เปิดโลก ‘นักสะสม’ ศาสตร์-ศิลป์ ‘ช่างสยาม’

ด้วยเห็นถึงความสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมแห่งบรรพชนที่สะท้อนภูมิปัญญาทั้งศาสตร์และศิลป์เชิงช่างของสยาม ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จัดกิจกรรมเสวนา “หัตถกรรมของบรรพชน ของรัก ของหวง รักษาไว้ให้ถึงลูกหลาน” ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล

เวทีเสวนาเรื่อง หัตถกรรมของบรรพชน ของรัก ของหวง รักษาไว้ให้ถึงลูกหลาน ครูอุทัย เจียรศิริ (กลาง) กฤษณ์ โรจนเสนา (ลำดับสองจากขวามือ)

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เปรียบเสมือนการสืบต่อเส้นทางงานศิลปหัตถกรรมให้คงอยู่ เป็นแรงผลักดันให้เกิดความนิยมในกลุ่มผู้ริเริ่มสะสมผลงานหัตถกรรม และทำให้ผู้มีทักษะฝีมือเชิงช่างมีโอกาสได้เห็นฝีมือ เทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานของบรรพชน ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานและพัฒนาต่อยอดต่อไป

บรรยากาศภายในงานมีชิ้นงานศิลปหัตถกรรมของบรรพชนมาจัดแสดง ซึ่งบางชิ้นมีอายุเกินกว่า 200 ปี บางชิ้นเป็นงานชิ้นเอกที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน อาทิ เครื่องกระเบื้อง กริชโบราณ ผ้าทอ เครื่องถม เครื่องเงิน เป็นต้น

Advertisement
เครื่องแก้วเจียระไน ของ สมคิด เจริญธุระยนต์

ครูอุทัย เจียรศิริ ครูช่างศิลปหัตถกรรมงานเครื่องถม-คร่ำ เผยว่า ในยุคโบราณช่างถม-ช่างทองจะทำพวกของใช้ เช่น ที่กรวดน้ำ ใช้ในพิธีมงคล แต่ในปัจจุบันจะทำเครื่องประดับเป็นส่วนใหญ่เพราะสามารถขายได้ทั่วไป และตนยังเป็นครูสอนศิลปาชีพด้านเครื่องถมด้วย

“มีคนถามบ่อยๆ ว่างานเครื่องถมจะสูญหายไปจากประเทศไทยไหม ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่หายไป บางมหาวิทยาลัยก็มีหลักสูตรเพื่อสอนโดยเฉพาะ และมีเด็กให้ความสนใจไม่น้อย อาทิ เด็กผู้หญิงอยากเรียนเพื่อทำเครื่องประดับ เด็กผู้ชายอยากทำแหวน เป็นต้น” ครูอุทัยกล่าว

นอกจากนี้ ยังได้เชิญนักสะสมชื่อดังของเมืองไทยกว่า 10 คน มาร่วมเสวนาด้วย อาทิ กฤษณ์ โรจนะเสนา นักสะสมงานเครื่องเงิน-สลักดุนแบบราชสำนัก, ศักดิ์ชัย กาย นักสะสมซอที่แกะสลักจากกะลามะพร้าว, บุญชัย ทองเจริญบัวงาม นักสะสมเครื่องเงิน ผ้าทอ และจักสาน, พิพัฒน์พงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา นักสะสมเครื่องมุกโบราณ เป็นต้น

Advertisement
ซออู้แกะสลักจากกะลามะพร้าว ของ ศักดิ์ชัย กาย

กฤษณ์ โรจนะเสนา ให้คำแนะนำกับผู้ริเริ่มสะสมผลงานหัตถกรรมว่า การเลือกสะสมผลงานหัตถกรรมอาจจะเลือกสะสมตามความชอบ ความหลงใหล หรือประวัติของชิ้นงาน ไม่จำเป็นต้องเป็นของเก่าเท่านั้น สะสมของใหม่ก็ได้แต่ให้สะสมของดี ซึ่งถ้าอยากมีผลงานดีๆ ไว้สะสมก็ต้องขวนขวายเสียหน่อย เสาะหาศิลปินที่มีฝีมือแล้วก็ช่วยสนับสนุน เพราะถึงแม้ว่าผลงานชั้นครูสมัยก่อนมีเยอะแต่สมัยนี้น้อยลง จึงอยากให้สนับสนุนผลงานดีๆ ให้ได้เผยแพร่ออกไป

สืบสานศิลปหัตถกรรมให้คงอยู่

เครื่องถมทอง ของครูอุทัย เจียรศิริ ครูช่างศิลปหัตถกรรมงานเครื่องถม-คร่ำ
ภาพหมู่นักสะสมงานศิลปหัตถกรรมระดับประเทศ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image