โขนพระราชทานฯ โชว์ความพร้อมก่อนจัดแสดงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ 26 ต.ค.

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่โรงเรียนศิลปะธนบุรี โรงสร้างฉากโขนพระราชทาน คณะกรรมการจัดารแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดแถลงข่าวการแสดงโขนพระราชทาน ในวาระงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 26 ตุลาคม

โดยท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์ให้โขนพระราชทานฯ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งการแสดงเวทีมหรสพงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในส่วนของเวทีกลางแจ้งบริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือ จัดแสดงภายหลังการแสดงโขนของกรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จึงเป็นที่มาของงานแถลงข่าวครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของผู้ทำงานด้านต่างๆที่อยากแสดงออกถึงความจงรักภักดีอย่างสุดหัวใจ

นายประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้ออกแบบและจัดทำบท กล่าวว่า โขนพระราชทานครั้งนี้ ได้คัดเลือกตอนการแสดงแบ่งออกเป็น 3 ตอนใหญ่ ได้แก่ 1.รามาวตาร 2.นางสีดาหายและพระรามได้พล 3.ขับพิเภก ทั้งนี้ การแสดงทั้งหมดใช้เวลา 2 ชั่วโมง ภายใต้รูปแบบการแสดงโขนกึ่งฉาก ที่จะมีบางฉากประกอบท้องเรื่อง เนื่องจากการแสดงครั้งนี้เป็นการแสดงกลางแจ้ง ไม่สามารถจัดฉากประกอบเต็มรูปแบบได้ แต่ในฉากที่ไม่สามารถนำมาจัดแสดงได้จะใช้เทคนิคมัลติวิชั่นเข้าประกอบ ซึ่งยังรักษาจารีตประเพณีโบราณและให้ความสวยงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการแสดงโขนหลวง นอกจากนี้ยังปรับรูปแบบการแต่งกาย การร้อง รำ เพลง และดนตรีหน้าพาทย์โบราณชั้นสูง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากครูอาจารย์ที่เชี่ยวชาญมาช่วยกันทำให้ไพเราะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะต้องการจะสนองพระมหากรุณาธิคุณในหลวงร.9 เป็นครั้งสุดท้าย เช่นเดียวกับนักแสดงอีกกว่า 300 คน ที่เป็นระดับครูอาจารย์นาฏศิลป์ อดีตนักแสดงโขนพระราชทานในรอบ 10 ปี

“นอกจากความรื่นเริงสนุกสนานที่จะได้จากโขนพระราชทาน เรายังได้แฝงคุณธรรมต่างๆ อย่างความซื่อสัตย์ของพิเภก ที่แม้จะเป็นพี่น้องท้องเดียวกันกับทศกัณฐ์ แต่ถ้าทำไม่ถูกไม่ควร ก็ไม่เข้าข้าง หรือฉากที่ 2 ที่ยกทัพไปทำสงครามกับทศกัณฐ์ ก็แสดงให้เห็นถึงผู้รักษาความดีมาร่วมกันปราบความชั่วร้าย รวมถึงได้ฟังเพลงหน้าพาทย์โบราณชั้นสูงที่ไม่เคยปรากฏในการแสดงดนตรีไทยที่ไหนมาก่อน ซึ่งเป็นเพลงต้นฉบับของพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) อดีตเจ้ากรมโขนหลวง ในสมัยรัชกาลที่ 6 มาขับร้องในการแสดงครั้งนี้ ทั้งนี้ จะเริ่มทำการซ้อมระหว่างวันที่ 19-22 ตุลาคม ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ศาลายา จ.นครปฐม และซ้อมใหญ่ระหว่างวันที่ 22-23 ตุลาคม ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงต่อไป” นายประเมษฐ์กล่าว

Advertisement

 

การแสดงตัวอย่าง

Advertisement

 

นายสุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและจัดทำฉากโขน กล่าวว่า การแสดงโขนพระราชทานในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เรามีการเก็บฉากอย่างเป็นระบบที่โรงเก็บฉาก จ.พระนครศรีอยุธยา จึงนำฉากที่เคยจัดแสดงแล้วมาจัดแสดงในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพได้ไม่ยาก แต่บางฉากที่ไม่สามารถนำมาได้ ก็ใช้วิธีถ่ายภาพแล้วนำแสดงขึ้นจอ แล้วใช้เครื่องประกอบฉากมาจัดวาง ซึ่งให้คุณค่าและความสวยงามไม่แพ้ฉากจริง อย่างไรก็ตาม เราได้รับความไว้วางใจจากกรมศิลปากรให้จัดสิ่งประดับพระเมรุมาศ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว และจะเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ อาทิ บันไดหน้า ประติมากรรมรูปเทพ เทวดา ครุฑหน้า ยักษ์ ลิง ประดับรอบพระเมรุมาศ

นายวีระธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้จัดทำเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ กล่าวว่า ในส่วนเครื่องแต่งกายได้ร่วมกับช่างฝีมือจากศูนย์ศิลปาชีพ สีบัวทอง จ.อ่างทอง ศูนย์ศิลปาชีพสวนจิตรลดา และสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพอีกหลายแห่งรวม 76 คน ดำเนินการทอผ้ายกทอง และปักยก ผ้าขึ้นใหม่อีก 50 กว่าชุด อาทิ ชุดทศกัณฐ์ 5 ชุด ชุดพระราม 2 ชุด ชุดนาง 12 ชุด โดยเฉพาะชุดพระนารายณ์และพระอิศวรที่ไม่เคยจัดทำขึ้นมาก่อน ก็จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในการแสดงครั้งนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image