‘ฮับเบิล’ทำสถิติใหม่ พบกาเเล็กซีไกลที่สุด

(ภาพ-NASA- ESA and P. Oesch-Yale University)

ศูนย์ข้อมูลฮับเบิลแห่งสำนักงานอวกาศยุโรป ในประเทศเยอรมนี แถลงเมื่อไม่นานมานี้ว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ประสบความสำเร็จในการตรวจพบกาเเล็กซีที่อยู่ห่างจากโลกมากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบกันมา โดยทีมนักดาราศาสตร์และนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่ค้นพบ กำหนดชื่อรหัสของกาแล็กซีใหม่นี้ว่า “จีเอ็น-แซด11” และเมื่อคำนวณระยะทางที่แสงจากกาแล็กซีดังกล่าวเดินทางมายังโลก ก็พบว่า กาแล็กซีที่ค้นพบใหม่นี้กำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 13,400 ล้านปีก่อน หรือเกิดขึ้นหลังจากเกิดปรากฏการณ์บิ๊กแบงที่เป็นต้นกำเนิดจักรวาลเพียง 400 ล้านปี หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ของอายุของจักรวาลในเวลานี้เท่านั้นเอง

ปาสคาล ออสช์ นักดาราคาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานหลักเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งกำหนดจะเผยแพร่ผ่าน “แอสโตรฟิสิคัล” วารสารวิชาการด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ต่อไป อธิบายว่า การวัดระยะทางจากวัตถุในจักรวาลที่อยู่ห่างมากๆ เช่นนี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับนักวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า จักรวาลนั้นแทบจะขยายตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้แม้การเดินทางของแสงจะคงที่ แต่ระยะห่างที่เปลี่ยนไปส่งผลให้ตำแหน่งของวัตถุเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย การคำนวณดังกล่าวซับซ้อนมากจนแทนที่นักดาราศาสตร์จะบอกระยะห่างของวัตถุในจักรวาลเป็นกิโลเมตรหรือไมล์ จะใช้วิธีบอกถึงจุดที่วัตถุดังกล่าวมีอยู่ในประวัติศาสตร์ของจักรวาลแทน

ในการกำหนดตำแหน่งของ “จีเอ็น-แซด11” นักดาราศาสตร์ใช้การคำนวณหาปริมาณการปรับเปลี่ยนของคลื่นแสงที่เดินทางมายังโลกเมื่อจักรวาลขยายตัวออก การขยายตัวดังกล่าวทำให้ “ความยาวคลื่น” ของแสงเพิ่มขึ้น (หรือขยับเข้าใกล้กลุ่มรังสีที่มองเห็นเป็นสีแดงมากขึ้น) ซึ่งเรียกว่า “เรดชิฟต์” ยิ่งเกิดเรดชิฟต์มากยิ่งแสดงให้เห็นถึงระยะห่างที่สูงมาก กาแล็กซีที่มีเรดชิฟต์มากที่สุดก่อนหน้าการค้นพบใหม่นี้คือ “อีจีเอสวาย8พี7” ซึ่งค่าเรดชิฟต์เท่ากับ 8.68 แต่ “จีเอ็น-แซด11” มีค่าเรดชิฟต์สูงถึง 11.1 ทีเดียว

ระยะห่างที่สูงมากดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แสงที่เราเห็นจาก “จีเอ็น-แซด11” นั้นเกิดขึ้นเมื่อนานมากแล้ว และถือว่าเป็น “ประชากร” ของจักรวาลในยุคแรกๆ ซึ่งเพิ่งก่อเกิดดาวฤกษ์และกาแล็กซีต่างๆ ขึ้นหลังจากยุคที่นักดาราศาสตร์เรียกว่า “ยุคมืด” ริชาร์ด บูเวนส์ จากมหาวิทยาลัยเลเดน ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้ร่วมเขียนรายงาน ระบุว่า กาแล็กซีที่ไกลที่สุดแต่เดิมนั้นอยู่ในช่วงกลางๆ ของประวัติศาสตร์จักรวาล เมื่อกาแล็กซีมีความร้อนสูงพอที่จะทำให้หมอกแก๊สไฮโดรเจนที่เย็นจัดร้อนขึ้นและกระจายตัวออก ปลดปล่อยแสงออกมาให้เราเห็น แต่ “จีเอ็น-แซด11” ที่พบใหม่ย้อนหลังออกไปอีก 150 ล้านปีก่อนหน้านั้น ซึ่งแทบจะเป็นยุคเริ่มต้นแห่งวิวัฒนาการของจักรวาลเลยทีเดียว

Advertisement

การ์ท อิลลิงเวิร์ธ ผู้ร่วมเขียนรายงานจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตาครูซ ชี้ว่าการค้นพบดังกล่าวน่าทึ่งอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อได้พบว่า กาแล็กซีใหม่นี้ขยายตัวเร็วมาก สร้างดาวฤกษ์จำนวนมากออกมาในอัตราความเร็วสูง เร็วกว่าการก่อรูปของดาวฤกษ์ในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราถึง 20 เท่า

ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดแสงสว่างจ้าจน ฮับเบิลและสปิตเซอร์ พบเห็นได้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image