ.ดร.ภาธร

สำหรับแนวทางในการสืบสานเพลงพระราชนิพนธ์ผ่านมูลนิธิคีตรัตน์นั้น รศ.ดร.ภาธรกล่าวว่า เมื่อ 10 ปีก่อน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริ ทรงเกรงว่าเพลงที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นนั้น จะได้รับการถ่ายทอดออกไปแบบไม่ถูกต้อง ณ เวลานั้นจึงได้มีการรับสั่งให้สังคายนาเพลงทั้งหมดขึ้นใหม่ โดยใช้เวลาในการรวบรวมและปรับปรุงกว่า 5 ปี จึงแล้วเสร็จ ดังนั้น มูลนิธิคีตรัตน์จึงมีความมุ่งหวังที่จะนำดนตรีและโน้ตเพลงที่ได้รับการตรวจสอบจากพระองค์แล้ว มาเป็นต้นแบบในการส่งต่อถึงคนรุ่นใหม่สืบต่อไป

“ในตอนนั้น พระองค์รับสั่งให้ผมทำโน้ตเพลง และพระองค์ทรงเป็นผู้ตรวจสอบ ทรงแก้ไขด้วยพระองค์เอง ผมจึงตั้งใจเอาไว้ว่า การสังคายนาครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบที่ดีและถูกต้องจริงๆ ในการที่จะนำไปเผยแพร่ รักษา สืบทอด ให้คนรุ่นต่อไปในภายภาคหน้า รวมทั้งยังได้รักษาพระราชเจตนารมณ์ของพระองค์ทางด้านดนตรีแจ๊ซด้วย ซึ่งทางมูลนิธิคีตรัตน์ก็จะจัดกิจกรรมแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่พระองค์ท่านทรงโปรด และได้รำลึกถึงพระองค์ท่านตลอดไป” รศ.ดร.ภาธรกล่าว

น้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image