ลงพื้นที่เกาะติด “เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด” สวัสดิการสังคมที่ผลลัพธ์ “ไม่เด็ก”

เกาะติดสวัสดิการสังคมใหม่แกะกล่องกับ “โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด” ดำเนินเข้าสู่เดือนที่ 6

เพื่อให้เห็นว่าประชาชนได้รับประโยชน์เพียงใด องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จึงร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผู้หญิงตั้งครรภ์ลงทะเบียนร่วมโครงการกว่า 3,000 คน อยู่ลำดับที่ 2 ของประเทศรองจากจังหวัดปัตตานี

ขณะเดียวกันบุรีรัมย์ยังติดลำดับจังหวัดที่มีคนยากจนสูงลำดับต้นๆ ของประเทศ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.)

จุดแรกยูนิเซฟเดินทางไปยัง ต.สูงเนิน อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ เยี่ยม “น้องเพลง” วัย 4 เดือน ที่ได้รับสิทธิ ซึ่งน่าสนใจไม่น้อยเพราะเด็กชายดังกล่าวร่างกายอ่อนแอ ลำพังเงิน 400 บาทต่อเดือน ก็แทบไม่พอค่ารถพาไปโรงพยาบาล

Advertisement
(บน) ครอบครัวน้องแต้ม (ล่าง) พ่อแม่ลูกครอบครัวสัตตารมย์
(บน) ครอบครัวน้องแต้ม (ล่าง) พ่อแม่ลูกครอบครัวสัตตารมย์

นางอภิญญา สัตตารัมย์ อายุ 27 ปี มารดาน้องเพลง เล่าว่า น้องเพลงสำลักน้ำคร่ำตั้งแต่เกิด ทำให้ไม่สามารถดูดนมแม่ได้ หมอจึงใส่สายยางจากปากลากลงถึงกระเพาะอาหารตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำนม หลายครั้งน้องเพลงใช้มือปัดทำให้สายยางหลุด ซึ่งเดือนๆ หนึ่งสายยางจะหลุดเฉลี่ย 3-4 ครั้ง แม่กับพ่อก็ต้องเหมารถเที่ยวละ 300 บาท พาน้องไปโรงพยาบาลในเมืองระยะทาง 40 กิโลเมตร เพื่อให้หมอใส่สายยางใหม่

ทั้งนี้ เนื่องจากตนไม่มีน้ำนม ทำให้น้องเพลงต้องกินนมผง ยิ่งเมื่อรวมกับค่าแพมเพิร์ส และค่าเดินทางไปหาหมอ เดือนหนึ่งๆ มีค่าใช้จ่ายไปกับน้องเพลงเกือบ 5,000 บาท ขณะที่ครอบครัวดิฉันมีสามีทำงานเพียงคนเดียว รายได้ 2,000-3,000 บาทต่อเดือน ส่วนดิฉันต้องลาออกมาดูแลน้องเพลง แต่ได้เบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท และพ่อแม่ของสามีทำงานรับจ้างทั่วไปบ้าง ทั้งหมดเพื่อเอามาดูแล 6 ชีวิตในครอบครัว รวมถึงลูกสาวคนโตของดิฉันอายุ 8 ขวบ ตอนนี้เรากู้หนี้ยืมสินมามากมาย

“ตอนที่น้องเพลงเกิดหมอบอกให้เราทำใจ แต่ดิฉันก็ยังมีความหวัง เมื่อเขาเกิดมาเป็นลูกเราแล้ว ต้องดูแลกันต่อไป ที่ผ่านมาสมัครแพคเกจอินเตอร์เน็ตรายวันมือถือ พยายามเข้าไปค้นหาความรู้และเทคนิคการดูแลลูก เพราะอยากให้น้องเพลงหายและได้เรียนสูงๆ ขอบคุณรัฐที่ให้เงิน 400 บาท หากไม่มีเงินตรงนี้เราจะลำบากกว่านี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเงินจำนวนเท่านี้ยังไม่เพียงพอ ก็อยากให้ปรับเพิ่มเงินและเพิ่มช่วงอายุให้มากกว่าปัจจุบัน ขณะเดียวกันรู้สึกดีใจหากรัฐจะมีบริการส่งเอสเอ็มเอสเกี่ยวกับความรู้และเทคนิคการเลี้ยงเด็กตามช่วงวัยฟรี” นางอภิญญาเล่า

Advertisement
สำรอง มาแสวง
สำรอง มาแสวง

จากนั้น คณะยูนิเซฟพาไป ต.เมืองแก อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ พูดคุยกับ นางสาวขวัญฤดี ขวัญทอง อายุ 19 ปี มารดา น้องพนา อายุ 5 เดือน เล่าว่า ดิฉันให้น้องพนากินนมแม่อย่างเดียวมาตั้งแต่เกิด ฉะนั้น จะมีค่าใช้จ่ายอย่างเดียวคือค่าแพมเพิร์สใส่กลางคืน ทำให้เงิน 400 บาทต่อเดือนที่รัฐให้เพียงพอ และเหลือเก็บสะสมให้ลูกในอนาคต

“ยินดีหากรัฐจะเพิ่มเงินอุดหนุนและขยายช่วงอายุ เพื่อเก็บไว้ให้ลูกเรียนในอนาคต เพราะสามีมีอาชีพรับจ้างรายได้ไม่แน่นอน บางวันไม่มีใครจ้างก็ต้องไปจับปลา เก็บผักตามธรรมชาติมากินในครอบครัว” แม่ของน้องพนากล่าว

ในตำบลเดียวกันยังมีเด็กแฝดที่อยู่ในครอบครัวยากจน และเป็นครอบครัวแหว่งกลาง นางสำรอง มาแสวง อายุ 59 ปี ยายของน้องฐิติยา-ธิดารัตน์ เล่าว่า พ่อแม่ของน้องแยกทางกันตั้งแต่ตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน ทางแม่ก็เลี้ยงหลังคลอดมาได้ 3 เดือน แล้วออกไปหางานทำในเมืองหลวง ฝากลูกไว้กับตายายและป้าเลี้ยง ซึ่งยังดีว่าแม่เขาส่งเงินมาให้เดือนละ 3,000 บาท รวมเงินอุดหนุนเด็ก 2 คนอีก 800 บาท ซึ่งทุกเดือนป้าจะนั่งรถเข้าเมืองไปกดเงินและซื้อของใช้เด็กเข้ามา แต่ก็ยังไม่พอเพราะค่าใช้จ่ายจริงของเด็กแฝดที่ตกเดือนละ 6,000 บาท ทั้งค่านมผง ค่าแพมเพิร์ส ยังดีว่าตาอายุ 67 ปี ได้เบี้ยผู้สูงอายุ และพวกเรายังมีอาชีพทำนา แต่รายได้ก็ไม่แน่นอน

“ขอบคุณรัฐที่ดำเนินโครงการดังกล่าว และหากเป็นไปได้อยากจะขอเพิ่มเงินและช่วงวัยอุดหนุน เพราะพวกเรายากจนและลำบากจริงๆ” นางสำรองกล่าว

จากการที่ยูนิเซฟลงพื้นที่ พบว่าหลายครอบครัวเผชิญปัญหายากจน ปัญหาครอบครัวแหว่งกลาง ทั้งที่ใจอยากจะเลี้ยงดูอุ้มชูเด็กแรกเกิดให้ดีที่สุด แม้เงิน 400 บาทต่อเดือน จะไม่รองรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ก็เป็น “บันไดขั้นแรก” ที่จะนำสิ่งดีดีให้ลูก อย่างครอบครัวน้องแต้ม ที่ตั้งใจแบ่งเงิน 200 บาท เก็บเป็นทุนการศึกษาให้ลูกในอนาคต ทั้งยังยืนยันในความคุ้มค่าของเงิน 400 บาท และยินดีหากรัฐจะเพิ่มเงินและช่วงวัยอุดหนุน

นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรม ดย. กล่าวว่า ดย.เตรียมเสนอขยายโครงการเงินอุดหนุนเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนมีนาคมนี้ 2 แนวทาง ได้แก่ เสนอให้ดำเนินโครงการต่อเนื่องพร้อมขยายช่วงอายุเด็กจากเดิม 0-1 ปี เป็น 0-3 ปี ทั้งในส่วนรายเก่าและรายใหม่ รายละ 400 บาท ใช้งบประมาณ 1,200 ล้านบาท และดำเนินโครงการต่อเนื่องตามข้างต้น แต่ให้รายละ 600 บาท ใช้งบประมาณ 1,300 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ก็มีความเป็นไปได้ที่ ครม.จะพิจารณาแนวทางที่ 2 เพราะก่อนหน้านี้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ซึ่งมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบดังกล่าวแล้ว เพียงแต่ให้หาข้อมูลประกอบการพิจารณาให้ ครม.เห็นว่าทำไมต้องปรับขึ้นเท่านั้น

นางนภากล่าวอีกว่า ในเดือนมีนาคมนี้เรายังมีบริการส่งข้อความเอสเอ็มเอสเกี่ยวกับการให้ความรู้การดูแลเด็กตามช่วงวัย ส่งให้ผู้ที่ได้รับสิทธิในโครงการฟรี โดย ดย.ร่วมกับยูนิเซฟ และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

โธมัส ดาวิน
โธมัส ดาวิน

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ยูนิเซฟชื่นชมรัฐบาลที่ดำเนินโครงการดังกล่าวได้รวดเร็ว เพียง 5 เดือน สามารถนำผู้หญิงตั้งครรภ์มาลงทะเบียนได้เกินร้อยละ 50 จากกลุ่มเป้าหมาย 128,000 คน เปรียบเทียบโครงการลักษณะนี้ในต่างประเทศต้องใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะสามารถเปิดให้ผู้หญิงตั้งครรภ์มาลงทะเบียน ยิ่งเมื่อทราบข่าวว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาขยายโครงการเป็นจ่าย 600 บาท เด็ก 0-3 ปี ตนรู้สึกดีใจ และหวังว่าจะขยายโครงการต่อไปเป็นจ่าย 600 บาท ให้กับเด็ก 0-6 ปี แบบถ้วนหน้าตามข้อเสนอของยูนิเซฟในอนาคตต่อไป

“โครงการนี้จะช่วยคนฐานะยากจนให้มีชีวิตที่ดีและมีความสุขได้ อาจยกสถานะสู่รายได้ปานกลาง และหลุดพ้นจากการพึ่งพารัฐได้ในที่สุด ขอชื่นชมรัฐบาลนอกจากให้ความสำคัญการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทางสังคม จะเห็นได้ว่าหากลงทุนช่วงวัยเริ่มแรกของชีวิต ซึ่งเป็นช่วงที่สมองพัฒนามากที่สุด จะมีผลต่อการไม่ออกเรียนกลางคัน ยกระดับผลการศึกษา ได้ทำงานที่มีรายได้ดี เกิดการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งส่งผลดีทั้งในแง่เศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต” นายโธมัสกล่าวทิ้งท้าย

สวัสดิการสังคมของเด็กแต่ผลลัพธ์ไม่เด็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image