เปิดใจคนรางวัลสตรีสากล ปี’59 เป้าหมาย’การพัฒนาที่ยั่งยืน’

งานวันสตรีสากลประจำปี 2559 ปีนี้ ให้ความสำคัญกับประเด็น “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ค.ศ.2030 ตามที่ผู้นำไทยและอีก 132 ประเทศให้การรับรองในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายน 2558

ซึ่งใน 17 เป้าหมาย เป้าหมายที่ 5 ระบุถึงความเท่าเทียมระหว่างเพศ เป็นโอกาสไปเรียนรู้ร่วมกันผ่านการเสวนา “สตรีกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี

ไรรัตน์ รังสิตพลนางไรรัตน์ รังสิตพล ผู้ประสานงานโครงการประจำประเทศไทย องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ กล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า เป้าหมายนี้ต้องการบรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน เพื่อให้แน่ใจว่ามีการยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่อย่างถาวร อย่างไรก็ตาม ในโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติและมีการรับรองดังกล่าว ท่านยังได้ร่วมประชุมประเด็นเกี่ยวกับสตรีที่จัดโดยยูเอ็นวีแมน โดยท่านได้กล่าวในที่ประชุมว่าจะผลักดันการจัดทำงบประมาณที่ส่งเสริมความเสมอภาค จะสนับสนุนให้เกิดการเก็บข้อมูลแยกเพศ เพื่อประเมินผลและวางกรอบการพัฒนา และจะผลักดันหลักสูตรความเสมอภาคระหว่างเพศตั้งแต่วัยเยาว์ เพื่อสร้างเจตคติที่ดีทางเพศตั้งแต่วัยเริ่มต้น ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่ท่านใส่ใจประเด็นด้านสตรี

รศ.จุรี วิจิตรวาทการ

Advertisement

รศ.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงสตรีกับการศึกษาว่า งานวิจัยทั่วโลกระบุตรงกันว่า สภาพแวดล้อมในโรงเรียน ตั้งแต่หนังสือ ความคิด ทัศนคติทั้งเพื่อนนักเรียนและครู สิ่งแวดล้อม ล้วนกล่อมเกลาให้เกิดความเสมอภาคและไม่เสมอภาคระหว่างเพศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเรามีกระบวนการตอกย้ำ จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ ที่ทำให้เกิดทัศนคติว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำ เช่น การบอกว่าเป็นเด็กผู้หญิงต้องเรียบร้อย ไม่เล่นสกปรก ต้องเลือกสีชมพู แต่กับผู้ชายทำอะไรก็ได้ นี่เป็นการจำกัดทางเลือกในชีวิต รวมถึงเนื้อหาและภาพในตำราเรียน ที่บทบาทผู้ชายจะถูกสื่อสารผ่านผู้บริหารแต่งตัวดี แต่พอเป็นผู้หญิงจะถูกสื่อสารว่าเป็นพยาบาล หรือครู เรายังตอกย้ำทัศนคติเหล่านี้ผ่านกิจกรรมในโรงเรียน ไม่ว่าจะการเลือกผู้นำนักเรียน ตัวแทนนักกีฬา ก็ล้วนเป็นผู้ชายทั้งสิ้น ทั้งที่ผู้หญิงก็มีความสามารถเท่ากัน
“เหล่านี้เป็นอุปสรรคทำให้ผู้หญิงเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำยาก ฉะนั้น อยากเชิญชวนให้ทุกคนมาคิดร่วมกัน ทำอย่างไรที่จะปฏิรูปทั้งระบบ และมาเริ่มสอนให้มองเพศตรงข้ามด้วยความเท่าเทียม ปลูกฝังตั้งแต่วัยเริ่มแรกในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” รศ.จุรีกล่าว

การเสวนายังหยิบยกประเด็นผู้หญิงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกหลายมิติ โดยรวมเห็นว่าต้องมีกลไกส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาค ไม่ว่าจะภาครัฐที่จัดสรรงบประมาณให้คำนึงถึงผลกระทบทางเพศ การเปิดโอกาสให้ผู้หญิงก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำ ขณะที่ผู้ชายก็ควรเคารพและเข้าใจถึงความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อความสันติสุขและเท่าเทียม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพราะประชากรผู้หญิงมีสัดส่วนมากกว่าผู้ชาย

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณสตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรดีเด่น เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2559 จำนวน 18 สาขา รวม 40 รางวัล

Advertisement

รู)นำ


นางทิชา ณ นคร อายุ 64 ปี ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก บุคคลดีเด่นด้านการคุ้มครองสิทธิและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กล่าวว่า ตนไม่ได้ประสบความสำเร็จการทำงานประเด็นผู้หญิง แต่ตนคือต้นทุนความสำเร็จในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ เพราะงานพัฒนาผู้หญิงสู่ความยั่งยืนไม่อาจเสร็จได้ในช่วงอายุคนคนหนึ่ง มันถูกซ่อนในวัฒนธรรม เป็นเหมือนดีเอ็นเอทุกคนไปแล้ว เวลาจะเอาออกไปต้องอาศัยการเปลี่ยนผ่านของคนหลายช่วงอายุมาก อย่างเรื่องผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมือง ก็มีมุมมองว่าผู้หญิงควรอยู่บ้านเฝ้าเรือน ทั้งที่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว จริงๆ คนที่มองอย่างนี้ไม่ใช่ไม่ดี แต่เพราะมิติทางวัฒนธรรมมันกินความคิดไปลึกมาก

“คนรุ่นก่อนทำกันมา รุ่นเราก็ทำ รุ่นหลานเราก็ต้องทำกันต่อไป การส่งไม้ต่ออย่าไปมองความหมายว่ามันน่าเบื่อ มันไม่ประสบความสำเร็จ ต้องตีความใหม่ว่าเรื่องนี้ต้องการการเดินทางที่สม่ำเสมอ ต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด เป็นงานที่ไม่มีวันจบแต่ไม่ได้แปลว่าไม่สำเร็จ เพราะอีก 5-10 ปีข้างหน้าอาจมีมิติใหม่ๆ ที่เราต้องทบทวนแล้วเดินต่อกันใหม่ ฉะนั้น ต้นทุนต้องเริ่มสร้างตั้งแต่วันนี้ ความสำเร็จอาจเกิดใน 30 ปีข้างหน้า” นางทิชากล่าว

ทิชา ณ นคร (1)
ทิชา ณ นคร

นางสาวสโรชา กิตติสิริพันธุ์ บรรณาธิการฝึกหัด สำนักพิมพ์ผีเสื้อ ยุวสตรีพิการดีเด่น กล่าวว่า ทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง มีบางอย่างที่ตัวเองทำได้ดี เพียงแต่ว่าเขาจะรู้หรือไม่ และคนรอบข้างจะทำให้เขารู้สิ่งนั้นได้หรือไม่ แต่ละคนได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ต้องเป็นสังคมที่ดีขึ้น ก็อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ และเปิดโอกาสให้คนรอบข้างได้ทำในสิ่งที่ชอบและรัก สุดท้ายสังคมจะดีได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่ต้องการโอกาสมาก

สโรชา กิตติสิริพันธุ์ (1)
สโรชา กิตติสิริพันธุ์

นางนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้รางวัลนักธุรกิจสตรีดีเด่น กล่าวว่า ระยะหลังผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น อย่างในภาคธุรกิจมีผู้หญิงก้าวสู่แถวหน้าสัดส่วนเท่าเทียมกับผู้ชาย แต่ในแวดวงกีฬาอยากให้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงด้วย

“อย่างขณะนี้ที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างนักกีฬาผู้หญิงที่จะได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่านักกีฬาชาย รวมถึงแวดวงการเมืองที่ปัจจุบันผู้หญิงยังมีสัดส่วนน้อยกว่าผู้ชายมาก ทั้งที่ผู้หญิงก็สนใจเรื่องดังกล่าว ก็อยากให้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากขึ้น เพราะผู้หญิงก็มีจุดแข็งคือ ความอ่อนโยนและความละเอียดอ่อน”

นวลพรรณ ล่ำซำ
นวลพรรณ ล่ำซำ


ก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image