ฝรั่งเศสเผยผลศึกษา โยง’ซิกา’กับโรคร้ายแรง’จีบีเอส’

AFP PHOTO / YAMIL LAGE

ทีมนักวิจัยชาวฝรั่งเศส เปิดเผยผลศึกษาชิ้นใหม่ผ่านวารสารวิชาการด้านการแพทย์ “แลนเซท” ที่แสดงให้เห็นว่า ไวรัสซิกาไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสตรีมีครรภ์ ทำให้ทารกในครรภ์มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะคลอดออกมาผิดปกติด้วยโรค ไมโครเซฟาลี เท่านั้น ยังมีหลักฐานแสดงความเชื่อมโยงว่า ไวรัสชนิดนี้สามารถก่อให้เกิดโรค “กิลแลง-บาร์เร ซินโดรม” (จีบีเอส) ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบประสาทที่พบไม่บ่อยนัก แต่มีความร้ายแรงถึงขนาดทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศส นำโดย นพ.อาร์โนด์ ฟองทาเนท์ จากสถาบันปาสเตอร์ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ศึกษาวิจัยการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาในพื้นที่ประเทศเฟรนช์โปลินีเซีย ประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิกที่เป็นเขตปกครองของฝรั่งเศส การระบาดดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างปี 2013-2014 พบว่า ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการแพร่ระบาดของไวรัสซิกานั้น สัดส่วนของผู้ป่วยเป็นโรคจีบีเอสในพื้นที่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นพ.ฟองทาเนท์ผู้เขียนรายงานการวิจัยเผยแพร่ระบุว่า ทีมวิจัยพบผู้ป่วยเป็นโรคจีบีเอสในพื้นที่ระบาดเพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 2.4 คนต่อจำนวนประชากร 10,000 คน ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มขึ้นสูงกว่าปริมาณที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีภายใต้สถานการณ์ปกติถึง 20 เท่าตัว นอกจากนั้น เมื่อตรวจวิเคราะห์ผู้ป่วยที่เกิดอาการในกลุ่มอาการจีบีเอสรวม 42 รายในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่าผู้ป่วยแต่ละรายมีประวัติเคยถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสซิกามาก่อน และ 93% ของจำนวนผู้ป่วยที่ตรวจวิเคราะห์ ติดเชื้อไวรัสซิกาภายในระยะเวลา 3 เดือนก่อนหน้าที่จะแสดงอาการป่วยเป็นโรคจีบีเอสออกมา

นพ.ฟองทาเนท์เปรียบความเชื่อมโยงระหว่างไวรัสซิกากับจีบีเอสในกรณีของการวิจัยในเฟรนช์โปลินีเซียว่า สามารถบอกได้ว่าอยู่ในระดับเดียวกันกับการเชื่อมโยงระหว่างบุหรี่กับมะเร็งปอดเลยทีเดียว

Advertisement

ในรายงานวิจัยระบุว่า แม้จะได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุด ผู้ป่วยจีบีเอสยังเสียชีวิตถึง 5% ในขณะที่ส่วนที่เหลือตกอยู่ในสภาพกล้ามเนื้อร่างกายอ่อนเปลี้ยรุนแรง เป็นเวลานานหลายสัปดาห์เรื่อยไปจนกระทั่งถึงหลายเดือน อย่างไรก็ตาม ในกรณีศึกษาผู้ป่วยจีบีเอส 42 รายที่ตาฮิติ ไม่มีผู้ใดเสียชีวิตและ 40% สามารถกลับมาเดินได้เป็นปกติหลังผ่านการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลนาน 3 เดือน

นายแพทย์ผู้นี้เตือนว่า ในพื้นที่แพร่ระบาดของไวรัสซิกาควรคำนึงถึงการเพิ่มศักยภาพของหน่วยอภิบาลผู้ป่วยหนัก (ไอซียู ยูนิต) เพราะผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งจะมีอาการป่วยจีบีเอสเกิดขึ้นตามมา และ 30% ของผู้ป่วยจีบีเอสจำเป็นต้องได้รับการดูแลในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก โดยเฉพาะมีความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจนั่นเอง

ทั้งนี้ กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร ซินโดรม เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากภาวะปลายประสาทอักเสบเฉียบพลันพร้อมกันหลายๆ เส้น ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการหลากหลาย ขึ้นอยู่กับจุดที่กล้ามเนื้อสูญเสียความสามารถไป โดยอาจส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือในกรณีรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

Advertisement

และสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image